ซีไอเอ็มบีไทย คงประมาณจีดีพีที่ 3.2% ระบุแม้ส่งออกดีกว่า แต่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณฟื้น ส่วนดอกเบี้ยนโยบายคาดการณ์คงที่ตลอดปี และค่าเงินบาทที่ระดับ 35.50 บาทในปลายปี แนวโน้มอ่อนค่า เสนอนโยบาย “3ลด” เร่งเศรษฐกิจไทยโตพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 3.2% แม้ภาคการส่งออกจะเติบโตได้สูงกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็เชื่อว่าในครึ่งปีหลัง ก็น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร และปิโตรเลียม จะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก ขณะที่ปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้น และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน เนื่องจากความเชื่อมั่นที่ยังไม่เกิด และอุปทานส่วนเกินที่ยังมีอยู่มาก ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ธนาคารปรับเป้าหมายการส่งออกจากเติบโต 0.7% เป็น 3.1% และการลงทุนภาคเอกชนจาก 1.4% เป็น 0.7%
“แม้ของทางการจะมีความชัดเจนในด้านนโยบายเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงเป็นเรื่องของความต่อเนื่องในนโยบายที่จะเกิดขึ้น หรือหากเกิดการเลือกตั้งในปลายปีหน้า ทำให้ยังรั้งรอดูสถานการณ์ไปก่อน”
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ไปจนถึงปลายปีนี้ จากเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ช้า และหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอีกสองครั้งไปสู่ระดับ 1.50% เท่ากับไทยในช่วงปลายปีนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยต้องขยับดอกเบี้ยหนี้สหรัฐฯ เพียงแต่เราอาจเลือกให้เงินไหลออก ปล่อยบาทให้อ่อนค่าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกจะดีกว่า โดยคาดว่าในช่วงปลายปีเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดการณ์ที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และต้องจับตา ธปท.ที่อาจะมีมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินโดยเฉพาะการลดการเข้าซื้อพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ หรือมาตรการผ่อนคลายทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกขึ้น
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่อง คือ ผลข้างเคียงหลังจากไทยคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงได้ อาทิ การชวนเชื่อ หรือหลอกลวงให้ประชาชนไปลงทุนในสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง ทำให้สูญเสียรายได้ที่เก็บออมมาทั้งชีวิตมากขึ้น ดังนั้น กนง.ควรทมีการทบทวนนโยบายดอกเบี้ยเพื่อจัดสมดุลเศรษฐกิจ ไม่ให้ก่อปัญหาด้านใดด้านหนึ่งที่จะลามเป็นวิกฤตได้ในระยะยาว
พร้อมกันนั้น ยังได้นำเสนอนโยบาย “3ลด” เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารครถเติบโตได้เหนือ 4% และก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้ ได้แก่ 1.ลดขนาดภาครัฐให้อยู่ในกรอบการกระจายรายไ ด้และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณะ เพี่อลดภาระรายจ่าย และเพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถปรับลดภาษีได้โดยไม่กระทบกับหนี้สาธารณะ และช่วยในการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนได้ด้วย
2.ลดกฎระเบียบในการทำธุรกิจให้คล่องตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเอกชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในเวทีโลก ไม่เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนต่างชาติอาจยังลังเลที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตได้ และ 3.ลดกำแพงกั้นเพื่อนบ้าน โดยเปิดประเทศให้กว้าง และลึกขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของไทยอย่างยั่งยืน