xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์พลังงาน

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไหนๆ...อีกไม่นานเราคงต้องมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” อย่างเป็นทางการ แถมใครที่ไม่คิดจะเดินตามยุทธศาสตร์ที่ว่านี้อาจมีสิทธิติดคุกอีกต่างหาก!!! ดังนั้น...ไม่ว่ารูปร่าง หน้าตาของยุทธศาสตร์ชาติ หรือผู้ที่จะเข้ามานั่งไล่เรียงยุทธศาสตร์ชนิดยืดยาวไปเป็น 10-20 ปี จะสูง-ต่ำ-ดำ-ขาว หล่อ-ไม่หล่อ ดี-ไม่ดี ชั่ว-ไม่ชั่ว ยังไงก็ตามที แต่อย่างน้อย...คงต้องขอฝาก “ยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน” เอาไว้ก่อนล่วงหน้า...

ด้วยเหตุเพราะแนวโน้มการใช้พลังงานของโลกทุกวันนี้...มันออกจะเปลี่ยนไปรวดเร็วเอามากๆ ใครที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า ทันสมัย เก่ง ฉลาด วิสัยทัศน์ยาวไกลอีเหลนเป๋น เผลอๆ อาจกลายสภาพเป็นไอ้โฮ่ (โง่) ไอ้หลังเขาเป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี เอาง่ายๆ อย่างประเภทที่ยอมควักเงินลงทุนถึง 325 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.17 หมื่นล้านบาท) ไปซื้อหุ้นบริษัท “AI” (Adaro Indonesia) เพื่อเข้าไปถือหุ้นประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย สามารถเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะเห็นชอบ ชนิดลิงต้องยื่นกล้วยให้ทั้งหวี จนผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรีนับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา แต่มาถึงบัดนี้...โอกาสที่มีแต่ “ตาย...กับ...ตาย” มันน่าจะอยู่ไม่ใกล้-ไม่ไกลนับจากนี้...

อันเนื่องมาจาก “พลังงานถ่านหิน” ยุคนี้ หรือนับจากนี้ ได้ถูกสรุปเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน จากบรรดาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่รู้กี่รายต่อกี่รายว่าถือเป็น “พลังงานที่ตายแล้ว” เหมือนอย่างที่กระทั่ง “นายจิม แบร์รี่” (Jim Barry) หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนของกลุ่มบริษัท “BlackRock” ได้บอกไว้กับผู้สื่อข่าวอิสระของนิตยสารออนไลน์ “The Diplomat” นั่นแหล่ะว่า “Coal is Dead” โดยให้เหตุผลแบบสั้นๆ ง่ายๆ แต่ก็พอมองเห็นภาพ คือบอกเอาไว้ว่า... “แม้ไม่อาจพูดได้ว่าโรงงานถ่านหินทั้งมวลจะต้องปิดตัวเองลงไปในวันนี้-พรุ่งนี้ แต่ใครก็ตามที่ (พอมีวิสัยทัศน์) มองออกไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ล้วนแล้วแต่เห็นพ้องต้องกันว่า การลงทุนในกิจการถ่านหินนั้น แทบไม่ต่างไปจากเกมการพนันเราดีๆ นี่เอง...”
โรงไฟฟ้าถ่านหิน
คือขณะที่ลูกค้าหลักๆ ของบริษัทเหมืองถ่านหิน “AI” ในอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วยจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสเปน ฯลฯ แต่โดยแนวโน้มการใช้พลังงานของบรรดาประเทศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่พยายามหันไปหา “พลังงานหมุนเวียน” หรือ “พลังงานสะอาด” กันไปเป็นแถบๆ จากช่วงปี ค.ศ. 2002-2012 ที่ความต้องการพลังงานถ่านหินเคยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยมีลูกค้าหลักๆ ในตลาดเอเชียอย่างจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่กำลังเติบโตเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเป็นตัวรองรับ โดยเฉพาะจีนนั้น นำเข้าถ่านหินถึง 341 ล้านตัน มูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อินเดียตามมาติดๆ นำเข้าถึง 210 ล้านตัน โดยมีเกาหลีใต้และญี่ปุ่นทิ้งห่างไปจากกันไม่กี่มากน้อย ส่งผลให้อินโดนีเซียและออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกถ่านหินถึง 63 เปอร์เซ็นต์ในตลาดโลก รวยกันชนิดระเบิดเถิดเทิง...

