“ผกก.” วานร น้ำตาคลอ เผยเข้าฉายได้แค่ 2 วันโดนโรงหนังลดรอบจนเจ๊ง 30 ล้าน ลั่นไม่คิดว่าจะโดนบีบคั้นขนาดนี้ เตรียมเร่ฉายเป็นหนังกลางแปลง ล้อมผ้าเก็บตังค์ และจัดโชว์สตั้นท์แมนหาเงินเลี้ยงลูกน้องและหาทุนคืน ไม่อยากเรียกร้องอะไร อยากขอแค่รอบหนังฉายอย่างเต็มวันเพื่อได้พิสูจน์ตัวเอง
โศกนาฏกรรมหนังไทยเลยทีเดียว เมื่อ “กุ้ง นนทกร ทวีสุข” ผู้กำกับ และผู้สร้างหนังวานรคู่ฟัดออกมาเปิดใจถึงหนังที่พึ่งจะเข้าฉายไปเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เข้าฉายได้เพียงแค่ 2 วันก็ถูกโรงหนังลดรอบฉาย แถมบางรอบที่ฉายก็เป็นรอบเที่ยง รอบดึกๆ 5 ทุ่ม ซึ่งเป็นรอบที่ภาษาหนังเรียกว่า ผีตากผ้าอ้อม เพราะว้าเหว่ไม่มีคนดู ซึ่งโดยปกติรอบดังกล่าวมักจะเป็นรอบของหนังที่เข้าฉายมาพักนึงแล้วไม่ใช่หนังชนโรง
แถมในบางโรงที่ได้มานั้นก็ยังถูกหนังต่างประเทศมาแทรกฉาย และได้รอบฉายที่ดีกว่าหนังวานรคู่ฟัด หนังเข้าฉายไป 2 วันทำเงินได้ไม่ถึงหลักแสน งานนี้ผู้กำกับถึงกับน้ำตาคลอ เพราะทุ่มเททำหนังเรื่องนี้มาถึง 5 ปีด้วยเม็ดเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต บวกกับประสบการณ์ในการทำหนังแอ็คชั่นมากว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็น องค์บาก , บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม , เกิดมาลุย , ส้มตำ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จ ทำให้มั่นใจในฝีมือการทำงานว่าออกมามีคุณภาพ ไม่สมควรที่จะหนังจะเจ๊งยับแบบนี้ถ้าได้รับโอกาสมีรอบฉายอย่างเต็มที่แล้วไม่มีคนดูก็จะยอมรับสภาพแต่โดยดี เหน็บ
“เราอยากทำหนังวัฒนธรรมไทยจีน เกี่ยวข้องกับหนุมานกับเห้งเจีย เราอยากจะทำหนังแอ็คชั่นก็เลยอยากหาคอนเซ็ปต์แอ็คชั่นดีๆ ต้องหาอัตลักษณ์ก็เลยเป็นหนุมาน พอเราทำรีเสิร์จมวยไทยโบราณแล้วเจอตำรามวยลิงต้องห้าม มันถูกซ่อนไว้ในโขนรามเกียรติ์ เป็นท่าการต่อสู้ของคนโบราณจริงๆ ไม่มีใครเอามาพรีเซ็นต์หรือเอามาทำเป็นรูปธรรม ก็เลยเป็นประเด็นที่แข็งแรงมากในการคิดคอนเซ็ปต์แอ็คชั่นดีไซน์ ก็เลยหยิบอันนี้ขึ้นมา หยิบตัวหนุมานมาได้ก็เลยหาตัวมาประชันที่เหมาะสมก็เลยเป็นเห้งเจีย และก็มาบิดว่า ถ้าเห้งเจียเป็นผู้หญิงเป็นนางเอกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันเป็นสองวัฒนธรรมไทยจีนมาเจอกันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นโปรเจ็กท์นี้”
“เส้นเรื่องของเราจะว่าด้วยกลุ่มคนเล็กๆ ที่โนบอดี้ในสังคม เมื่อการตัดสินใจของเขามันใจร้อนขึ้นมามันทำให้เกิดผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานหนังเรื่องนี้มา 5 ปี มันมีเรื่องที่ผมอยากจะเล่าหลายเรื่อง เช่น เรื่องการเมือง เช่นผู้คนที่เหมือนจะไม่ถูกกันแต่สุดท้ายก็มาร่วมมือกันในการต่อสู้ เราก็แฝงไว้ในเนื้อหา โดยรวมก็จะเป็นเรื่องของคนธรรมดาชาวบ้านธรรมดาทำมาหากินเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพศิลปะ ซึ่งปัจจุบันมันแย่อยู่แล้วแทบจะล่มสลายกันอยู่แล้ว จากการรีเสิร์จมันมีคนทำอาชีพนี้อยู่จริง ซึ่งทำไมเขาต้องทำ เพราะเขาทำมาตั้งแต่ตระกูล ทำสิ่งที่เขารัก มันเป็นประเด็นที่เราสนใจ เราจะทำยังไงให้วัฒนธรรมไทยและจีนที่คนไม่ค่อยรู้จักหันมามอง”
