xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯนำถกปฏิรูปประเทศเคาะ7วาระสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศว่า เป็นการประชุมเพื่อวางอนาคตของประเทศ ที่เป็นการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ครอบคลุมในหลายประเด็น ทั้งการเมือง การยกระดับรายได้ให้พ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง การบริหารจัดการ และที่สำคัญเรื่องกฎหมาย ที่ต้องเอากฎหมายทั้งประเทศมาดูว่าจะมีการปรับปรุงพัฒนาไปอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้ ต้องเอากฎหมายต่างประเทศมาดูว่าเราจะต้องปรับตรงไหน ทำอย่างไรให้เป็นสากลมากที่สุด และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยกำหนดว่า เรื่องใดที่มีผลกระทบ จะต้องมีมาตรการรองรับก่อนที่กฎหมายจะออกมา เพื่อไม่ให้เกิดอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายอย่างที่ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ข้อบกพร่องของใคร เพียงแต่เป็นการรวบรวมกฎหมายที่มีอยู่เดิมมาใส่ในกฎหมายใหม่ ทั้งที่กฎหมายก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ทำให้เกิดปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้มีหลายเรื่องที่ปฏิรูปไปแล้ว อยากให้ทุกคนย้อนกลับไปดูว่าวันนี้ ต่างจากวันที่ 22 พ.ค. 57 อย่างไร วันนั้นมีวาระการปฏิรูป 11 วาระ ซึ่งสปท.ได้นำไปขับเคลื่อนออกเป็น 37 วาระในการปฏิรูป ซึ่งจะนำไปจัดอยู่ในกล่องเดิม 11 วาระให้ได้ เมื่อทำเสร็จเรียบร้อย ก็ไปดูกิจกรรมในวาระต่าง ๆ ก็จะออกมาเป็นแผนปฏิรูปที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ยุทธศาสตร์ แล้วจึงไปขับเคลื่อนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่ง ทั้ง 11 คณะ ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
"หลายประเทศเขาใช้การปฏิรูปโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ เขาไม่สนใจความขัดแย้ง เมื่อปฏิรูปไม่ได้ เขาก็ใช้กฎหมายเอา ซึ่งประเทศเราทำไม่ได้ เพราะเราไม่เคยชินกับการบังคับใช้กฎหมาย เราไม่ยอมรับในกฎหมายหลายอย่าง สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน เดินไปสู่เป้าหมายอันเดียวกัน วันนี้รัฐบาลมองเป้าหมายที่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นได้ประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศ ผมก็คาดหวังกับรัฐบาล และคสช. ท่านจะคาดหวังกับผมหรือไม่ก็ไม่รู้ หรือท่านจะไปฟังคนอื่นก็ตามใจ ก็ไปดูวันหน้าแล้วกัน ถ้าไม่ร่วมมือวันนี้ ก็ไปร่วมวันหน้ากับใครก็แล้วแต่ ไปดูสิว่าจะทำสำเร็จไหม ทั้งรัฐบาลนี้ รัฐบาลหน้าไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ต้องร่วมมือกัน ถ้าขัดแย้งกัน วันนี้ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง และเรื่องอื่นๆ แล้วก็มาขัดแย้งกันเหมือนเดิม แล้วใครจะรับผิดชอบ ก็ต้องมาที่นายกรัฐมนตรีและคสช.ที่ต้องรับผิดชอบ อย่างไรผมก็รับอยู่แล้ว แต่ผมจะไม่ให้ไปสู่ตรงนั้น"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการป.ย.ป. กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป คือ คณะกรรมการป.ย.ป.ยังทำงานต่อไป หลังพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศบังคับใช้ โดยการประชุมคณะกรรมการ ป.ย.ป.จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ค. การประชุมครั้งนี้ เป็นการเตรียมเรื่องปฏิรูปเข้าที่ประชุม โดยมีทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปกฎหมาย โดยจาก 37 วาระเร่งด่วนนั้น ณ วันนี้ตามรธน. การปฏิรูป 11 ด้าน ได้มีการแยกการปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปตำรวจออกไป ส่วนที่เหลือในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย และการปฏิรูประบบราชการ แบ่งเป็น 7 วาระสำคัญ คือ 1.การปฏิรูปกฎหมาย 2. การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด 3. ปฏิรูปการทำงานรัฐบาลให้มีความคล่องตัวและกระชับมากขึ้น 4. ปฏิรูปจัดสรรกำลังพลภาครัฐ ทำอย่างไรให้มีข้าราชการในจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งต่อไปจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล โดยที่กำลังพลบางส่วนจะหายไปและบางส่วนถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง โดยคงข้าราชการที่มีประสิทธิภาพไว้ และเอาข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพออก
5.การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6. การปรับเปลี่ยนข้าราชการสู่ระบบดิจิทัล และ 7.การยกระดับการบริการให้ประชาชน ผลักดันพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก
โดยทั้ง 7 เรื่อง การทำให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ผ่านกลไกประชารัฐ โดยมีภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งภาคประชาชนมีรายชื่อบ้างแล้ว เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล มาช่วยดูการปฏิรูปงบประมาณ นายกานต์ ตระกูลฮุน ช่วยเรื่องการปฏิรูปการยกระดับการบริการให้ประชาชน ส่วนการปฏิรูปกฎหมายมีความคืบหน้าหน้า กฎหมายที่ล้าสมัยภาคเอกชนได้ลงขันจัดจ้าง นายสก๊อต เจค็อบ ประธานบริษัทที่ปรึกษากฎหมายบริษัท Jacobs,Cordova & Associates มาทำเรื่องนี้ มีกำหนดการแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน นอกจากนี้ยังหารือกฎหมายที่ต้องร่างตามรัฐธรรมนูญ 4-5 ฉบับที่สำคัญ และมีการนำเสนอจากกลุ่มของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คือทำกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจง่าย ขณะที่สำนักงาน ก.พ.และสำนักงานก.พ.ร. ได้นำเสนอแผนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 6 แผน ที่ต้องเห็นภาพการปฏิรูปเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี ในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น