xs
xsm
sm
md
lg

“เสกสรรค์” ชี้ รัฐบาลทหารเมินแก้ขัดแย้งแต่ดันชาติตามวิสัยทัศน์ คาดรักษาพื้นที่อำนาจไม่ต่ำ 9-10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ชี้ รัฐบาลทหารไม่ได้รีบแก้ความขัดแย้ง แต่ผลักดันชาติให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ตน ระบุรัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนชนชั้นนำทวงคืนและรักษาพื้นที่อำนาจไว้ถาวร พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ ทำรัฐบาลเลือกตั้งต้องสืบทอดนโยบาย คสช. คาดคงอำนาจไม่ต่ำกว่า 9 - 10 ปี ชม ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งหมายดี แต่คนไทยพร้อมแค่ไหน ส่วนประชารัฐมีนัยการเมืองสูง แปรความขัดแย้งชนชั้นเป็นความร่วมมือ แนะพรรคจับมือโชว์การพัฒนาและปฏิรูปที่เหนือกว่า งงหัวก้าวหน้ารังเกียจภาคประชาชน

วานนี้ (19 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา เรื่อง การเมืองไทย กับ สังคม 4.0 ในงานเสวนา Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ ตอนหนึ่งว่า ในช่วง 3 - 4 ปี ตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้ง จนมีรัฐประหาร จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมีคนเชื่อว่า ตัวเองกำลังทำความดี การเอาคนไม่ดีลงจากอำนาจ จากนั้นเขียนกติกาใหม่ ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจแล้วยกอำนาจให้กับฝ่ายคนดี ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นยังทำให้เห็นว่าใครขัดแย้งกับใคร เพราะอะไร พวกถูกกล่าวหาเป็นคนไม่ดีนั้นล้วนผูกติดกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวกถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมืองกับแกนนำที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นก็ส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐให้ช่วยลงดาบสุดท้าย

“ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2556 - 2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งจากมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกัน แต่อาจกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนนั้นนำเก่าภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนที่ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกกุมกลไกรัฐราชการฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน เป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำเหลืองแดง ในขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกสมการ การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้นสังเกตได้จากการที่นับวันอคติของพวกเขายิ่งขยายจากการรังเกียจนักการเมืองบางตระกูลไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม ความรังเกียจต่อคู่ชิงอำนาจ” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวต่อว่า หลังรัฐประหารแทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการเมืองเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน เป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ก็สะท้อนว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร จำกัดพื้นที่นักการเมืองไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเดิมเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ส่งเสริมโอกาสพรรคขนาดกลางและเล็ก จะทำให้การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก ระบบเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อได้ถูกดัดแปลงให้ขึ้นต่อการเลือกตั้ง ส.ส. เขต ทำให้การเสนอนโยบายระดับชาติของพรรคถูกลดความสำคัญลง

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหาและเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ บทบาทและอำนาจของตุลาการถูกยกระดับและแผ่อำนาจออกไปมาก ขณะที่บทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมาจาการแต่งตั้งโดย คสช. และมีอำนาจร่วมกับ ส.ส. ในการรับรองหรือไม่รับรองผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคได้ ส่วน พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กับ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายเพิ่มไม่ได้เลยและอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายของ คสช.เสียเอง ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญ ยังแก้ไขได้ยาก หมายถึงผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9 - 10 ปี

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า เป็นไปได้ที่พวกเขารู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคาม จึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกในแนวทางที่ตัวเองยังมีบทบาท ก็ต้องคงฐานะทางการเมืองของรัฐชาติกึ่งจารีตไว้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป วาทกรรมเรื่องความดีจึงผูกติดกับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย และจึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า บรรดากลุ่มทุนใหญ่และคนชั้นกลางในเมืองดูจะมั่นคงสบายใจกับรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่า แม้ว่าจะได้เปรียบในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แต่ก็อดรู้สึกถูกคุกคามไม่ได้ เมื่อถูกท้าทายโดยระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนชั้นล่างๆ เป็นฐานเสียง ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับว่าพลิกทฤษฎีรัฐศาสตร์เก่าๆ ที่ว่าคนชั้นกลางเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยไปเลย

ขณะที่นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจโดยยกประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือ ไทยแลนด์ 4.0 และ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลไกประชารัฐนั้น นายเสกสรรค์ มองว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำซึ่งมีการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยังยึดโยงกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในหลายๆ กรณีรัฐไทยต้องลดเงื่อนไขหลายๆ อย่างให้นักลงทุนพอใจ ย่อมขัดแย้งกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำหรือการปรับโครงสร้างรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น

“แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นมีความมุ่งหมายที่ดีในการพาประเทศไทยออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้โดยลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแล้วหันมาโฟกัสที่การค้าและการบริการ อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเปลี่ยนกระบวนการผลิต การทำงานอาศัยระบบดิจิตัล และอาศัยนวัตกรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแกนหลักของการสร้างรายได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ คนไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับการก้าวไปสู่การทำงานในระบบ 4.0 ในเรื่องนี้ประเด็นความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นอุปสรรค” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า การใช้ทุนข้ามชาติมาช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทย ความสับสนอลหม่านด้านแรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ล้วนแล้วแต่จะนำกลับมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลดช่องว่างระหว่างรายได้จะเป็นแค่ความฝันระยะไกล ตนคิดว่าผู้บริหารปัจจุบันคงรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว รัฐราชการจึงหันมาใช้ระบบสวัสดิการอ่อนๆ และระบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อลดแรงกดดันจากชนชั้นล่าง ส่วนกลไกประชารัฐ มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อมกัน ราชการเสนอตัวผสานความร่วมมือระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อยหรือเกษตรกรท้องถิ่น โดยมีภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อน จึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก ถ้าสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้ มันคือความพยายามที่จะแปรความขัดแย้งทางชนชั้นมาเป็นความร่วมมือภายใต้การนำของรัฐ แต่ในอีกด้านนโยบายนี้มุ่งลอยแพนักการเมืองทำให้เป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ แต่ที่แน่ๆ มันถูกออกแบบมาหักล้างนโยบายประชานิยมโดยตรง ที่น่าสนใจก็คือ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้เศรษฐกิจแบบไหน แต่เน้นว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและยั่งยืน เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะทำให้รัฐเข้าไปไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างทุนใหญ่กับผู้ผลิตรายย่อยได้ง่ายขึ้น และบางทีอาจจะมีผลประโยชน์นอกกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“สิ่งที่ คสช. เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ซึ่งถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ Top-Down ก็คงต้องมีข้อเสนอในระดับที่ Grand พอๆ กัน ไม่ใช่พูดแค่หลักการลอยๆ เรียนตรงๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านั้น เพราะพวกเขาจะกลายเป็นแค่กลุ่มแสวงหาอำนาจและเป็นแค่ส่วนตบแต่งพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการและควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจผนึกกำลังกันหนุนผู้นำทางกองทัพและชิงส่วนแบ่งอำนาจมาไว้กับตน 3 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหารมักจะใช้วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชันพุ่งเป้าใส่นักการเมือง ทั้งที่ความจริง ข้าราชการกับพ่อค้านักธุรกิจต่างหากที่เป็นต้นแบบการคอร์รัปชั่น และมันก็ไม่ได้หายไปไหน ขณะที่คำถาม 4 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี คือ การเปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมือง ทั้งนี้ประเด็นธรรมาภิบาลเป็นกระบวนการบริหารจัดการที่นำไปสู่ประสิทธิภาพ สะอาด ปราศจากข้อกังขา ระบอบประชาธิปไตยย่อมสร้างได้มากกว่าอำนาจนิยม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือ ต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น แล้วตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

“การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทางคือ ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบเกี้ยเซียะ ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจผนึกกำลังทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มีข้อเสนอแนะข้อโต้แย้งที่แตกต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศเรา” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า สำหรับภาคประชาชน หากพูดเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาจะมีน้ำหนักลดลง คนเหล่านี้ถูกทำให้เงียบสนิทมาตลอด 3 ปี ก็น่าสนใจว่าเมื่อแนวทางประชานิยมถูกปิดกั้นชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไร กลไกของฝ่ายอนุรักษ์จะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงได้หรือไม่ ขณะที่การเมืองภาคประชาชน รัฐธรรมนูญยังยืนยันสิทธิเสรีภาพไว้โดยละเอียด แต่ก็ดูจะมีเงื่อนไขมาก โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความครอบจักรวาล นอกจากนี้ สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งประสางากับความจริงทางเศรษฐกิจสังคมในไทย นโยบายสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยแลนด์ 4.0 สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ ในระยะหลังพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต่างๆ มาสนับสนุนการต่อสู้ของตนในปกป้องฐานทรัพยากรตนเอง ทำให้การเมืองข้างถนนเป็นการเมืองคีย์บอร์ดมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนปัญญาชนและนักวิชาการนั้น นายเสกสรรค์ กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่ค่อย connect กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นในเฟซบุ๊ก บางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชนโดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ตนค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจ เพราะในอดีต บรรดานักวิชาการพากันเข้าหาประชาชนจนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน ครั้นเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในการพ่ายแพ้ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่เป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

“การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ นักเคลื่อนไหวจึงต้องเอาสิบสู้สิบเสมอ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างเดียวกับตน ไม่ใช่เอาหนึ่งสู้สิบแล้วนั่งภูมิใจท่ามกลางความพ่ายแพ้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมสงสัยว่าปัญญาชนรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ได้คิดอะไรในแนวนี้อีกแล้ว และสำหรับหลายคนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นความคิดก็ได้ หรือโดยไร้ความคิดก็ได้ นับเป็นจุดหมายสูงสุดในตัวมันเอง มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ neoliberalism นั้นซึมลึกมาในสังคมมากกว่าที่เราคิด แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนที่ถือตนว่าหัวก้าวหน้า หรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น ระบบเฟซบุ๊กก่อให้เกิดสภาพหนึ่งคนเป็นหนึ่งสำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนักสิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังเป็นกลุ่มก้อน ขบวนการ บางท่านใช้เวลาในการวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง หรือ เสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกัน มากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวปิดท้ายว่า ในวันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ การที่รัฐธรรมนูญ จัดผังอำนาจโดยขยายบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไว้มาก อันนี้เท่ากับนำระบบราชการเข้ามาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง ซึ่งในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและควบคุมผู้กุมอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่งย่อมจะทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าระบบวุฒิสภาแต่งตั้งจะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองทีนั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น