xs
xsm
sm
md
lg

หรือจะเป็นการท้าทายอำนาจรัฐและอำนาจในการตรวจสอบเงินแผ่นดินของ สปสช.?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย โดยนำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปจ่ายให้กับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ปีละหลายร้อยล้านบาท อีกทั้งกรรมการบอร์ด สปสช. บางคนและกรรมการในอนุกรรมการ บางคน เป็นผู้บริหารขององค์กรเอกชน มูลนิธิ ชมรมต่างๆ และได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปให้หน่วยงานที่ตนเองดูแล หรือไปใช้ผ่านองค์กรอิสระ เช่น สวรส. ในรูปของงานวิจัย กิจกรรมต่างๆ ถือว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีลำดับเหตุการณ์ที่น่าสนใจดังนี้

ปี 2554 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานผลการตรวจสอบ สปสช.สำนักงาน ส่วนกลาง โดย พบว่า

1) เลขาธิการได้อนุมัติให้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 95,325,000 บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อการดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข

2) การนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัว ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ เพื่อการดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลกระทบทำให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามที่ควรจะเป็น

3) การให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นดำเนินโครงการมักจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและค่าธรรมเนียมสถาบันอย่างน้อยร้อยละ 10 ของงบประมาณที่ได้รับทั้งหมด มีผลกระทบทำให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามที่ควรจะเป็น

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1) ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน

2) ให้เลขาธิการกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาเขตพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของแต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด

สปสช. ได้ชี้แจงโต้แย้งผลการตรวจสอบของ สตง. ดังนี้

1) การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) ถูกกำหนดภายใต้ขอบเขตตาม พ.ร.บหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 38 ที่กำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยคำนึงถึงการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอ หรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 18 ออกระเบียบ และประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุน โดยมี สปสช. เป็นผู้บริหารกองทุนตามมาตรา 26 โดยการออกประกาศ เรื่องการบริหารจัดการงบกองทุนในแต่ละปีและจัดทำคู่มือการบริหารงบกองทุนประจำปี ซึ่งจะแสดงรายละเอียดที่สำคัญของการบริหารจัดการกองทุน และเผยแพร่อย่างกว้างขวางให้กับทุกหน่วยบริการ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้สนใจ ได้ทราบแนวทางปฏิบัติ

2) รายละเอียดในระเบียบ สปสช. ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2546 ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกตามมาตรา 40 ข้อ 10 ที่กำหนดว่า "การจ่ายเงินกองทุนให้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนด

ปี 2555 สปสช. ได้ดำเนินการออกระเบียบ เพิ่มเติม คือ ระเบียบ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2555 โดยขยายขอบเขตให้เลขาธิการ สามารถจ่ายเงินกองทุนฯ ได้เพิ่มเติมจากระเบียบเดิม ปี 2546 สาระสำคัญ เป็นการเพิ่มเติมระเบียบ เพื่อให้สามารถ

(1) จ่ายเงินให้แก่องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกขนที่ไม่มีวัตลุประสงค์เพื่อ ดำเนินการแสวงหาผลกำไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 18 และมาตรา 47

(2) จ่ายเป็นเงินสนับสนุนและส่งเสริมการจัดจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ รวมทั้ง การพัฒนาระบบบริการและบุคลากรตามที่คณะกรรมการจัดสรรให้ในแต่ละปี

เมื่อวันที่ 15 พค 2558 คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้รายงานผลการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของ สปสช. ซึ่งตรวจพบความบกพร่องในการบริหารการเงินกองทุน มีการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีทั้งหมด 6 ประเด็น และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องในกรณี นี้ คือ ประเด็นที่ 3 บริการสร้าง เสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกอบด้วย

3.1 การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน หรือองค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ตรวจพบว่า สปสช.ได้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิและบุคคล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มิได้เป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 130/2558 รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นที่ คตร.สรุปมา 6 ประเด็นหลัก

วันที่ 17 สิงหาคม 2558 สปสช. มีหนังสือ ที่ สปสช. 4.03/ว.154 แจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการดำเนินการ เรื่อง ให้ยุติการทำนิติกรรมจ่ายเงินกองทุนให้แก่หน่วยงานภาครัฐ/องค์กรภาคเอกชน ที่มิได้เป็นหน่วยบริการไว้ก่อน

วันที่ 21 กันยายน 2558 กระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมาย เนื่องจาก คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี โดยรายงานดังกล่าวมีความเห็นแตกต่างจากความเห็นของ คตร.ในประเด็นที่1 ประเด็นที่3 และประเด็นที่5

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือของกระทรวงสาธารณสุข ข้อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีดังนี้

...แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มูลนิธิหรือองค์กรเอกชน(ภาคประชาชน) จะมิได้เป็นหน่วยบริการและเครือข่ายบริการก็ตาม แต่การจ่ายเงินจากกองทุนตามที่กระทรวงสาธารณสุขขอหารือนั้น หากเป็นไปเพื่อการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอหรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสม ประกอบด้วยตามมาตรา38 วรรคสอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพจึงมีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิหรือองค์กรเอกชน(ภาคประชาชน)ได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 47 ประกอบกับมาตรา 18(9) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

