xs
xsm
sm
md
lg

"เสกสรรค์"ชี้ไทยแลนด์4.0-ประชารัฐ กลไกสืบทอดอำนาจทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เสกสรรค์ กล่าวว่า ความหมายของการเมืองที่จะใช้วันนี้ เป็นการเมืองในระดับกว้างสุด กินความรวมทั้งนักการเมืองในระบบ และนักการเมืองนอกระบบ ทั้งที่แสวงหาชัยชนะในการเลือกตั้ง และแสวงหาอำนาจโดยผ่านการแต่งตั้ง
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่าน มักการพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยยะ เพียงนักการเมือง และพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจกันผิดว่า มีแต่นักการเมืองที่เล่นการเมือง ฝ่ายอื่นๆไม่ได้เล่นการเมือง คำพูดแบบรวบรัดดังกล่าว เมื่อนำมาบวกกับเรื่องของคนดี คนไม่ดี จึงได้ข้อสรุปว่า นักการเมืองที่เคยกุมอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง ล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่ในเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี ซึ่งคำพูดดังกล่าวขัดต่อหลักธรรมชาติของความจริง เพราะที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการเมือง มีคนเล่นการเมือง เล่นคนที่มาเกี่ยวข้องกับอำนาจ มีดีมีชั่วบ่นกันไป ตั้งแต่ 22 พ.ค.57 มาจนถึงการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะมีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี เอาคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจ
ดังจะเห็นได้จากรธน.ฉบับใหม่ ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นระบบใหม่ ที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสม ที่ทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลง ขณะเดียวกันก็ ส่งเสริมโอกาสของพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อการตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองก็ถูกลดความสำคัญลง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นั่นเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ให้ชนชั้นนำภาครัฐ อย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ราชการชั้นสูง เป็นทั้งกรรรมการสรรหา และได้รับการสรรหา มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และกลไกคคุมต่างๆ และบทบาทอำนาจฝ่ายตุลาการ ได้ถูกยกระดับให้สูงขึ้น และแผ่ขยายออกไปมาก
ที่สำคัญบทเฉพาะกาล ยังได้กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรก มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.ในการรับรอง หรือไม่รับรองนายกฯ สามารถให้นายกฯอยู่นอกรายชื่อของพรคการเมืองได้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของรธน. อยู่ตรงไหน
"ดังนั้นฉากที่จะเกิดขึ้นคือ พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง ผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกันพรรคที่เคยชนะพวกเขา"
นอกจากนี้ หากดูบทบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฎิรูประเทศกับ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องออกมาภายใน4 เดือน หลังประกาศใช้รธน. หมายถึงรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง แทบกำหนดนโยบายเพิ่มไม่ได้เลย และอาจจะต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายคสช.เสียเอง และรธน.ก็ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบแก้ไม่ได้ ก็เพื่อตรึงโครงสร้างดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้นเมื่อบวกกับช่วงรัฐบาลทหารปกครองโดยตรง การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐ ก็จะคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี
ดร.เสกสรรค์ กล่าวว่า การยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐในครั้งนี้ มีมวลชนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย และถ้าติดตามข่าวสารในสื่อหลัก และในโซเชียลมีเดีย จะพบว่า ปัจจุบัน มีคนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยมากขึ้น บรรดากลุ่มทุนใหญ่ และกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง ดูค่อนข้างจะสบายใจกับรัฐบาลอำนาจนิยม มากว่ารัฐบาลประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
"คำตอบน่าจะอยู่นโยบายสองประการ คือ หนึ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สอง นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ด้วยกลไกประชารัฐ หากดูภายนอกแล้วนโยบายทั้ง 2 อย่างดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าเป็น มาสเตอร์แพลน ในการช่วงชิงมวลชน และการสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐ ที่แยบยลมาก เป็นส่วนสำคัญของการยึดพื้นที่ทางการเมือง เพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบ และบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน"
นโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีจุดหมายที่ดี ในการมุ่งพาประเทศก้าวให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่คำถามมีอยู่ว่า คนไทยพร้อมแค่ไหน ในการก้าวไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ 4.0 ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ยังเข้ามาเป็นอุปสรรค จากตัวเลขผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน แรงงานในระบบ มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปถึง 46 เปอร์เซ็นต์ และสัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5 เปอร์เซ็นต์ เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม ในจำนวนนี้มี 1.2 ล้านคนที่ไม่มีการศึกษาเลย ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งมีอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัวยกระดับทักษะให้เป็นแรงงาน 4.0 คงทำได้ยากทีเดียว ยิ่งกว่านั้น อำนาจต่อรองของคนงาน ลดลงมาก เพราะการผลิตการค้าและบริการ นับวันจะใช้แรงงานคนน้อยลง โดยมีคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงยังแก้ไม่ตก
แต่ผู้บริหารปัจจุบันรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว จึงหันมาใช้รัฐสวัสดิการอ่อนๆ ระบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อลดแทนแรงกดดันจากชนชั้นล่างสุด จึงได้เตรียมงบประมาณไว้ถึง 8 หมื่นล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือดูแลคนจนที่มาลงทะเบียนไว้14 ล้านคน โดยคิดยุทธศาตร์ที่ว่า กลไก “ประชารัฐ" ขึ้นมา เป็นเครื่อง
จักรใหญ่อีกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยรัฐราชการ เสนอตัวเป็นแกนนำประสานระหว่างทุนให้กับธุรกิจรายย่อย หรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ โดยมีเครือชข่ายภาคประชาสังคม เป็นภาคีขับเคลือนด้วย ด้วยเหตุดังนี้นโยบาประชารัฐ จึงมีนัยยะทางการเมืองสูงมาก
การจับมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวสู่มวลระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง เรื่องนี้หากทำสำเร็จก็จะส่งผลให้ การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้
สิ่งที่คสช.เสนอ นับเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ต่อนักการเมือง และพรรคการเมือง ตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ ท็อปดาวน์ ก็คงต้องมีข้อเสนอแตกต่างในระดับที่แกรนด์พอๆ กัน ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำ ภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ พรรคเหล่านั้น ก็เป็นแค่กลุ่ม แสวงหาอำนาจ และเป็นแค่ส่วนตกแต่งของพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการ และควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่ง ล้วนเติบโต จากช่วงระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงคุ้นเคยกับการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกคนนอก
"ดังนั้นฉากที่จะเกิดขึ้นคือ พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง ผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกั้นพรรคที่เคยชนะพวกเขา มาในการเลือกตั้งหลายครั้งหลัง และชิงส่วนแบ่งทางอำนาจมาไว้กับตน แม้จำต้องเล่นบทพระรองก็ตาม"
การดูหมิ่นหยามนักการเมือง และพรรคการเมือง และสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผยตลอดมา คือมักจะใช้วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชัน พุ่งเป้าใส่พรรคการเมือง ซึ่งตอนแรกอาจหมายถึงพรรครัฐบาลที่ถูกโค่น แต่ต่อมากับออกไปในทางเหมารวมนักการเมืองทั้งหมด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ราชการ กับพ่อค้า นักธุรกิจต่างหาก ที่เป็นต้นตอการทุจริตในประเทศไทย และการคอร์รัปชัน ก็ไม่ได้หายไปในช่วงการปกครองแบบอำนาจนิยม
ส่วนคำถาม 4 ข้อ เรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งฝ่ายรัฐ ตั้งขึ้น และรณรงค์ให้ช่วยกันตอบ แท้จริงแล้วคือ การเปิดฉากรุกทางการเมือง ต่อบรรดานัการเมืองอีกระลอกหนึ่ง โดยช่วงชิงก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เพื่อสถาปนาความชอบธรรมของตน และลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง
ในตอนท้าย ดร.เสกสรรค์ ชี้ว่าการเมือง ในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้ง 2 ทาง ทางแรกนักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผลัดหน้าทาแป้ง กับชนชั้นนำภาครัฐ ที่จะกุมอำนาจต่อ ในฐานะรัฐบาลประชาธิไตย กลายเป็นการเมืองระบอบ เกี้ยเซียะ หรือ เกี้ยเซียะธิปไตย ทางที่สอง พรรคการเมืองสวนใหญ่ อาจจะผนึกกำลังกัน ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะ ข้อโต้แย้ง เชิงนโยบายที่แตกต่าง จากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษณ์นิยม ถ้าเกิดขึ้นจริง จะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการเมืองในประเทศเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น