xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ถอยตีทะเบียนสื่อ คนข่าวไม่ร่วมสังฆกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธาน กมธ.ปฏิรูปสื่อ ถอยครึ่งทาง ตัดใบประกอบวิชาชีพสื่อ-บทลงโทษ แต่จำเป็นต้องมีตัวแทนภาครัฐ 2 คน เชื่อไม่มากพอแทรกแซงได้ ด้านนายกสภาฯการหนังสือพิมพ์ ย้ำจุดยืน ไม่ร่วมสัฆกรรมสภาวิชาชีพสื่อ เด็ดขาด แม้รัฐบาลผ่านร่างจัดตั้ง นักข่าวรัฐสภาจี้ สปท.ถอนร่างกม. แนะกลับไปรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อน

วานนี้ (30 เม.ย.) พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ในวันนี้ (1 พ.ค.) จะหารือกับคณะกรรมาธิการฯ ให้เสนอตัดหลักการเกี่ยวกับการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงบทลงโทษออกจากร่างกฎหมาย เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า อาจทำให้เกิดปัญหา และเป็นเรื่องหนึ่งที่สื่อมวลชนคัดค้าน

ส่วนเรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน โดยให้มีกรรมการที่มาจากภาครัฐโดยตำแหน่ง 2 คน พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ยังคงยืนยันหลักการนี้ไว้ เพราะมองว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การทำงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

“ที่กังวลกันว่าจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงและขัดต่อความเป็นอิสระของสื่อมวลชนนั้น ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการประชุมของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ต้องใช้มติที่ประชุม ซึ่งสัดส่วนของสื่อมวลชนก็มีมากกว่าสัดส่วนของภาครัฐอยู่แล้ว อีกทั้งผลการประชุมก็ต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ พร้อมย้ำว่าการถอนหลักการเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ก็ถือว่าเป็นการเจอกันครึ่งทางแล้ว” พล.อ.อ.คณิตกล่าว

**สภาการนสพ.ไม่ร่วมสังฆกรรมสภาวิชาชีพฯ

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่เนื้อหาใน มาตรา 93 ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสปท. ในวันนี้ (1 พ.ค.) กำหนดให้ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไปเป็น 1 ในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น นับเป็นการแอบอ้างนำชื่อ และองค์กรสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไปใส่ไว้ โดยไม่ได้มีการหารือหรือได้รับความยินยอมแต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการคัดค้านร่างกฎหมายเผด็จการฉบับนี้ ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะมีหนังสือแจ้งต่อประธานสปท. เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีการแอบอ้างชื่อประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะไม่ขอร่วมสังฆกรรมในคณะกรรมการที่ว่านี้ แม้ร่างกฎหมายนี้จะผ่านออกมาก็ตาม

พร้อมกันนี้ องค์กรพันธมิตร อาทิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รวมทั้งสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ฯลฯ กำลังหารือว่า จะมีหนังสือในลักษณะเดียวกัน เพื่อยื่นแก่ประธาน สปท.ในวันนี้ เช่นกัน

**นักข่าวรัฐสภาจี้สปท.ถอนร่างกม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง "ขอให้สปท.ถอน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ออกจากระเบียบวาระการประชุม" โดยระบุว่า คณะผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของ สปท. , คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หากมีการบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคต จะส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมไปถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการสื่อสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกำกับควบคุม จนมิอาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ์เอาไว้
ทั้งนี้ โดยหลักแล้ว การผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน ควรเป็นไปในลักษณะมุ่งคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ อีกทั้งสร้างกลไกที่ธำรงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้เสรีภาพบนพื้นฐานความรับผิดชอบ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การที่ให้ภาครัฐมีส่วนเข้ามาเป็นผู้ให้คุณ หรือให้โทษ แก่ผู้ปฎิบัติหน้าที่สื่อมวลชน และบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป ตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงไม่อาจเป็นร่างกฎหมายที่ยอมรับได้

คณะผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นว่า สปท. ควรถอน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อทบทวนเนื้อหา และหลักการสำคัญ ด้วยการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน โดยนอกจากจะรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ควรรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน ที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคสนามด้วย เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและข้อเท็จอีกด้านหนึ่ง

**สภาวิชาชีพต้องไร้จนท.รัฐเข้าร่วม

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Kamnoon Sidhisamarn” ถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ว่า ขอพูดภาษาชาวบ้านสั้นๆ ง่ายๆ ถึงจุดยืนของผมในประเด็นร้อน ว่า เอาสภาวิชาชีพตามกฎหมายที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วม ไม่เอาการบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องขออนุญาต ไม่เอาการนิยามศัพท์ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้กว้างจนรุกล้ำเข้ามาในปริมณฑลแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป

หรือพูดภาษากฎหมายว่า “สนับสนุนให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดนายคำนูณแจ้งว่า จะทำการอภิปรายขยายความในสภาวันนี้ และจะนำเค้าโครง มาแจ้งเพื่อนสมาชิกก่อนเวลาอภิปรายเล็กน้อย

** เผยแนวทางปรับปรุงกม.คุมสื่อ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ในวันนี้ ว่า เมื่อวิปสปท. บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้วก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมว่าจะเห็นอย่างไร โดยมี 3 แนวทาง คือ 1. เห็นชอบ 2. ไม่เห็นชอบ และ 3. ถอนร่างกฎหมายกลับไปปรับปรุงใหม่ ซึ่งในกรณีที่ ที่ประชุมเห็นชอบ คณะกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน จะต้องนำความเห็นของสมาชิกกลับไปปรับปรุง ก่อนเสนอให้ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.ทำหนังสือส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อ แต่ถ้ามติออกมาไม่เห็นชอบ ก็ถือว่าตกไป แต่ถ้าที่ประชุมมีมติให้นำกลับไปปรับปรุงแก้ไข กมธ.สื่อฯต้องนำร่างกฎหมายกลับไปแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวิปสปท.ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอว่า ในกรณี ที่ประชุมสปท. มีมติเห็นชอบ ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขรายงาน และร่างกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับความเห็นที่สมาชิกสปท.ได้อภิปราย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าให้กมธ.สื่อฯ นำกลับไปปรับปรุงเอง ร่าง กฎหมายอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะข้อเสนอแนะต่างๆของสมาชิกสปท.ในระหว่างการอภิปราย อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องนี้ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น