“บิ๊กตู่” สั่ง “ก.พ.ร.-ก.พ.” ปรับหลักเกณฑ์คัดเลือก “ผู้ว่าฯ” เป็นหัวหน้ากลุ่ม 18 จังหวัด” สนองนโยบายรัฐ-ขับเคลื่อนงานบูรณาการ ด้าน “มหาดไทย” ไม่ขัดข้องข้อเสนอ ก.พ.ร. เสนอยุบ 18 กลุ่มจังหวัด เปลี่ยนเป็น 6 ภาค ให้รองปลัด มท.นั่ง” หัวหน้าภาค” แทน ส่วนทีมงานนโยบายนายกฯ เผยเลขาธิการ ก.พ.ร.เสนอแนวทางการติดตามประเมินผลในมิติ Function Agenda และ Area เหตุผู้ว่าฯ ยังบูรณาการทำงานไม่เต็มที่
วันนี้ (10 ก.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยศ.) ในคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา เป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน ได้รับทราบผลการขับเคลื่อนในประเด็น “ระบบกลไกการกำกับติดตามประเมินผลโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจในประเทศ (Locl Economy) ผ่านกลไกล 18 กลุ่มจังหวัด” โดยที่ประชุมในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกระทรวงมหาดไทย พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้ากลุ่มจังหวัด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานบูรณาการตามนโยบายรัฐบาล
มีรายานว่า ล่าสุด ก.พ.ได้นัดประชุมหารือกับหน่วยงานข้างต้นแล้ว ขณะที่กระทรวงมหาดไทยโดยปลัดกระทรวงฯ ได้กำชับให้สำนักปลัด มท. ประสานกับสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร.หารือในประเด็นที่ ก.พ.ร.เสนอแนวทางคิดที่จะยุบ 18 กลุ่มจังหวัด แล้วเปลี่ยนเป็น 6 ภาค โดยให้มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าภาคแทน เพื่อให้การบูรณาการเชิงพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารสำนักงานนโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับข้อเสนอจากนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.ที่เสนอแนวทางการติดตามประเมินผลในมิติ Function Agenda และ Area ซึ่งในเชิงพื้นที่เป็นบทบาทของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดยังบูรณาการทำงานไม่เต็มที่
“ดังนั้น ในที่ประชุม บยศ.ที่นายกฯ เป็นประธาน จึงมอบหมายให้ ก.พ., ก.พ.ร. และมหาดไทย ไปพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด เพื่อให้มีกลไกในการขับเคลื่อนงานบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริงต่อไป”
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ป.ย.ป.ของกระทรวงมหาดไทย ที่มีนายกฤษฎา บุญราช ปลัด มท.เป็นประธาน มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมีมติว่าในประเด็นที่ ก.พ.ร.เสนอแนวคิดที่จะยุบ 18 กลุ่มจังหวัด แล้วเปลี่ยนไปเป็น 6 ภาค โดยให้รองปลัด มท.มาเป็นหัวหน้าภาคนั้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยไม่ขัดข้อง แต่ต้องมีการประสานงานกับทุกหน่วย เช่น กพ.อย่างละเอียดเพิ่มเติม
มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านั้นสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือที่ ส.ป.ท. จ.39/49 ถึงนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องรับผิดชอบเอง เพื่อดำเนินการปรับวิธีการสรรหาผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดปรับวิธีแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดรูปแบบใหม่วิธีพิเศษ คัดสรรมืออาชีพนั่งบริหาร ตั้งความหวังทำสำเร็จเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ โดยสรุปประเด็นหลักๆ คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบใหม่เทเม็ดเงินลงกลุ่มจังหวัดแสนล้าน ให้บุคคลนั่งผู้ว่าฯเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดอายุ 50 ปีต้นๆ ต้องนั่งทำงานต่อเนื่อง 4-5 ปี มีวิธีการเฟ้นหาคนเป็นพ่อเมืองเปลี่ยนจากระบบเดิมที่กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายดำเนินการ แล้วทางรัฐบาลจัดหาผู้ว่าฯให้ที่มีคุณสมบัติหลักต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพ
โดยสมาคมนักปกครองฯ ขอให้กระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครอง เป็นหน่วยงานหลักในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรของกรมการปกครอง และของกระทรวงมหาดไทย เช่น ควรจัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม (Retraining) หรือมีการให้ความรู้ชนิดที่เรียกว่า “ติวเข้ม” โดยใช้เวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมขั้นพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Region) และระดับท้องถิ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับ 4.0 ที่เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาได้เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดแล้ว ควรอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือมากกว่านั้น (เว้นแต่กรณีพิเศษฉุกเฉินที่จะต้องเปลี่ยนตัวบุคคลให้ถือเป็นกรณียกเว้นได้)
มีรายงานว่า สำหรับโครงการพัฒนาภูมิภาค 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด ที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรในปี 2560 ในงบฯสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ 1.7 แสนล้าน วงเงินรวม 10,924639,403 บาท โดย อนุมัติให้ 18 กลุ่มจังหวัด 127 โครงการ วงเงิน 3,460,757,220 บาท และอนุมัติให้ 76 จังหวัด 639 โครงการ วงเงิน 7,463,882,183 บาท โดยได้คัดเลือกโครงการที่มีพร้อม และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และมีการบูรณาการอย่างครบวงจรเป็นอันดับแรก
โดยกระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าว่า โครงการนี้ต้องการยกระดับทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว พัฒนาให้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย กลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม ได้เสนอแผนงานให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดได้งบฯไม่เท่ากัน วงเงินตั้งแต่กลุ่มละ 4.5-6 พันล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการให้เสร็จภายใน ก.ย. 2561 จะใช้ศักยภาพของพื้นที่ลักษณะ Local Economy ให้เศรษฐกิจเติบโตจากภายในประเทศ
สำหรับกลุ่มจังหวัดและจังหวัด (18 กลุ่มจังหวัด) ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบน 1 ภาคเหนือตอนบน 2 ภาคเหนือตอนล่าง 1 ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน 1 ภาคกลางตอนบน 2 ภาคกลางตอนกลาง ภาคกลางตอนล่าง 1ภาคกลางตอนล่าง 2 ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภาคใต้ชายแดน
ทังนี้ กลุ่มจังหวัดเป็นการจัดตั้งกลุ่มจังหวัดในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการบริหารงานแบบบูรณาการ โดยริเริ่มจัดตั้งโดยการกำหนดจังหวัดต้นแบบการบริหารงานแบบบูรณาการ (CEO) ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย