xs
xsm
sm
md
lg

สปท.สัมมนาทำคู่มือจริยธรรมสื่อ “อลงกรณ์” ชี้ต้องให้มีมาตรฐานบนความรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อ สปท.สัมมนาคู่มือมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อ “อลงกรณ์” ชี้สิ่งสำคัญทำอย่างไรให้เป็นปากเสียงอย่างมีมาตรฐานบนความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านผู้บริหารเดลินิวส์ยันทำคู่มือเป็นกลาง

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร่วมกับอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เปิดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาคู่มือมาตรฐานกลางทางจริยธรรมของสื่อมวลชน เพื่อนำไปพัฒนากรอบแนวคิด จรรยาบรรณ รวมทั้งข้อบังคับเพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางทางจริยธรรมตามแนวทางของร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า การเปิดเวทีในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาคู่มือมาตรฐานกลางทางจริยธรรมเพื่อให้สื่อมวลชนสามารถนำไปใช้เป็นกรอบอ้างอิงได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 กล่าวว่า สื่อสารมวลชนเป็นอีกประเด็นที่จะต้องปฏิรูป ปัจจุบันสื่อสารมวลชนถือว่ามีความสำคัญต่อสังคม การจัดทำมาตรฐานจริยธรรมนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อ ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการปฏิรูปสื่อ มีการพยายามสร้างแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนจนทำให้เกิดเป็นองค์กรด้านสื่อ อาทิ การตั้งสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันโลกได้มีความเปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้สื่อจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ แต่ประเด็นสำคัญคือวันนี้จะทำอย่างไรให้สื่อเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชนอย่างมีมาตรฐาน บนหลักของความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หลักสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปสื่อเกิดผลสำเร็จมีหลากหลายประเด็น อาทิ หลักสิทธิเสรีภาพของสื่อซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสื่อต้องไม่เลือกข้างไม่ขยายความขัดแย้ง เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมในการสร้างสันติสุข ช่วยในการเดินหน้าสร้างความปรองดองและการนำเสนอข่าวสารต้องไม่ใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปในข่าว หลักความเป็นอิสระ โดยต้องไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐและเอกชน ขณะเดียวกันยังมีหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนซึ่งเปรียบเสมือนศีลในทางศาสนาเป็นหลักของทุกอาชีพที่จะต้องปฏิบัติและบังคับใช้ เป็นต้น

ด้านนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ กล่าวยืนยันว่า การจัดทำคู่มือมาตรฐานกลางด้วยความเป็นกลาง และเมื่อมีประกาศเป็นกฎหมายทุกคนต้องเคารพปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ยอมรับว่าการปรับแก้ขั้นตอนต่างๆ เพราะจากนี้ยังต้องเสนอไปยังรัฐบาล และการพิจารณาของ สนช.ที่อาจมีการปรับแก้ตามความเหมาะสมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น