xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงเอกชน! ดีลอยท์ชี้ทางรอดธุรกิจวันนี้ แนะวิธีประเมินการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล รองผู้อำนวยการ บริษัท ดีลอยท์  (ประเทศไทย) จำกัด
ดีลอยท์ห่วงภาคเอกชนแนะวิธีประเมินการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ชี้ตัวช่วยบริหารจัดการทางรอดธุรกิจวันนี้ พร้อมตั้งคำถามท้าทายว่า จริงหรือไม่ที่บริษัทกำหนดกลยุทธ์ แผนธุรกิจ และดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารพบส่วนใหญ่มีมุมมองตรงกันว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน การค้าระหว่างประเทศที่เซื่องซึม และการลดลงของราคาพลังงาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมยืนยันความไม่มั่นคงทางการเมืองของไทยเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในประเทศไทย

ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล รองผู้อำนวยการ และดร.วีระชัย วิวัฒน์ชาญกิจ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บทวิเคราะห์เศรษฐกิจล่าสุดที่นำเสนอโดยองค์กรชั้นนำหลายแห่งในช่วงต้นปี 2560 อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย สะท้อนว่า ภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวเพียงแต่สะท้อนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น แต่โดยรวมยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของหลายประเทศยังคงเปราะบาง มีความเสี่ยงหลายด้านรุมเร้า อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรปที่ภาคการเงินและการคลังยังคงเปราะบาง กอปรกับปัญหาผู้อพยพและก่อการร้าย ประเทศจีนซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัย หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลของนายโดนัล ทรัมป์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจซ้ำเติมให้เศรษฐกิจ การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ กลับเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและถดถอยได้ในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคการส่งออก ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมายาวนาน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศไทย การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงเซื่องซึม และความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตที่ชะลอตัวและตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถผ่านพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจสำคัญหลายครั้งในอดีต อาทิ วิกฤติการเงินเอเชียปี 2540 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ปี 2551 แต่เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้ผู้นำในองค์กรภาคธุรกิจตระหนักถึงความเสี่ยง ผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากขาดการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่ดี

ดีลอยท์ตระหนักว่า ผู้ประกอบการธุรกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยใช้เครื่องมือทางการบริหารหลายประเภทเข้ามาช่วย เช่น การควบคุมต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน การจัดทำแบบจำลองทางการเงินและการดำเนินงานให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ การใช้กลยุทธ์ควบรวมและเข้าครอบครองกิจการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การให้บริการลูกค้าที่เผชิญปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดีลอยท์เสนอแนะให้ผู้บริหารประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นเป็นแบบไม่รุนแรง ปานกลาง หรือรุนแรงมาก และควรพยากรณ์ระยะเวลาที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวและกลับไปเจริญเติบโตตามปกติ แล้วจึงกำหนดทิศทางองค์กร กลยุทธ์องค์กร และแผนธุรกิจ ภายใต้ข้อสมมุติที่ครอบคลุมทุกเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต จากนั้นผู้บริหารควรระบุและดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

เปิดผลสำรวจผู้บริหาร

เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์ แผนธุรกิจ และการดำเนินกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดีลอยท์ (ประเทศไทย) ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ ในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2559 โดยมีผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 100 ราย เป็นผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม และจากผลการสำรวจ พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้บริหาร มองว่าเศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตที่ชะลอตัวแบบปานกลาง และร้อยละ 50 ของผู้บริหาร ประเมินการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยว่าไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผู้บริหารร้อยละ 55 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมามีอัตราการเจริญเติบตามปกติได้ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 3 ปี
ดร.วีระชัย วิวัฒน์ชาญกิจ ที่ปรึกษาอาวุโส  บริษัท ดีลอยท์  (ประเทศไทย) จำกัด
ในทำนองเดียวกัน ผลการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารพิจารณาการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน การค้าระหว่างประเทศที่เซื่องซึม และการลดลงของราคาพลังงาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการสำรวจในประเด็นนี้สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกและประเทศจีนคือประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ ของไทย นอกจากนี้ ผู้บริหารส่วนใหญ่มีมุมมองตรงกันว่า ความไม่มั่นคงทางการเมืองของไทยเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 60 ของผู้บริหารมองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจของบริษัท และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นที่น่าพอใจ

สำหรับประเด็นเรื่องการเลือกใช้กลยุทธ์ ผู้บริหารส่วนใหญ่ระบุว่า การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีประสิทธิภาพ การเน้นลูกค้าและการลงทุนที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในอุตสาหกรรม เป็น 3 กลยุทธ์หลัก ที่บริษัทได้ดำเนินการในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัว ซึ่งช่วยทำให้บริษัทสามารถประหยัดงบประมาณ และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจได้สะท้อนว่า การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในหลายมิติ และการเข้าครอบครองกิจการอื่นๆ ไม่ได้เป็นกลยุทธ์หลักที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

ผลการสำรวจที่น่าใจอีกอย่างหนึ่งคือ การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้ว่าระดับความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะแตกต่างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บริษัทส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงระดับความรุนแรงและระยะเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ ผลการสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของทั้งบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงสถิติ ทั้งนี้ ดีลอยท์ มองว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ กำลังตั้งคำถามที่ท้าทายว่า จริงหรือไม่ที่บริษัทกำหนดกลยุทธ์ แผนธุรกิจ และดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

กล่าวโดยสรุป ผู้บริหารที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้เห็นตรงกันว่าบริษัทของตนดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในระดับปานกลาง และมองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจของบริษัท ในส่วนนี้ ผู้บริหารระดับสูงต้องตระหนักและประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่มีต่อการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทในมิติต่างๆ เพื่อลดและควบคุมผลกระทบดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในอนาคตได้อย่างสอดคล้องกับระดับความรุนแรงที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโตตามปกติ บริษัทที่มีการเตรียมความพร้อมดีและเรียนรู้จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะมีโอกาสพลิกกลับมาเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น