xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เล็งเพิ่มบัญชีนายกฯ ให้ปชช.เลือกทางอ้อม-ป้องกันไอ้โม่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เมื่อวานนี้ (11พ.ย.)มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างบริหาร กรณีที่มานายกรัฐมนตรี โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ กรธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร เป็นผู้เสนอผลการศึกษาในประเด็นที่มาของนายกฯ โดยระบุว่า ทางอนุฯได้ศึกษา 3 ทางเลือก คือ 1. มาจากส.ส. 2. บุคคลใดๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ หมายความว่า จะเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ และ 3. เป็นแนวทางที่ทางอนุฯคิดขึ้นมาใหม่ คือ ผู้ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ จุดแข็งของแนวทางที่ 3 คือ 1. สภาผู้แทนราษฎรโดยเสียงส่วนใหญ่เป็นคนเลือกนายกฯ และ 2. ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้เห็นรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ก่อนตัดสินใจลงคะแนน ส่วนจุดอ่อน คือ 1. ถ้าบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ที่จะเป็นนายกฯ จะถูกจำกัดอยู่ในรายชื่อที่เสนอเท่านั้น และ 2. ประชาชนที่มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อาจไม่ค่อยคุ้นเคย หรืออาจไม่เข้าใจ
จากนั้นที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นถึงที่มานายกฯ ในแนวทางที่ 3 โดย กรธ.บางคนระบุว่า แนวทางดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยประชาชนมีความเข้าใจอยู่แล้วว่า บุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 คือ ผู้ที่จะเป็นนายกฯ อีกทั้งเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ กับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ทางกรธ.กำลังออกแบบอยู่ เช่น หากพรรคการเมืองหนึ่งได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเต็มจำนวน ตามหลักของจัดสรรปันส่วนพรรคการเมืองนั้น จะไม่ได้สัดส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก ดังนั้น ใครที่จะเป็นนายกฯ ก็ต้องลง ส.ส.แบบแบ่งเขต ไม่ใช่อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ ตามที่มีการคิดในแนวทางที่ 3
นอกจากนี้ กรธ.บางคนยังเห็นด้วยกับหลักการของแนวทางที่ 3 ที่นายกฯ มาจากการเลือกโดยรัฐสภา และเป็นการแก้ไขปัญหาบุรุษลึกลับได้ เพราะทำให้เห็นชัดเจนว่า คู่แข่งที่จะเป็นนายกฯ คือใครบ้าง
ภายหลังการอภิปรายอย่างกว้างขวาง นายมีชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรธ.วนเวียนคิดเรื่องที่มานายกฯ ตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดวิกฤตจนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ เวลากำหนดให้นายกฯ มาจาก ส.ส. จะมีความรู้สึกว่า ทำไมต้องจำกัดการเลือกนายกฯของสภาด้วย ในเมื่อสภาต้องเป็นผู้เลือกนายกฯ อยู่แล้ว ครั้นจะกำหนดให้เลือกนายกฯโดยตรง ก็เป็นไปไม่ได้ในบ้านเรา ที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น แนวทางที่ 3 จึงถือเป็นทางเลือกที่รอมชอม เป็นการให้พรรคการเมืองกำหนดเลยว่า ใครจะเป็นนายกฯ ทำให้ประชาชนรู้ว่าใครเป็นส.ส. และใครมีโอกาสเป็นนายกฯ ข้อดีของแนวทางดังกล่าวมีดังนี้ 1. ทำให้นายกฯผ่านความเห็นชอบจากประชาชนทางอ้อม เพราะพรรคต้องจดแจ้งต่อ กกต. จากนั้นค่อยนำไปหาเสียง ทำให้รู้ว่า ถ้าพรรคใดๆได้เป็นรัฐบาล จะให้บุคคลที่ได้จดแจ้งต่อ กกต.เป็นนายกฯ 2. ถ้าบอกให้เสนอได้มากกว่า 1 ชื่อ โอกาสเลือกจะมีมากขึ้น เผื่อคนในลำดับที่ 1 เกิดเหตุ ประชาชนจะตัวเลือกอื่น 3.ไม่เปิดโอกาสให้พรรคเลือกใครต่อใครมาเป็นนายกฯโดยที่ประชาชน ไม่รู้เห็นมาก่อน 4. เวลาประชาชนลงคะแนน จะมีความหมายมากขึ้น เพราะเลือกทั้งคน ทั้งพรรค และนายกฯ ในบัตรใบเดียว
" หากแต่ละพรรคเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ซ้ำกัน ก็ไม่น่าจะเป็นไร เพราะคนที่ถูกเสนอชื่อ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับสูงอยู่แล้ว หรืออาจจะแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า พรรคที่จะเสนอรายชื่อนายกฯ ซ้ำกับพรรคอื่น จะต้องมีคะแนนเสียงได้รับเลือกขั้นต่ำ จำนวนหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งพรรคนอมินี หรือ จับมือกันระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ส่วนปัญหาว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอเป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อจำเป็นต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ เพราะ ณ วันที่เลือก ยังไม่มีใครได้เป็น ส.ส. เพราะยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง คำถามต่อไปคือ แล้วต้องมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ หรือเป็นผู้สมัครหรือไม่ คิดว่าไม่จำเป็นต้องบังคับ เพราะประชาชนก็เห็น ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ถ้าใช้แนวทางที่ 3 แล้วคิดรายละเอียดให้ดี บางทีอาจเป็นวิธีทางที่ทำให้บ้านเมืองก้าวเข้าไปข้างหน้า" นายมีชัย กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับที่มาของนายกฯว่า คณะอนุฯที่ไปศึกษา เสนอกลับมาว่า 1.ให้มีนายกฯ ในระบบรัฐสภา 2. ให้สภาเป็นผู้เลือก 3. จะเป็น ส.ส.หรือไม่เป็นก็ได้ 4. ต้องได้รับการยอมรับจากสภา ซึ่งเรื่องนี้ เขาต้องการส่งสัญญาณว่า ไม่มีการเลือกนายกฯโดยตรง และนายกฯ ต้องเลือกจากสภา จะเอาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาเลือกไม่ได้ นายกฯ จะเป็นคนใน หรือคนนอกก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่ขี่ม้าขาวมาจากไหน แล้วมาให้สภาโหวตเลือก
กำลังโหลดความคิดเห็น