แต่พอเริ่มย่างเข้าสู่ปี ค.ศ. 2015 ทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแบบชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังตีน หรือหลังตีนเป็นหน้ามือก็แล้วแต่จะคิด ความพยายามที่จะนำพาประเทศเข้าสู่ “อารยธรรมแห่งนิเวศน์” หรือความพยายามแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อโลก ตาม “ข้อตกลงปารีส” ที่จีนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย หรือไม่ อย่างไร ก็แล้วแต่ การนำเข้าถ่านหินของจีนลดฮวบๆ ฮาบๆ ลงไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์เอาเลยทีเดียว และปีที่แล้วก็ยังคงลดต่อเนื่องมาตามลำดับ พร้อมๆ กับการสั่งปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินแทบทั่วประเทศ แผนการก่อสร้างโรงงานถ่านหินรายใหม่ๆ ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ไม่ต่างอะไรไปจากอินเดีย ที่แทบเรียกได้ว่า...การหันมาหาพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด แทบกลายเป็น “แฟชั่น” ของแขกอินตะระเดียไปแล้วก็ว่าได้ ชนิดที่ทำให้ต้นทุนการผลิต “พลังงานแสงอาทิตย์” ลดต่ำลงพอๆ กับต้นทุนราคาถ่านหินเอาเลยถึงขั้นนั้น กระทั่งรัฐที่กำลังเร่งรัดพัฒนาที่กระหายหิวพลังงานเอามากๆ อย่างเช่น รัฐอุตตรประเทศ เป็นต้น รัฐบาลท้องถิ่นยังตัดสินใจประกาศยกเลิกโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน จำนวน 7,000 เมกะวัตต์เอาดื้อๆ!!!

ส่วนเกาหลีใต้นั้น...หลังจากที่นักการเมืองเสรีนิยมหัวก้าวหน้า อย่าง “นายมุน แจอิน” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี การประกาศพร้อมจะลด-ละ-เลิก การใช้พลังงานถ่านหินก็ตามมาติดๆ เหลือแต่ญี่ปุ่น ที่ด้วยเหตุเพราะโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ถูกสึนามิ แผ่นดินไหวเล่นงาน จนยังต้องอาศัยถ่านหินเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงทางพลังงานชนิดไม่เหลือทางเลือก แต่โดยสรุปรวมความแล้ว...อาจกล่าวได้ว่าแกนกลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ อย่างจีนและอินเดีย ประเทศที่มีประชากรรวมกันเกือบครึ่งโลก ต่างหันมาถีบทิ้งถ่านหินกันอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการเอาเลยก็ว่าได้ ส่งผลให้ในช่วงปีที่ผ่านมามูลค่าถ่านหินหดหายไปจากโลก ไม่น้อยไปกว่า 74,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 43.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือมูลค่าการซื้อๆ-ขายๆ อยู่แค่ประมาณ 131,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง...

ผู้สื่อข่าวอิสระที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา อย่าง “Nithin Coca” แห่งนิตยสาร “The Diplomat” ถึงได้สรุปเอาไว้ว่า...ถ้าหากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมหันมาเดินตามแบบอย่างที่จีนและอินเดีย ซึ่งถือเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว นั่นเท่ากับว่า...“ศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกไม่คิดจะพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในการเติบโตอีกต่อไปแล้ว” หรือ “ยุทธศาสตร์พลังงานของโลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว” เหลืออยู่แต่ผู้ที่มีวิสัยทัศน์มืดบอด ผู้ที่ต้องกอดศพ กอดพลังงานที่ตายแล้ว ด้วยเหตุเพราะไม่มีทางเลือกเท่านั้นเอง ที่ต้องทำมาหารับประทานกับพลังงานถ่านหินต่อไป ซึ่งบรรดาประเภทนี้นี่แหละ...ที่จะต้องหาทาง “ถีบออกไปให้ห่างๆ” จากยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่ารูปร่างหน้าตายุทธศาสตร์จะออกมาในแบบไหน อย่างไร ก็ตามที...
กำลังโหลดความคิดเห็น