12 มิถุนายน 2560 มีข่าวว่ากูเกิล (Google) และรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีแล้วเรียบร้อย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแดนอิเหนาออกมายืนยันว่าเป็นข้อตกลงเรื่องมูลค่าภาษีที่กูเกิลต้องจ่ายสำหรับปีภาษี 2559 แต่ยังอุบเงียบไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขว่ามีมูลค่ากี่ล้านเหรียญสหรัฐ
การยืนยันนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดหลังจากกูเกิลถูกสรรพากรอินโดนีเซียสอบสวนตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา ในข้อหาไม่ได้จ่ายภาษีแก่รัฐในอัตราที่มากพอ เมื่อเทียบกับรายได้โฆษณาดิจิทัลที่กูเกิลโกยไปจากแผ่นดินอินโดนีเซีย ทั้งหมดนี้สำนักงานกูเกิลในอินโดนีเซีย (Google Indonesia) ไม่มีแถลงการณ์ใด
ทำไมข่าวนี้จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ? คำตอบคืออินโดนีเซียเพิ่งมีนโยบายเก็บภาษีที่เข้มงวดยิ่งขึ้น หลังจากที่ 'ศรีมุลยานี อินดราวาตี' (Sri Mulyani Indrawati) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียเข้ารับตำแหน่งในปีที่แล้ว แน่นอนว่าเจ้าพ่อไอทีรายอื่นทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ซึ่งมีฐานผู้ใช้มหาศาลในอินโดนีเซีย ย่อมถูกวางเป้าหมายเป็นรายถัดไป
กรณีของกูเกิล มีความเป็นไปได้สูงที่การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมทุกคดีภาษีที่อินโดนีเซียสั่งสอบกูเกิล เนื่องจาก รมว. คลังอินโดนีเซียใช้คำว่าเป็นข้อตกลงเรื่องมูลค่าภาษีที่กูเกิลต้องจ่ายสำหรับปี 2559 เท่ากับไม่ได้รวมถึงคดีภาษีย้อนหลังที่อินโดนีเซียเคยประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าวางแผนเก็บให้ได้ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมค่าปรับแล้ว
ส่วนสำคัญของปัญหาทั้งหมด คือความซับซ้อนของโครงสร้างบริษัทกูเกิล ซึ่งทำให้ยากในการประเมินว่ารายได้ของบริษัทถูกสร้างบนแผนดินของประเทศใด ประเด็นนี้ทำให้กูเกิลถูกหลายประเทศสั่งสอบสวนในช่วงก่อนหน้านี้
เมื่อปีที่แล้ว กูเกิลเพิ่งยอมจ่ายเงิน 185 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อจบคดีภาษี ครั้งนั้นมีการให้ข้อมูลว่าเงินจำนวนนี้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 (รวมดอกเบี้ย) ซึ่งเป็นทางออกกรณีที่ในอดีต บริษัทข้ามชาติมักหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีโดยย้ายรายได้ของบริษัทไปลงบัญชีในประเทศที่มีภาษีที่ต่ำกว่า เบื้องต้นมีการระบุว่าการกระทำนี้ทำให้กูเกิลสามารถลดอัตราภาษีลงเหลือเพียง 3.8 ล้านปอนด์จากรายได้รวมในอังกฤษที่มากกว่า 2.05 หมื่นล้านปอนด์
จุดนี้ชัดเจนว่า อย่าคิดว่าหากบริษัทออนไลน์รายใหญ่มาตั้งสำนักงานในประเทศแล้วจะจบ เพราะบริษัทเหล่านี้มีโครงสร้างการดำเนินการที่ซับซ้อนกว่าที่เห็นมากนัก การตั้งสำนักงานเหล่านี้มักเกิดขึ้นเพื่อให้บริษัทมีภาพทีมงานขายและให้บริการกับลูกค้าที่น่าเชื่อถือเป็นหลักแหล่ง แต่เมื่อต้องมีการซื้อขายส่งเงินกัน ก็จะไปทำธุรกรรมกันที่ประเทศที่มีอัตราภาษีน้อยกว่า
กรณีของกูเกิลในภูมิภาคอาเซียน คือสิงคโปร์ ปัญหานี้ทำให้กระทรวงการคลังของอินโดนีเซียประกาศติดตามสอบสวนกูเกิลจริงจังตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเชื่อว่าอินโดนีเซียสามารถเก็บภาษีรายได้จากกูเกิลราว 4% ของรายได้จริงที่เกิดขึ้นจากการแสดงโฆษณาสู่สายตาคนอินโดนีเซียเท่านั้น เนื่องจากมูลค่าตลาดโฆษณาดิจิทัลของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มาก ประเมินไว้ที่ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ผู้ครองตลาดนี้คือกูเกิลและเฟซบุ๊ก (Facebook Inc) ที่คว้าเค้กไปได้มากกว่า 70% ของรายได้ทั้งหมด