อนึ่ง ตามข้อความที่ กระทรวงสาธารณสุขได้หารือ ชี้แจงความเป็นมา ได้อ้างถึงอำนาจของบอร์ด สปสช.ได้ออกระเบียบ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2546 แก้ไข พ.ศ. 2555 ข้อ 11 กำหนดให้การจ่ายเงินกองทุนให้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น โดย (5) จ่ายให้แก่องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกขนที่ไม่มีวัตลุประสงค์เพื่อ ดำเนินการแสวงหาผลกำไร และ (6) จ่ายเป็นเงินสนับสนุนและส่งเสริมการจัดจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ รวมทั้ง การพัฒนาระบบบริการและบุคลากรตามที่คณะกรรมการจัดสรรให้ในแต่ละปี

วันที่ 4 มกราคม 2559 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

วันที่ 18 มกราคม 2559 สปสช. มีหนังสือ ที่ สปสช. 4.03/ว.2 แจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการ ตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 4 มกราคม 2559 เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2559 เป็นหลักและเพิ่มเติมเรื่องต่างๆ ตามหนังสือที่แจ้งนี้ ไปพลางก่อน

วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

คสช. ได้มี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยที่ได้ปรากฏว่าการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเหตุขัดข้องบางประการ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและประสิทธิภาพของการให้บริการของหน่วยบริการ ส่งผลกระทบถึงการให้บริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยรวม

ข้อ 4 การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 และข้อ 3 ให้เป็นไป

ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง การออกประกาศตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ มีผลใช้บังคับ

ข้อ 5 การจ่ายเงินและการรับเงินซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2558 หากผลการตรวจสอบของ

กระทรวงสาธารณสุขพบว่าได้ดำเนินการโดยสุจริตและสอดคล้องกับประกาศตามข้อ 4 ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น ตามคำสั่งนี้ด้วย

ข้อ 6 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จนถึงวันที่พระราชบัญญัติ

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตามคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

วันที่ 12 ตุลาคม 2559 กระทรวงสาธารณสุข ได้มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 ตามคำสั่งของ คสช. ข้างต้น

หลังจากนั้นก็เกิดความเงียบ ไม่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตใน สปสช. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2559 แต่อย่างใด จะถือว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. ซึ่งมีศักดิ์เป็นกฎหมายในระดับเดียวกับพระราชบัญญัติเพราะเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ และประชาชนควรได้รับทราบผลการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า สปสช. ได้ดำเนินการโดยสุจริตหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีคำถามที่ควรตอบให้ได้เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน

ข้อ 1 การที่NGO หรือหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ สามารถรับเงินกองทุนฯ ไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุขได้
ถือว่าเป็นการก้าวล่วงและทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐ ที่รับผิดชอบหรือไม่?
ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่ซ้ำซ้อนและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนด้านบริการสาธารณสุขหรือไม่?
ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการ “เวียนเทียน” นำโครงการมาหมุนเวียนขอเงินทุนสนับสนุน ในทุกๆปี หรืออาจมีการขอข้ามกองทุนโดยใช้โครงการชุดเดิมหรือไม่?
ถือว่ามีความจำเป็นให้ NGO หรือหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ รับเงินทุนไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุขหรือไม่?

ต่อไป NGO สามารถก้าวล่วงการดำเนินงานของกระทรวงอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม โดยอ้างทำเพื่อประชาชน เช่นนั้นหรือไม่ หรือควรให้ NGO มาควบคุมการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ และงบที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ด้วยหรือไม่?

ข้อ 2 การที่หน่วยงานถูกตรวจสอบว่ากระทำผิดกฎหมาย แต่กลับมีพฤติกรรม ตอบโต้เพื่อหักล้างมติของหน่วยงานตรวจสอบทางการเงินของรัฐ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และใช้ยุทธวิธีทุกอย่าง เพื่อลบล้างความผิดของหน่วยงานตนเอง และสามารถเขียน แก้ไขกฎหมายใหม่ ฟอกขาวความผิดเดิมให้สามารถทำซ้ำต่อได้อย่างถูกกฎหมาย เช่นนี้ ผู้มีอำนาจสูงสุดในการใช้กฎหมาย จะมีความเห็นเช่นไร?

ถ้าหากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ จะทำเช่นเดียวกันนี้ จะเกิดผลเสียของประเทศอย่างไร?

เหตุใดหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ถึงยอมปฏิบัติตามผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบทางการเงินของรัฐ ทำไม สปสช. ถึงไม่ยอมปฏิบัติตาม เพราะมีฐานการเมืองจากตระกูล ส และ มวลชนหรือไม่?

ข้อ 3 จากการลำดับการกระทำ ของ สปสช. และแกนนำ ตระกูล ส. เรื่องการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ท่านคิดว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจรัฐและท้าทายอำนาจในการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน หรือไม่ และควรจัดการต่อไปอย่างไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น