xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รู้ยัง?"คนมหาดไทย"ก็ได้ขึ้นเงินเดือน "สิงห์บ้านนอก-ในเมือง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน"พรึบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นอกจากมติ ครม.เมื่อ 2 สัปดาห์ที่เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางเพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่มเติมอีกร้อยละ 3 ที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำมาพิจารณาบำเหน็จประจำปีได้ จำนวน 721 นาย และให้มีผลในปีงบประมาณ 2560 (1 ต.ค.59-30 ก.ย.60)

คสช.มีทั้งทหารและข้าราชการทั่วไปที่ถูกโอนมาช่วยราชการ จากเว็บไซต์กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ระบุว่า ปัจจุบันมีอัตรากำลังทั้งสิ้น 24,342 อัตรา แบ่งเป็น หน่วยงานส่วนกลาง1,571 นาย และอีก 22,771 นาย กระจายในกองทัพภาคต่าง ๆ มติ ครม.ครั้งแรก เห็นชอบเมื่อ 7 พ.ค.58 ให้ 1,033 นาย ในปีงบประมาณ 2558 ส่วนในปีงบประมาณ 2559 เมื่อ 3 พ.ค.59 ให้อีก 709 นาย  

และหาก คสช.ยังอยู่ ปีงบประมาณ 2561 เชื่อว่า กลุ่มข้าราชการที่เข้ามาช่วยราชการ คสช. ที่ยังไม่ได้ 2 ขั้นก็จะต้องได้รับพิจารณาเช่นกัน

เรื่องเพิ่มเงินเดือน เพิ่มขั้นนอกจาก คสช.แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ก็มีประเด็นนี้เช่นกัน เมื่อนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศเรื่อง “การบริหารวงเงินเลื่อนเงินเดือน ณ วันที่ 1 เมษายน 2560”หลังจากที่ดำเนินการแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารกระทรวงมาสักระยะหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กันไว้เพื่อการบริหารของข้าราชการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 (วันที่ 1 ต.ค.59-31มี.ค.60) 
                 
     ประกอบด้วย ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูงและระดับต้น ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิและระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการ ระดับสูงและระดับต้น ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับชำนาญการ ระดับปฏิบัติการ และประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ระดับชำนาญการ ระดับปฏิบัติงาน (ในราชการบริหารส่วนกลาง) และประเภทบริหาร ดับสูงและระดับต้น และประเภทอำนวยการ ระดับสูง (ในราชการส่วนภูมิภาค) 

เกณฑ์ดังกล่าว ให้แบ่งวงเงินงบประมาณในการเลื่อนเงินเดือน ร้อยละ 3.00 ของฐานอัตราเงินเดือน ณ วันที่ 1 มีนาคม 2560 ดังนี้ วงเงินร้อยละ 2.90 จัดสรรให้ข้าราชการในแต่ละกลุ่มโดยนำผลการประเมินมาประกอบเลื่อนเงินเดือน ส่วนระดับภูมิภาคที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประเมินให้บริหารวงเงินการเลื่อนเงินเดือนไม่เกินร้อยละ 2.90 และจังหวัดอาจพิจารณาแยก/รวมวงเงินตามความเหมาะสม

กำหนดวงเงินที่ ร้อยละ 0.10 ไว้เพื่อบริหารวงเงินในภาพรวม โดยจะจัดสรรให้แก่ข้าราชการในแต่ละกลุ่มด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีการเลื่อนเงินเดือนให้ข้าราชการในโควตาพิเศษ โดยจะรับเพิ่มเติมจากอัตราปกติ ไม่เกินร้อยละ 1.00 /คน แต่ต้องเป็นข้าราชการที่ได้รับการประเมินในระดับดีเด่นหรือระดับดีมาก และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และบังเกิดผลดีต่อราชการ

นอกจากข้าราชการระดับสูงในมหาดไทยแล้ว เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันประเทศไทยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ทั้งสิ้น 263,360 คน

เนื้อหาของระเบียบดังกล่าวคือ การแก้ไขเรื่องเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ซึ่งเดิมในระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2552 ในสมัย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย ได้กำหนดไว้ว่า กำนันให้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท, ผู้ใหญ่บ้านเดือนละ 8,000 บาท และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบให้จ่ายเดือนละ 5,000 บาท
                    