***ไทยเพิ่งตื่น
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานหาแนวทางในการจัดเก็บภาษีของกูเกิลและเฟซบุ๊กในประเทศไทย ด้วยการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ โดยในระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ กสทช.จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ในภูมิภาคอาเซียน10 ประเทศ ซึ่งเป็นงานที่จัดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะหาแนวทางในการจัดเก็บภาษีของกูเกิล และเฟซบุ๊ก ด้วย เพราะผู้ให้บริการทั้ง 2 ใช้แบนด์วิธของโอเปอเรเตอร์ในการสร้างรายได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของแบนด์วิธ ตลอดจนไม่มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศที่ไปดำเนินธุรกิจอีกด้วย
'ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศประสบอยู่ จึงมั่นใจว่าหากได้แนวทางที่เหมือนกันทั้ง 10 ประเทศ ก็จะสามารถเก็บภาษีจากเฟซบุ๊กและกูเกิลได้อย่างแน่นอน ถ้าอินโดมีโมเดลที่เก็บได้ ก็ดีเลยจะได้มาคุยกัน'
ในขณะที่พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยืดอกพูดเต็มปากเต็มคำว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ไม่เกี่ยวกับดีอี
แต่ความแน่นอนอาจมีความไม่แน่นอน ที่ผ่านมา กูเกิลเคยชี้แจงกับอังกฤษว่าไม่มีพนักงาน รายใดในสำนักงานกูเกิลประเทศอังกฤษ ที่มีหน้าที่ 'ปิดการขายโฆษณา' เนื่องจากอำนาจในการปิดการขายนั้นอยู่ที่กูเกิลประเทศไอร์แลนด์เท่านั้น
พูดง่ายๆคือ ในเมื่อไม่มีใครใน 'กูเกิลประเทศอังกฤษ' ทำหน้าที่ปิดการขาย อังกฤษก็ไม่มีสิทธิ์เก็บภาษี แม้ว่าทีมงานกูเกิลประเทศอังกฤษจะมีส่วนในการเจรจาการขายก็ตาม
แน่นอนว่าพฤติกรรมนี้เข้าข่าย 'เจ้าเล่ห์-คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว-ไร้จรรยาบรรณ' ตามที่มาร์การ์เร็ต ฮ็อดจ์ (Margaret Hodge) ประธานส.ต.ง.อังกฤษวิจารณ์เจ็บแสบโดยยกคติบริษัท Don't be evil ของกูเกิล ขึ้นมาโจมตีตรงๆว่า 'I think that you do evil' อย่างไม่กลัวใคร
นอกจากกูเกิล เฟซบุ๊กและอีกหลายยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตที่มีรายได้จากต่างประเทศหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี ล้วนแทบจะไม่เสียภาษีเลย วิธีงดจ่ายภาษีลักษณะนี้ได้ผลจนไม่มีประเทศใดสามารถบีบให้บริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีได้ เช่นเดียวกับกรณีของกูเกิลประเทศไทย
'อริยะ พนมยงค์ ' อดีตหัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำประเทศไทยของ 'บริษัท Google ประเทศไทย จำกัด' (ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย) เคยให้สัมภาษณ์ช่วงปี 2556 ว่ากูเกิลประเทศไทยไม่มีการเตรียมทีมงานเพื่อดูแลการจ่ายเงินของธุรกิจแอดเซนส์ (Google Adsense) โดยกระบวนการทุกอย่างจะเป็นลักษณะเดิมเหมือนช่วงก่อนการตั้งกูเกิลประเทศไทย และการจ่ายเงินให้กับพันธมิตรที่ร่วมติดโฆษณาออนไลน์ของกูเกิล (Affiliate) จะยังดำเนินการจากต่างประเทศเช่นเดิม
ครั้งนั้นอริยะยืนยันว่า 'ไม่ว่าโครงสร้างGoogleไทยจะเป็นแบบไหน หากกฎหมายระบุว่าต้องจ่ายภาษีเราก็ต้องจ่าย เรายินดีปฏิบัติตามข้อบังคับของกฏหมายสรรพากรของทุกประเทศที่ตั้งสำนักงาน ขึ้นอยู่กับองค์กรรัฐเลย'
'กูเกิลไทยแลนด์' จะรับผิดชอบงาน 3 ส่วน คือ การตลาด ทีมขาย และฝ่ายปฏิบัติการ (operation) โดยจะมีทีมเซลที่เข้าถึงกลุ่มธุรกิจทุกขนาดทั้งใหญ่กลางเล็ก แต่ไม่มีอำนาจในการปิดการขายเช่นเดียวกับกูเกิลประเทศอังกฤษ
สรุปแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆที่ไม่สามารถกดดันให้กูเกิลเสียภาษีตามกฏหมาย