“ซึ่งพอเราทำโขนหนุมานเห้งเจีย เราก็คิดว่าจะทำยังไงไม่ให้มันเป็นแนวแฟนตาซี พอมันมายึดโยงกับงิ้วก็หนักใจว่าคนจะรับได้ไหม ก็ต้องมาพัฒนาในหลายแง่มุมเพื่อให้คนเข้าใจได้มากขึ้น”
พอใจกับการทำหนังเรื่องนี้ เพราะมีประสบการณ์ในการทำหนังแอ็คชั่นมาเป็น 10 ปี
“ผมพยายามอุดช่องโหว่ของหนังแอ็คชั่นที่ผ่านมา เพราะผมคลุกคลีกับวงการแอ็คชั่นมาเป็น 10 ปี ผมก็มีส่วนในการเขียนบทองค์บากภาค 1 , บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยมภาค 1 , เกิดมาลุย , 5 หัวใจฮีโร่ , ส้มตำ โดยส้มตำกำกับและเขียนบทด้วย และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งทั้งได้รับคำชมและโดนตำหนิ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่บริษัทของเราผลิตเอง แต่เป็นเรื่องที่ 2 ในชีวิตที่ผมกำกับเอง”
“จากประสบการณ์ในการทำหนังแอ็คชั่นถ้าถามว่า ผมพอใจกับหนังเรื่องวานรสู้ฟัดแค่ไหน ผมก็พยายามอุดรูรั่วหนังแอ็คชั่นประสบการณ์ 10 ปีที่คนดูตำหนิเรา เราก็พยายามอุดรูรั่ว เช่น ทำไมไม่ยิงกัน ทำไมคนเดียวสู้กับ 30-40 คนได้ มันต้องมีเหตุผลในการต่อสู้ ทำไมต้องสู้ และไปสู้กับคนมีอิทธิพลมากมาย ซึ่งฟีดแบคคนที่ไปดูในรอบกาล่าค่อนข้างดีทีเดียว และดูคำวิจารณ์ในเว็ปต่างๆ สัดส่วนค่อนข้างดีนะครับ ให้คะแนนในเกณฑ์ค่อนข้างดีครับ ก็ไม่โดนด่าเหมือนเรื่องที่ผ่านๆ มา
ทุ่มเงินในการทำหนังและโปรโมต 30 ล้าน แต่พอหนังเข้าฉายวันแรก ทำรายได้แค่ 5 หมื่นบาท
หนังเรื่องนี้ลงทุน 30 ล้านบาทรวมการตลาดโฆษณาแล้ว ก็คาดหวังรายได้ในเมืองไทยในเมืองไทยนะครับ แต่ไม่ได้หวังกำไรนะครับ ได้แค่เสมอตัวก็ดีแล้ว ได้ 50 ล้านแบ่งกับโรงคนละครึ่งก็เหลือแค่ก 20 กว่าล้านขาดทุนนิดหน่อยก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนขายในต่างประเทศก็มีการคุยไว้หลายเจ้าแต่ยังไม่ได้เป็นคอนแทคส์ เรียกว่ายังไม่เป็นรูปธรรม ก็มีหลายเจ้าที่ติดต่อเข้ามาเรียกว่าอยู่ในขั้นตอนดิลกันอยู่ เราก็รู้อยู่แล้วว่าหนังแอ็คชั่นต้องหวังขายกับต่างประเทศ ฉากการต่อสู้ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก เขายังต้องการมวยไทยอยู่ และศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยลิงโบราณในเรื่องนี้มันแปลกใหม่ แม้แต่เราเองยังไม่รู้เลยว่า มันมีการต่อสู้แบบนี้อยู่ เราก็เชื่อว่าต่างชาติจะต้องชอบเหมือนที่หนังแอ็คชั่นไทยเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว”
