xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ประเมิน49จว.สอบตก ชัยนาทผ่านคุณภาพเต็ม100

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดผลการประเมินประสิทธิภาพจังหวัดรอบแรก ตามคำสั่ง ม.44 ของหัวหน้าคสช. "มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ" พบ49 จังหวัดสอบตก "ขอนแก่น โคราช ชลบุรี พิษณุโลก ภูเก็ต" อยู่ในเกณฑ์"ต้องปรับปรุง" คะแนนต่ำกว่า 40 "ชัยนาท"จังหวัดเดียวผ่าน"ระดับคุณภาพ 100 เต็ม" ส่วนอีก 26 จังหวัด ผ่านเกณฑ์"มาตรฐาน" เตรียมประเมินอีกรอบ ถึง 30 ก.ย.นี้

วานนี้ (11 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากหัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ออกคำสั่ง ที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.59 และต่อมา คณะรัฐมนตรี เมื่อ 5 เม.ย. 59 เห็นชอบแบบประเมินส่วนราชการตามคำสั่ง หัวหน้าคสช. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานของส่วนราชการ ในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล การแก้ไขปัญหา และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพของส่วนราชการ ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

ล่าสุด มีรายงานว่า สำนักงานก.พ.ร. โดยคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ(ค.ต.ป.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาผลการตรวจสอบ และประเมินผลภาคราชการ และจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2560 ได้จัดส่งผลการประเมินผลส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เฉพาะในส่วนของจังหวัด 76 จังหวัด ให้กับจังหวัดต่างๆ แล้ว ซึ่งเป็นผลการประเมิน รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ถึงวันที่ 31 มี.ค.60

ทั้งนี้ พบว่ามีเพียงจังหวัดชัยนาท เพียงจังหวัดเดียว ที่ได้เกณฑ์“คุณภาพ”วงกลมสีเขียว คะแนนเต็ม 100 คะแนน ขณะที่อีก 26 จังหวัด ผ่านการประเมินในเกณฑ์“มาตรฐาน”วงกลมสีเหลือง เช่น เชียงใหม่ (95) น่าน (95) บึงกาฬ (95) ส่วนอีก 49 จังหวัด อยู่ในเกณฑ์“ต้องปรับปรุง”วงกลมสีแดง โดยมีจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น จ.ขอนแก่น (65) จ.นครราชสีมา (40) ชลบุรี (40) พิษณุโลก (40) และ จ.ภูเก็ต (25) อยู่ในข่ายด้วย ขณะที่ จ.ชุมพร เพียงจังหวัดเดียว ที่มี คะแนน ต่ำสุดเพียง 15 คะแนน

สำหรับรอบการประเมินส่วนราชการ และจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กำหนดรอบการประเมินตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้ รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ถึง 31 มี.ค.ของทุกปี รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึง 30 ก.ย.ของทุกปี

โดยการประเมิน ครั้งที่ 1 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติราชการ และทำความเข้าใจให้ตรงกัน ถึงนิยาม และวิธีการประเมินผลตัวชี้วัด รวมทั้งสังเกตการณ์สถานที่ดำเนินการ และสถานที่ให้บริการที่สอดคล้องกับการปฏิบัติราชการ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ส่วนครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และตรวจสอบเอกสารหลักฐานอ้างอิง ที่ใช้ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น