***ต้องรออีกกี่ปี?
ก่อนหน้านี้ ผู้จัดการไซเบอร์เคยสอบถามไปยังโฆษกกรมสรรพากรตั้งแต่ปี 2552 ถึงนโยบายการเก็บภาษีของบริษัทออนไลน์ต่างชาติที่ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย ปรากฏว่าหน้าห้องของท่านโฆษกได้แต่ผัดผ่อน ไม่ยอมตอบคำถามโดยระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล กระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือนจึงให้คำตอบว่า ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามได้
ผู้จัดการไซเบอร์จึงสอบถามไปยังสมาคมบัตรเครดิต ตัวแทนสมาคมระบุว่าไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตแก่กูเกิลของบริษัทเอกชนไทยได้ เนื่องจากฐานข้อมูลขั้นต้นไม่มีการจำแนกข้อมูลไว้
ในช่วงเวลานั้น อวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีอากร (Tax Partner) กลุ่มบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ผู้ให้คำปรึกษาด้านภาษีอากรสำหรับบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีบริษัทออนไลน์ข้ามชาติว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยต่างประเทศไม่ได้ใช้วิธีเก็บภาษีแต่ใช้วิธีส่งเสริมการเติบโตของภาพรวม
'ไม่ใช่กูเกิลเจ้าเดียว ธุรกิจออนไลน์ขยายตัวมาก สามารถทำธุรกิจข้ามประเทศได้แบบไร้พรมแดน ตรงนี้ในประเทศอื่นๆก็มีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย ใช้การส่งเมล แฟ็กซ์ และการโทรศัพท์โดยไม่มีการตั้งร้าน ทางออกคือสรรพากรต้องเข้าถึงระบบให้มากกว่านี้ ต้องดูว่ามีการขายยังไง จะได้ดูช่องทางการแก้กฏหมาย อาจจะร่วมมือกับแบงก์ชาติ เพื่อหามาตรการที่ไม่กระทบการเติบโต เชื่อว่าการเก็บภาษีเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือทำอย่างไรให้การแข่งขันกับต่างประเทศไม่เสียเปรียบ เราควรต้องวางแผนกลยุทธ์ของประเทศ ให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆให้เราแข่งขันกับคนอื่นได้ จะได้ดึงรายได้เข้ามาในประเทศ'
ครั้งนั้น อวยพร อธิบายว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะมีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อน หลักใหญ่ใจความของอนุสัญญาคือการหลีกเลี่ยงภาษีซ้ำซ้อนหากมีธุรกรรมใดๆเกิดขึ้น เช่น หากเก็บภาษีที่ต้นทางแล้วจะไม่มีการเก็บภาษีที่ปลายทางอีก อนุสัญญานี้ทำให้โอกาสการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์เป็นไปได้น้อยมาก
'อย่างกูเกิล อย่าลืมว่าเค้าก็เสียภาษีเหมือนกันที่สหรัฐฯ อาจจะเสียมากกว่าหากจะต้องเสียที่ประเทศไทยก็ได้ การเก็บภาษีมีข้อดีเพียงส่วนเดียว ทำได้ก็ดีแต่อาจจะมีปัญหาตามมา กฏหมายเราตอนนี้ทำได้บางอย่างเท่านั้น ควรหาทางพัฒนาการค้าเราให้ดีจะดีกว่า อีกอย่างคือทิศทางการเก็บภาษีกำลังกลายเป็นเรื่องรองในตลาดโลก เพราะตอนนี้มีแต่นโยบายที่ทำให้การเก็บภาษีอยู่ในอัตราต่ำที่สุด เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวม'
คำให้สัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2552 และรูปการณ์นี้ยังคงเดิมถึงปี 2560