xs
xsm
sm
md
lg

ถกเตรียมปฏิรูปชง 7 วาระสำคัญต่อ ป.ย.ป. ชี้ ปชช.ต้องมีส่วนก่อนทำสัญญาประชาคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมต.สำนักนายกฯ แถลงผลประชุม คกก.เตรียมการปฏิรูปประเทศ เคาะ 7 วาระสำคัญ ด้าน กม.-การบริหารราชการ เข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ย.ป. 24 ก.ค. “บัณฑูร” เผย กม.ตั้งธนาคารที่ดิน-ป่าชุมชน คลอดใน 1 เดือน “สีลาภรณ์” ระบุ ปชช.ต้องมีส่วนปฏิรูป ก่อนทำสัญญาประชาคม ให้นักการเมืองทำต่อ

วันนี้ (12 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อรับทราบถึงแผนการดำเนินงานและความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศของทุกคณะ ซึ่งหลักการที่สำคัญจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปสามารถสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์และเดินไปด้วยกันได้ พร้อมเน้นย้ำว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นตามห้วงระยะเวลาที่กำหนดและอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลงานเกิดขึ้นปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมในทุกๆ ปีและทุก 5 ปี และต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปสู่ประเทศความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ต่อมาเวลา 13.15 น. นายสุวิทย์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปคือ คณะกรรมการ ป.ย.ป.ยังทำงานต่อไป หลัง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ บังคับใช้ โดยการประชุมคณะกรรมการ ป.ย.ป.จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ค. การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมเรื่องปฏิรูปเข้าที่ประชุม โดยมีทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปกฎหมาย โดยจาก 37 วาระเร่งด่วนนั้น ณ วันนี้ตามรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป 11 ด้าน ได้มีการแยกการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจออกไป ส่วนที่เหลือในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย และการปฏิรูประบบราชการ แบ่งเป็น 7 วาระสำคัญ คือ 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด 3. ปฏิรูปการทำงานรัฐบาลให้มีความคล่องตัวและกระชับมากขึ้น 4. ปฏิรูปจัดสรรกำลังพลภาครัฐ ทำอย่างไรให้มีข้าราชการในจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งต่อไปจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล โดยที่กำลังพลบางส่วนจะหายไปและบางส่วนถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง โดยคงข้าราชการที่มีประสิทธิภาพไว้ และเอาข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพออก

5. การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6. การปรับเปลี่ยนข้าราชการสู่ระบบดิจิตอล และ 7. การยกระดับการบริการให้ประชาชน ผลักดัน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก โดยทั้ง 7 เรื่องการทำให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ผ่านกลไกประชารัฐ ด้วยการปฏิรูประบบราชการต้องไม่ทำด้วยตัวเอง แต่ต้องมีภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งภาคประชาชนมีรายชื่อบ้างแล้ว อย่างนายประสาร ไตรรัตน์ มาช่วยดูการปฏิรูปงบประมาณ นายกานต์ ตระกูลฮุน มาช่วยเรื่องการปฏิรูปการยกระดับการบริการให้ประชาชน ส่วนการปฏิรูปกฎหมายมีความคืบหน้าหน้า กฎหมายที่ล้าสมัยภาคเอกชนได้ลงขันจัดจ้าง นายสก๊อต เจค็อบ ประธานบริษัทที่ปรึกษากฎหมายบริษัท Jacobs,Cordova & Associates มาทำเรื่องนี้ มีกำหนดการแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน นอกจากนี้ยังหารือกฎหมายที่ต้องร่างตามรัฐธรรมนูญ 4-5 ฉบับที่สำคัญ และมีการนำเสนอจากกลุ่มของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คือทำกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจง่าย ขณะที่สำนักงาน ก.พ.และสำนักงาน ก.พ.ร.ได้นำเสนอแผนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 6 แผน ที่ต้องเห็นภาพการปฏิรูปเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง (อปป.) ในคณะกรรมการ ป.ย.ป.กล่าวว่า โจทย์ที่ตั้งไว้มี 8 เรื่องใหญ่ 20 ประเด็นย่อย โดยสิ่งที่นำเสนอที่ประชุมคือ กำหนดว่าแต่ละเรื่องจะเดินหน้าอย่างไร แล้วเสร็จเมื่อไหร่ เช่น 1 เดือนหลังจากนี้ จะมีกฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.ป่าชุมชน การแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปปัญหาขัดแย้งที่ดินป่า และให้ชุมชนร่วมรักษาป่าร่วมกับภาครัฐได้ และภายใน 2 เดือนข้างหน้า จะมีการออก พ.ร.บ. ยุติธรรมชุมชนและ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อจัดตั้งระบบยุติธรรมชุมชนให้เป็นกลไกหาข้อยุติความขัดแย้งกับชุมชน โดยไม่ต้องให้เรื่องไปถึงชั้นศาล นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA/EHIA จะต้องแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน

ด้านนางสีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการสานพลังปฏิรูปเพื่อพัฒนาพื้นที่และสังคม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การปฏิรูปมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ โดยจะทำงานจากระดับล่างขึ้นบน เปิดเวทีตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศ ให้ชาวบ้านคิดจากปัญหาของเขา ควบคู่กับสิ่งที่รัฐบาลคิด แล้วนำไปสู่การตั้งเป้าหมายเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันว่าต้องการเห็นการปฏิรูปร่วมกันอย่างไร ทำให้เกิดสัญญาประชาคมหรือทีโออาร์ให้นักการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าเขาควรจะทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถือเป็นครั้งแรกที่ทำงานอย่างกว้างขวางแบบนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น