มท.1 สั่งเจรจา ก.พ.ร.ปม “เกณฑ์การประเมินผลงาน 49 จังหวัดรอบแรก สอบตก!” อ้างไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เผยตัวเลข “จังหวัดตัวชี้วัดไม่ผ่าน” อยู่ในระดับต้องปรับปรุง เผย 3 จังหวัดรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ผ่าน ส่วนตัวชี้วัด”ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ 75 จังหวัดต้องปรับปรุงทั้งหมด ส่วนผลประเมิน “นายอำเภอ” 2 ไตรมาสส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ พบร้อยละ 77 สูงกว่ามาตรฐาน
วันนี้ (15 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย หารือกับสำนักงาน ก.พ.ร. ภายหลังพบว่ามีเกณฑ์การประเมินผลการตรวจติดตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ชัดเจน และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงซึ่งอยู่ระหว่างการดจรจากับ ก.พ.ร.
ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร.ได้แจ้งผลการประเมินในระดับจังหวัดตามมาตรการปรับปรุง ประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (คำสั่งหัวหน้า คสช.) รอบการประเมินที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดให้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย (Achievement Monitoring System) จำนวน 17 เรื่อง เพื่อกระตุ้นการทำงาน มีกรอบแนะนำในการทำงานและการติดตามในแต่ละเรื่อง โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบรายพื้นที่ และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยติดตามและประมวลผล ในส่วนของนายอำเภอ กรมการปกครองได้ใช้รูปแบบและจำนวนเรื่องเดียวกันกับผู้ว่าราชการจังหวัด
สำหรับผลการประเมินแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับคุณภาพ มี 1 จังหวัด 2. ระดับมาตรฐาน มี 26 จังหวัด และ 3. ระดับต้องปรับปรุง มี 49 จังหวัด สำหรับ 49 จังหวัดที่อยู่ในระดับต้องปรับปรุง แบ่งออกเป็น ไม่ผ่าน 1 องค์ประกอบ (33 จังหวัด) ไม่ผ่าน 2 องค์ประกอบ (14 จังหวัด) และไม่ผ่าน 3 องค์ประกอบ (2 จังหวัด)
“มีเพียงจังหวัดชัยนาทเพียงจังหวัดเดียวที่ได้เกณฑ์ “คุณภาพ” คะแนนเต็ม 100 คะแนน ขณะที่อีก 26 จังหวัดผ่านการประเมินในเกณฑ์ “มาตรฐาน” เช่น เชียงใหม่ (95) น่าน (95) บึงกาฬ (95) ส่วนอีก 49 จังหวัด อยู่ในเกณฑ์ “ต้องปรับปรุง” โดยมีจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น จ.ขอนแก่น (65) จ.นครราชสีมา (40) ชลบุรี (40) พิษณุโลก (40) และ จ.ภูเก็ต (25) อยู่ในข่ายด้วย ขณะที่จังหวัดชุมพรเพียงจังหวัดเดียวที่มีคะแนน ต่ำสุด เพียง 15 คะแนน”
นอกจากนี้ยังพบว่า ตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านของจังหวัดอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ประกอบด้วย องค์ประกอบรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 3 จังหวัด, องค์ประกอบด้าน ตัวชี้วัดอัตราการตายทารกต่อ การเกิดมีชีพพันคน อัตราคดีอาชญากรรมต่อประชากรแสนคน มูลค่าการค้าชายแดน ความสำเร็จการเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าไม้ อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อประชากร แสนคน มูลค่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ค่าเฉลี่ยรายปีของเบนซินในการควบคุมมลพิษ มาบตาพุด จ.ระยอง และรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน 25 จังหวัด องค์ประกอบด้านประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ (บังคับ) จำนวน 75 จังหวัด และข้อเสนอนวัตกรรม จำนวน 4 จังหวัด องค์ประกอบในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ (บังคับ) จำนวน 28 จังหวัด ทั้งหมดเป็น “ตัวชี้วัดที่ไม่ผ่าน” อยู่ในระดับต้องปรับปรุง
ทั้งนี้ กระบวนการประเมินในระดับจังหวัด ได้แก่ ส่วนที่ 1 สำนักงาน ก.พ.ร. ทำการประเมินจังหวัดโดยตรง และส่งผลการประเมินอย่างไม่เป็นทางการให้กระทรวงมหาดไทย ส่วนที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประเมินทุกจังหวัด ซึ่งจากการหารือกับ สำนักงาน ก.พ.ร. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถประเมินจังหวัดได้อย่าง อิสระ โดยไม่ต้องอ้างอิงกับผลการประเมินของสำนักงาน ก.พ.ร.
มีรายงานว่า สำหรับผลการตรวจติดตามนายอำเภอใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าผ่านมาตรฐาน และสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 77 ส่วนการประเมินกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอำเภอดำเนินการใช้การประเมินในรูปแบบเดียวกัน โดยมี แนวทางการประเมิน 3 ส่วน ได้แก่ งานที่เป็นนโยบาย เช่น ความสะอาดและ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่สาธารณะ ยาเสพติด อาชญากรรม งานในหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และมีการประเมินในรอบ 6 เดือน เพื่อประเมินการทำงานและเลื่อนขั้นค่าตอบแทน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด จะใช้ระบบการตรวจติดตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ ทำงานของนายอำเภอข้างต้น เพื่อให้นายอำเภอตอบสนองต่อการทำงานของจังหวัด
ส่วนการตรวจติดตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยย้ำว่า การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของ กระทรวงมหาดไทย (Achievement Monitoring System) โดยใช้แบบตรวจสอบ (Monitoring Checklist) เพื่อให้มีมาตรฐานในการทำงานที่ใกล้เคียงกันและเป็นการเตือน (Remind) ว่ามีงานที่สำคัญอะไรบ้าง และดำเนินการได้ครบถ้วนหรือไม่ ส่วนการประเมินนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบังคับบัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม รมว.มหาดไทย ได้เสนอว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหาโอกาสพบปะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค และใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนงานในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอเข้าร่วมด้วย