“แต่พอหนังเข้าวันแรกรายได้ไม่ดีเลย วันแรกรายได้ 5 หมื่นกว่าบาท เราได้ฉายทั้ง 2 เครือ เมเจอร์กับเอสเอฟ 23 โรงโลเกชั่นละ 1 โรง แต่ละโรงมี 4 รอบบ้าง 2 รอบบ้าง บางโรงก็สาหัสโดนรอบเที่ยงบ้าง 5 ทุ่มบ้าง ทำให้คนที่อยากดูเข้าถึงงานค่อนข้างลำบาก มันก็คงมีผลด้วย ช่วงนี้หนังเมืองนอกเข้าเยอะและเป็นหนังใหญ่ๆ คนที่จะเป๋มาหาหนังเราก็น้อยลง”
“พอวันที่ 2 โรงยังเท่าเดิมแต่รอบลดลง รอบน้อยลงกว่าวันแรกอีก ซึ่งเราทำหนังมานานถามว่ารอบมันลดลงเร็วไปไหม คือ...ผมก็ได้ยินแต่เขาพูดเรื่อง 4 วันอันตราย คือหนังจะเข้าวันพฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หนังจะเข้า ซึ่งวันพฤหัสเนี่ยมันเป็นวันธรรมดามันไม่น่าจะวัดได้ มันควรจะมาทำเงินในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่คนจะมาใช้เงินจับจ่ายในการดูหนัง เราก็หวังว่าวันเสาร์อาทิตย์มันจะทำเงินให้เรา”
“แต่รอบของเรากลับถูกลดลงในวันเสาร์และวันอาทิตย์ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ คือมันเริ่มนับเรื่องรายได้กันตั้งแต่วันแรกเลยเหรอ ทำไมไม่ให้โอกาสหนังไทยาบ้างเลย วันพฤหัสเข้าวันแรก วันศุกร์วันต่อไปลดเลยเหรอ พอลดแล้วยังไม่เท่าไหร่ วันเสาร์ก็ยังมาลดอีก วันอาทิตย์มาลดอีก ซึ่งจริงๆ แล้ววันเสาร์กับอาทิตย์เป็นวันที่ทำเงินที่สุดในบรรดาทุกวันของหนัง”
“ทีมของเราก็ไปเชคเขาก็จะโทรมาบอกว่า เฮ้ย...พี่ที่นี่มีรอบ 5 ทุ่ม รอบ 6 โมง รอบ 10 โมง รอบเที่ยงรอบบ่ายไม่มีเลย บางโรงก็ไปเอาหนังฝรั่งมาแทรกในโรงของเรา และให้รอบของเราเป็นรอบดึกๆ ไม่ใช่รอบที่คนพลุกพล่าน ซึ่งรอบดึกๆ มันควรเป็นหนังที่เข้าฉายนานแล้วไม่ใช่หนังใหม่แบบเรา”
หนังสร้าง 5 แต่เข้าฉายได้ 2 วันโดนลดรอบ เท่านั้นไม่พอ ยังโดนเอาหนังฝรั่งมาแทรกในรอบที่มีคนดูเยอะ
“ก่อนที่เราจะเอาหนังเข้าโรง ก็มีการติดต่อกับทางโรง เราก็มีการขายแผนโฆษณาและเปิดตัวอย่างให้ดู ซึ่งถ้าเขาจะขอดูเต็มเรื่องเราก็ให้ดูได้ ซึ่งเขาก็โอเค และเราก็ขอโรงไว้ ซึ่งผมคิดว่าใน 1 โรงที่เขาให้เราจะได้รอบเต็ม คือฉายหนังเราทั้งวันไม่คิดว่าจะถูกแทรกโดยหนังฝรั่งตลอด และกลายเป็นว่ารอบของหนังฝรั่งดีกว่าหนังของเรา ซึ่งเราสู้หนังฝรั่งไม่ได้อยู่แล้วทั้งหน้าหนังและการลงทุน เราไม่คิดว่าระบบมันจะบีบคั้นคนทำหนังได้ขนาดนี้”
“เรามีตัวแทนในการเข้าไปพูดคุยกับโรงหนัง ตั้งแต่ส่งเซ็นเซอร์กบว.ติดต่อโรง ซึ่งเขาก็ดูแลให้เราพาเราไปพูดคุย ก็ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ ในการพูดคุยเขาก็พูดว่าต้องการช่วยเหลือให้หนังไทยอยู่ได้ แต่ไม่คิดว่าโมเดลธุรกิจจะออกมาขนาดนี้ ไม่คิดว่าไม่มีคนดูก็ถอดก็ลดเลยโดยที่ไม่ให้โอกาสเราเลย ทั้งที่มันควรจะให้โอกาสเราบ้างหรือเปล่า”
“หนังเรื่องนี้ใช้เวลาในการสร้าง 5 ปี แต่ฉายแค่ 2 วันก็โดนลดรอบ มันเจ็บปวด ผู้กำกับหนังทุกคนก็ต้องเจอปัญหานี้ มันทำให้เรานึกไม่ออกว่า เราจะทำยังไงต่อไปกับระบบแบบนี้ ก็ได้มีการสอบถามไปเขาก็ให้เหตุผลมาว่า ถ้าหนังมันไม่ทำเงินก็ต้องถูกลดรอบแบบนี้แหละ ต้องรับให้ได้มันเป็นแบบนี้ ซึ่งผมเข้าใจนะ แต่ผมมองว่าเราเป็นคนไทย เราอยู่เมืองไทย เราทำหนังไทย ทำไมไม่มีพื้นที่ให้หนังไทย ทำไมต้องเป็นแบบนี้ แล้วคนที่คิดจะทำงานดีๆ มันจะทำยังไง จะอยู่ได้ยังไง”
“ผมว่าเรื่องของจำนวนรอบจำนวนโรง ทางโรงก็มีสิทธิ์เพราะมันเป็นธุรกิจของเขามันเข้าใจได้ แต่จะบอกว่าโรงไม่มีส่วนทำให้หนังเจริญขึ้นหรือเจริญลงก็พูดไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ให้เขาพิสูจน์ตัวเอง มันก็เหมือนนักมวยที่ซ้อมมาดีแล้วยังไม่ทันได้ขึ้นชกก็โดนหักคะแนนแล้วมันไม่แฟร์ไม่ยุติธรรม”
“หนังเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีคนดูอย่างไม่ได้นี่ได้วันหนึ่งเป็นแสนนะครับ ซึ่งมันก็น้อยมาก วันละ 4-5 แสนก็ถือว่าน้อยมากแต่ก็สามารถทำกันได้นะ หนังผมมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะครับ อยากให้ไปดูในเว็ปต่างๆ ที่เขียนถึงหนังผม ไปดูที่เขาวิจารณ์ก็จะรู้ว่ามันเป็นยังไง ถ้ามาบอกว่าเพราะหนังผมไม่ดีคนถึงไม่ดู คือถ้าผมได้รอบที่ดีและสะดวกที่คนจะดูไม่ใช่โดนลดรอบแบบนี้ คือให้ผมได้ฉายเต็มที่แล้วผมทำรายได้ไม่ได้ ผมก็จะยอมรับในตรงนี้ โรงควรจะเปิดพื้นที่ให้หนังไทยบ้างจะจ้องแต่ว่าไม่ยอมขาดทุนเลย”
“ผมลงทุนไป 30 ล้านนี่ทุนของตัวเองครับ มีกระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุน 1 ล้านบาท วันนี้เรียกว่าเราก็เทหมดเลยครับ ไม่ได้อยากจะดราม่าครับแต่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สะสมกันมาทั้งชีวิต ก็เอามาใช้ในการทำหนังเรื่องนี้ จะบอกว่าเราเสี่ยงในยุคนี้ก็ไม่ใช่เพราะโปรเจ็กท์นี้มันเริ่มเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจมันไม่ได้เป็นแบบนี้ เราไม่ได้คิดว่ามันจะสาหัสแบบนี้”
“ผมไม่รู้จะทำยังไงนะครับ ก็ได้บอกทางแฟนเพจหรือช่องทางที่เราจะสื่อสารกับผู้คนได้ว่า ช่วยเชคโรงเชครอบกันให้ดี เพื่อที่จะทำให้หนังเรื่องนี้มันจะยังมีโอกาสอยู่ในโรงได้บ้าง ได้มีโอกาสให้เราได้เผยแพร่สิ่งที่เราอยากจะเผยแพร่ได้บ้าง
เข้าใจแล้วว่าทำไมก่อนหน้านี้ ถึงมีข่าวผู้กำกับจะโดดตึกฆ่าตัวตายเพราะหนังเจ๊ง
“ผมไม่รู้ว่าตอนนั้นเขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า เขาได้โรงเต็มที่หรือเปล่า พอได้ยินข่าวในฐานะคนทำหนังก็เห็นใจก็รู้สึกได้เท่านั้น แต่ตอนนี้พอมาเป็นเราเอง คนทำหนังมาเห็นสภาพผมก็คงรู้สึกเห็นใจก็คงพูดได้เท่านี้”
“ผมพยายามมองภาพรวมของทีมงานและบริษัท เรามั่นใจเราไม่ใช่มือใหม่ในการทำแอ็คชั่น ทีมงานเป็นครูบาอาจารย์กันเลยทีเดียว เราภูมิใจที่บริษัทเล็กๆ ของเราสามารถทำหนังตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้ เสร็จสมบรูณ์ได้ แต่ก็เสียใจที่ปลายน้ำที่จะต้องไปถึงผู้คนเราคอนโทรลอะไรไม่ได้ ก็เลยทำให้เราเสียดายโอกาส เสียดายโอกาสที่เราจะได้พิสูจน์ ถ้ามีคนดูแล้วมาด่าหนังเรามันยังรู้สึกดี แต่ในคอมเม้นต์ต่างๆ กลับแบบ ผมอยากไปดูแต่มันไม่มีโรงให้ดู เราก็ได้แต่แจ้งไปว่าต้องเชครอบกันดูให้ดี เพราะในหนึ่งวันนี่ปรับเปลี่ยนตลอด ตอนแรกมี 3 รอบแป๊บๆ มี 2 รอบ”
หาทางออกโดยการจะจัดฉายหนังกลางแปลง ล้อมผ้าเก็บเงิน และเปิดแสดงสตั้นท์หน้าโรงหนังกลางแปลง เพื่อหารายได้เลี้ยงลูกน้อง
“เราก็ต้องสู้ในมุมที่เราทำได้ ก็กำลังติดต่อสกาล่าและลิโด้เพื่อที่จะมีพื้นที่ให้คนที่อยากดูหนังของเราไปบอกในโซเชี่ยล ใครที่พาดไม่ได้ดูขอให้มาดูที่นี่เราจะจัดรอบพิเศษให้วันไหนเท่าที่บริษัทเล็กๆ อย่างเราจะทำได้ เราทำแบบนี้ไปแล้วมันยังไม่ถึงผู้คนบางจังหวัดที่เราไม่ได้ขายสายไป ผมก็จะไปทำอีเว้นต์เหมือนหนังกลางแปลงดิจิตอลมันก็ต้องสู้กันขนาดนั้น”
“โมเดลนี้มันไม่ใช่พึ่งเกิด พี่พันนาเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว มันไม่มีโอกาสที่จะมาฉายในกรุงเทพ แกก็เลยทำหนังเพื่อฉายหนังกลางแปลง ก็มีการโชว์สตั้นท์เปิดหน้าวิกเก็บเงินกันเพื่อที่จะดูแลทีมสตั้นท์ของแก ซึ่งผมฟังแล้วก็สะเทือนใจการต่อสู้ของพี่เขามันยาวนานและทรหดอดทนมากกว่ากว่าจะมาถึงองค์บากภาค 1 และประสบความสำเร็จ”
“ตอนนี้มันหวนกลับมาทำให้ผมคิด มีคนมาชวนว่า ถ้ามันมีปัญหาแบบนี้เราไปอีเว้นต์กันไหมพี่ เราไปเปิดวิกแบบหนังกลางแปลงไหม ตอนนี้มันเป็นระบบดิจิตอลแล้วนะ แสงเสียงดี เราไปหาสปอนเซอร์ที่จะมาสนับสนุนมันจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้พี่ได้หาเงินคืนจากหนังเรื่องนี้ได้บ้าง เพื่อจะทำให้บริษัทเราอยู่ได้ อย่างน้อยก็มีงานให้พวกสตั้นท์ ทีมงานของเราได้ไปโชว์ได้ค่าตัวก็ยังดี”
“เราก็จะทำในจังหวัดที่เราไม่ได้ขายสาย เราจะไปขายในจังหวัดที่ขายสายหนังไม่ได้ นี่เป็นแผนที่เราจะทำต่อไปถ้าขายสปอนเซอร์ได้ เป็นการที่เราดิ้นรนอย่างที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”
อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หันมาดูแลอุตสาหกรรมหนังไทย ไม่เช่นนั้นต่อไปจะไม่มีการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม ที่จะมีแต่หนังกระแส
“มันมีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจ มีผู้กำกับในเกาหลีหาทุนจะทำหนังโสเภณีในเกาหลี ผู้กำกับหาทุนในสตูดิโอต่างๆ ไม่ได้ เลยหาทุนในอินเตอร์เน็ตมวลชนก็เลยให้เงินทุนมา 30 ล้านบาท เมื่อทำเสร็จก็หาสถานที่ฉายไม่ได้ ไม่มีโรงหนังในเกาหลีที่ไหนให้ฉายมาเป็นปี จนกระทั่งมวลชนลงรายชื่อเพื่อจะขอดูหนังเรื่องนี้ ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ได้ฉายเกาหลี หนังทำเงินถล่มทลายมากกว่าหนังต่างประเทศ มันเป็นอะไรที่เราประทับใจมาก”
