xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟ ไทยสร้าง จีนกำกับ อีกไกลกว่าจะถึงสถานีปลายทาง

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2560 เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ออกมาหลังจากรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ใกล้จะสรุปผลการศึกษา และเปิดประมูลหาผู้ลงทุนก่อสร้างในเร็ววันนี้

พร้อมกับข้อเสนอใหม่ของญี่ปุ่นที่บอกคณะรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นว่า สนใจจะเชื่อมต่อระหว่างอยุธยากับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรืออีอีซีอีกเส้นทางหนึ่ง

ญี่ปุ่นมาทีหลังจีนเกือบปี แต่กลับแซงหน้ารถไฟไทยจีนแบบไม่เห็นท้ายขบวน ถือว่าเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรีพญามังกรที่เพิ่งจัดประชุมประกาศความยิ่งใหญ่ของโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางไปเมื่อไม่นานมานี้

ไม่รู้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ จะเป็นการรักษาหน้าเยียวยาแผลใจให้ฝ่ายจีนไม่ให้น้อยใจว่าไทยนั้นให้ความสำคัญกับรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ไม่สนใจโครงการของจีนเลยหรือไม่

คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ยกโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชระยะทาง 250 กิโลเมตร ให้อยู่ในความดูแลของจีนไปหมดเลย ทั้งออกแบบควบคุมการก่อสร้าง วางระบบการเดินรถ และจัดซื้อรถไฟจากจีน โดยยกเว้นให้วิศวกร สถาปนิกจีนที่จะมาทำโครงการนี้ ไม่ต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพตามกฎหมายไทย

ฝ่ายไทยมีหน้าที่หาเงินค่าก่อสร้างมาจ่ายให้จีน มูลค่าที่ไทยเคยคำนวณคือ 170,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขฝ่ายจีนคือ 190,000 ล้านบาท

คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ ยังมีผลยกเว้นการใช้คำสั่ง คสช.เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าเกิน 5 พันล้านบาท ไม่ต้องผ่านซูเปอร์บอร์ดกำกับการจัดซื้อที่ คสช.ตั้งเอง โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน

โครงการรถไฟไทยจีน เดิมจะเชื่อมต่อกับรถไฟจีนลาวที่หนองคาย มาถึงกรุงเทพฯ และจะมีอีกเส้นทางหนึ่ง แยกจากแก่งคอยไปมาบตาพุด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่จีนต้องการเชื่อมกับอาเซียน

แต่หลังจากเซ็นเอ็มโอยูกันเมื่อเดือนธันวาคมปี 2557 การเจรจาระดับคณะกรรมการผ่านไปหลายครั้งไม่มีความคืบหน้า ไทยต้องการให้จีนร่วมลงทุนตั้งแต่ต้น ในสัดส่วน จีน 60 ไทย 40 เพราะโครงการนี้จีนได้ประโยชน์ในการขนสินค้า และเป็นโครงการลงทุนสูง มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน

จีนไม่ยอมร่วมลงทุนด้วย อยากจะขายเทคโนโลยี ขายเหล็ก ขายรถ รับจ้างบริหาร ขนแรงงานจีนมาทำงานในโครงการนี้ และให้ไทยกู้เงินมาก่อสร้าง โดยคิดดอกเบี้ยแพงกว่าราคาตลาด ไม่ยอมรับความเสี่ยงด้วย จะร่วมลงทุนก็ต่อเมื่อสร้างเสร็จแล้ว โดยตั้งบริษัทขึ้นมารับจ้างบริหารการเดินรถ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายไทยก็ไม่อยากจะสร้างเพราะเราเองก็มีโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางรถไฟจากหนองคายถึงกรุงเทพฯ แต่จะบอกเลิกก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันในระดับรัฐบาลทั้งสองฝ่าย

ในการประชุมกลุ่มผู้นำลุ่มน้ำโขง ล้านช้างครั้งที่ 1 ที่จีน เมื่อเดือนมีนาคมปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุยนอกรอบกับนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ว่า จีนไม่ต้องการลงทุนด้วยก็ไม่เป็นไร ไทยลงทุนเองก็ได้ แต่จะขอสร้างช่วงกรุงเทพฯ-โคราชก่อน เพราะใช้เงินแค่ 1.7 แสนล้านบาท โดยจะสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทนที่จะเป็นรถไฟความเร็ว 120-160 ต่อชั่วโมงตามแผนเดิม

ไทยรับปากกับจีนว่าจะจ้างจีนก่อสร้าง ใช้เทคโนโลยีบางส่วนจากจีน ซื้อของ ซื้อระบบการเดินรถ ซื้อรถไฟจากจีน โดยจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2559

การเจรจาครั้งนั้น ถือว่าเป็นการยุติโครงการรถไฟไทยจีนแบบซอฟต์แลนด์ดิ้ง โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช เป็นเพียงการรักษาหน้ากันแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

สำหรับฝ่ายจีนแล้ว การยุติโครงการรถไฟไทยจีนเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไทยเป็นทางผ่านไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ รถไฟจีน ลาว ที่มาถึงเวียงจันทน์จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเชื่อมต่อมายังฝั่งไทยไม่ได้

โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช มีการประชุมคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายอีกเกือบสิบครั้ง มีปัญหามากมายตั้งแต่เรื่องการออกแบบที่จีนจะใช้ของตน ส่งแบบมาเป็นภาษาจีน ไทยอ่านไม่ออก เรื่องวิศวกร ช่างเทคนิคที่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทย

เส้นทางที่มีความยาว 250 กิโลเมตรถูกซอยออกเป็นช่วงๆ โดยช่วงแรกที่จะเริ่มก่อสร้างก่อนมีระยะทางแค่ 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น คือ บริเวณสถานีกลางดง จังหวัดนครราชสีมา กำหนดเริ่มก่อสร้างในปี 2559 แต่ล่วงเข้ากลางปี 2560 แล้วก็ยังไม่ได้ทำอะไร

จึงเป็นที่มาของคำสั่งหัวหน้า คสช.มอบโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ให้จีนเอาไปทำทั้งหมด ซึ่งไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้มีความคืบหน้า โดยไม่สนใจว่า สร้างแล้วจะมีคนใช้หรือไม่ หรือว่าถูกจีนกดดัน หรือว่าต้องการแสดงให้จีนเห็นว่า ไทยนั้นไม่ได้สนใจแต่รถไฟญี่ปุ่น

คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ ให้เวลาการรถไฟแห่งประเทศไทย 120 วัน ในการทำตามคำสั่ง เมื่อครบกำหนด หากยังไม่เสร็จ นายกรัฐมนตรีสามารถขยายเวลาได้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ขยายเวลา ก็ให้การรถไฟฯ ยุติการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบ

คำสั่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้บอกว่า เมื่อกระทรววงคมนาคมรายงานให้ทราบแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป

รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชยังต้องวิ่งฝ่าด่านอีกหลายด่าน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น