  โดยระเบียบใหม่ให้จ่ายตามอัตราในบัญชีท้ายระเบียบ ซึ่งจะมีอัตราขั้นต้นเหมือนเดิม แต่จะมีการกำหนดขั้นเพิ่มเติมขึ้นมาเหมือนข้าราชการทั่วไป โดยมีทั้งสิ้น 25 ขั้น โดยแต่ละขั้นจะมีการขยับในอัตรา 200 บาทต่อขั้น ซึ่งกำนันจะมีเพดานสูงสุดที่ 15,000 บาท ผู้ใหญ่บ้าน 13,000 บาท และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบเดือนละ 10,000 บาท
                
      ในรอบปีงบประมาณหนึ่งๆ จะเลื่อนได้ไม่เกิน 2 ขั้น และให้ได้รับการเลื่อน 2 ขั้นติดต่อกันไม่เกินกว่า 2 ครั้ง โดยต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้ ส่วนกรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ได้กำหนดให้มีสิทธิได้เลื่อนขั้นเงินตอบแทนได้ไม่เกิน 7 ขั้น และหากบาดเจ็บสาหัส หรือทุพพลภาพในขณะปฏิบัติ

หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนขั้นเงินตอบแทนนั้น ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการประเมินว่า

1.ในรอบปีที่แล้วมาต้องได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 เดือน หรือได้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย

2.ในรอบปีที่แล้วมา ต้องไม่ถูกสั่งลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่ถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

3.ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ถูกสั่งพักหน้าที่เกินกว่า 4 เดือน

4.ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 1 ต.ค.ของปีที่มีการเลื่อนขั้นเงินตอบแทนตำแหน่ง

ระเบียบนี้ ยังกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานจะดำเนินการประเมินปีละ 1 ครั้งตามปีงบประมาณ คือ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-30 ก.ย.ของปีถัดไป เพื่อเลื่อนขั้นเงินตอบแทนตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค.ของปีงบประมาณถัดไปจากปีที่ประเมิน

กำหนดไว้ที่การปฏิบัติงานและสัดส่วนการให้คะแนนประเมินนั้นจะมีคะแนน 100 คะแนนเต็ม โดยให้ประเมินด้านผลงาน 60 คะแนน และด้านคุณลักษณะการปฏิบัติงาน การประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมกับตำแหน่ง 40 คะแนน โดยผู้ที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินตอบแทนตำแหน่ง 1 ขั้น ต้องมีระดับผลการประเมินไม่ต่ำกว่าระดับพอใช้ ส่วนผู้ที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินตอบแทนตำแหน่ง 2 ขั้น ต้องมีระดับผลการประเมินไม่ต่ำกว่าระดับดีเด่น

โดยผู้ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินตอบแทนเพิ่ม 2 ขั้น ต้องมีจำนวนไม่เกิน 15% ของจำนวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ที่มีอยู่รวมกันในแต่ละพื้นที่ และผู้ที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินตอบแทนตำแหน่ง 2 ขั้น จะได้รับติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ส่วนการคำนวณหาโควตา 2 ขั้น 15% ของจำนวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบของแต่ละอำเภอเป็นฐานในการคำนวณเหลือเศษเท่าใดให้นำมารวมไว้ที่จังหวัด และให้เป็นดุลยพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าจะจัดสรรเพิ่มให้อำเภอใด

ท้ายสุดนี้มีข่าวแว่วๆ ว่า มหาดไทย กำลังจะพิจารณาค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ อส. หรือ อปพร. สังกัดมหาดไทย จำนวน 371,663 นาย ( ข้อมูลจำนวน อปพร. ทั่วประเทศ ปี 2559)
 
กำหนดหลักเกณฑ์ คร่าว ๆดังนี้ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ให้ได้รับค่าใช้จ่าย จำนวน 100 บาท กรณีการปฏิบัติหน้าที่เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมง ได้ค่าใช้จ่าย จำนวน 200 บาท และ กรณีการปฏิบัติหน้าที่เกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ได้รับค่าใช้จ่าย จำนวน 300 บาท”

ทั้งนี้ จะต้องเป็น อส.ที่ได้รับคำสั่งจากระดับผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย แล้วแต่กรณีเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเขตพื้นที่หรือนอกเขตพื้นที่รับค่าใช้จ่ายในอัตราต่อคนต่อวัน

อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังค้างอยู่ในส่วนของ “ร่างระเบียบคณะกรรมการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”แว่วว่า หลายปีแล้วด้วย .


กำลังโหลดความคิดเห็น