“มันเป็นเรื่องของมวลชนที่สนับสนุนให้หนังเกาหลีเขาอยู่ได้ ทำให้ผมคิดว่าทำไมเมืองไทยเป็นแบบนี้ มันทำให้คนอยากทำงานดีๆ มีชีวิตที่อยู่ยาก เมื่อทำเสร็จแล้วยังมาเป็นแบบนี้แล้วเขาจะทำหนังยังไงต่อไป จะไม่มีหนังไทยอีกแล้วใช่ไหมนอกจากค่ายใหญ่ๆ จะไปโทษคนที่ไม่ดูก็ไม่ได้นะ หนังไทยดังๆ ที่ทำเงินเป็น 100 ล้าน 1000 ล้านก็มี เพราะเขามีแฟน แต่ผมก็เชื่อว่าหนังเหล่านั้นคงไม่ได้โดนลดรอบแบบผมภายใน 2 วันแน่”
“หนังผมมันอาจจะไม่เข้าตาทางโรงหรืออะไรก็ตาม เขามองหนังผมเป็นเกรดซีเหรอ ถึงจะเป็นเกรดซีเขาก็ควรมีพื้นที่ให้เรา ถ้ามันไม่มีคุณภาพพอคุณต้องบอกตั้งแต่ต้นว่าฉายไม่ได้ ไม่ใช่พอเราเข้าไปในระบบแล้วเหมือนตกไปอยู่ในนรกที่เราดิ้นรนไม่ได้ ไม่มีคนทำหนังคนไหนอยากมีปัญหากับโรงหรอกนะครับ ที่ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้อยากมีปัญหาอะไรกับโรง แต่ได้รับการติดต่อพอถามก็ต้องตอบ”
“ผมคงไม่ใช่ผู้กำกับคนแรกที่พูด และไม่คิดว่าตัวจะมีพาวเวอร์จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และก็ไม่เคยรู้สึกได้จริงๆ จนกระทั่งตัวเองได้มาเจอจุดนี้ พอมาเจอแล้วเข้าใจจริงๆ ว่า โอ้ว...มันยากลำบากกว่าที่เราคิดมากเลย การทำหนังให้ดีมันก็ยากมากแล้ว เราทำจนมั่นใจว่าดีพอกล้าเผยแพร่ได้แล้วยังต้องมาเผชิญกับปัญหาแบบนี้อีกเหรอ คือตอนนี้มันไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของงานแล้ว”
"ผมรู้สึกว่าสมาพันธ์หรือสมาคมภาพยนตร์ต้องคิดแล้วล่ะว่า จะทำยังไงให้หนังไทยได้มีพื้นที่ยืนอยู่ได้บ้าง เราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย ต้องการแค่ใน 1 วันขอรอบให้เต็มวันได้ไหม ให้เราได้พิสูจน์ตัวเอง เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องเจ็บปวดของคนทำหนัง ผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองต้องหันมามองอุตสาหกรรมไทยบ้าง ผมพยายามไปหาข้อมูล สมัยก่อนมีกำแพงภาษีหนังต่างประเทศมันทำให้หนังไทยมีโอกาสมากขึ้น พอถูกยกเลิกกำแพงภาษีไป ต่างประเทศสามารถเอาเงินที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังออกไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ “
“ผมอยากให้ผู้ใหญ่ถอยไปดูจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมไทยที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จนถึงวันนี้จะปล่อยให้เป็นแบบนี้อีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าหนังไทยไม่ตายหรอกเพราะเรามีคนทำหนังไทยเก่งๆ อีกเยอะ บริษัทใหญ่ๆ ที่ทำประสบความสำเร็จมีอีกเยอะ แต่คนที่ต้องการทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความงามดีที่มันไม่เกี่ยวกับตลาดหรือกระแส เขาจะสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างไรถ้าเขาไม่มีพื้นที่”