แฉเหตุรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่คืบ กระทั่ง ‘บิ๊กตู่’ ออกมาประกาศ ‘ทุบ’ ต้องเกิดในปีนี้ พบปัญหาผิดระเบียบกฎหมายไทยหลายประเด็น ยิ่งกว่าผิดมาตรา 157 วงในชี้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ ต้องตกเป็นทาสจีน ทั้งเทคโนโลยีระบบต่าง ๆ ต้องซื้อเฉพาะจีนเท่านั้น แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญต้องมาจากจีน แถมจีนขอที่ดิน 2 ฝั่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แจงหากไม่ใช้ ม.44 คุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน โอกาส ‘เกิดยาก’ เพราะข้าราชการหวั่นติดคุก ส่วน ‘ครม.บิ๊กตู่’ รอดเพราะคำสั่ง คสช.คุ้มครอง !
รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย มีโอกาสเกิดได้แน่ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ ‘ทุบ’ โครงการนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในระหว่างการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายปี 2561 ที่อาคารรัฐสภา
“เข้ามาปีที่ 3 ติดขัดปัญหาหลายอย่าง ผมพูดจนหน้าแหกไปหลายรอบแล้ว ทำไม่ได้สักที ผมจะทุบสักทีรถไฟไทยจีน ต้องทำให้เกิดภายในปีนี้ ถ้ารถไฟไม่เกิดคนทำก็ไม่ได้เกิด”
ขณะที่ก่อนหน้าที่บิ๊กตู่จะประกาศทุบโครงการนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก็ออกมาบอกว่าอาจต้องใช้มาตรา 44 ในการปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้โครงการนี้ไม่คืบหน้า โดยขอให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ช่วยศึกษาข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะข้อระเบียบในเรื่องวิศวกรคุมงานก่อสร้างที่เป็นคนต่างชาติที่จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
อย่างไรก็ดีเหตุที่โครงการนี้ไม่สามารถคืบหน้าได้ ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ราชการผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ ระดับที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพียงแค่ปฏิบัติตามที่รัฐบาลต้องการเท่านั้น และมองเห็นว่าการกระทำที่ผิดกฎหมายครั้งนี้เป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่าความผิดมาตรา157 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการละเว้นหรือทุจริตคอร์รัปชันแต่ประการใด แต่เป็นเพราะโครงการนี้ผิดระเบียบและกฎหมายด้วยกันหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2535 และ 2556 ที่กำหนดให้การร่วมลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาทจะต้องมีการประกาศเชิญชวน เอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก การกำหนดหลักประกันซอง และอื่น ๆ ที่จำเป็นในการให้เอกชนร่วมลงทุน แต่โครงการนี้ดูเหมือนฝ่ายจีนจะเป็นผู้ดำเนินการไปทุกอย่าง
“โครงการนี้ไม่มีอะไรชัดเจน ทุกอย่างมอบให้ฝ่ายจีนดำเนินการ แบบที่ทำออกมาก็เป็นภาษาจีนทั้งหมด ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสากล ที่จะทำให้เข้าใจตรงกัน”
ที่น่าประหลาดสเปกในการก่อสร้างและระบบรถราง ทุกอย่างเป็นเทคโนโลยีของจีนที่พัฒนามาจนเป็นสูตรเฉพาะจีนเท่านั้น ทำให้ระบบการคำนวณต่าง ๆ ไม่มีความเป็นสากลที่จะทำให้วิศวกรของไทยดำเนินการได้เลย จึงเป็นเรื่องของวิศวกรของฝ่ายจีนล้วน ๆ อีกทั้งการทำงานในครั้งนี้ ฝ่ายจีนจะนำวิศวกร และสถาปนิกผู้ออกแบบชาวจีนเข้ามาทำงานในประเทศไทย และให้ผู้บริหารหรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญคนไทย ร่วมเซ็นรับรองด้วย ตรงนี้แหละคือปัญหาที่ใครล่ะจะยอมเซ็น
“การนำวิศวกรจีนเข้ามาทำงานโครงการนี้ก็ผิดกฎหมายที่กำหนดให้เป็นอาชีพสงวนของคนไทยที่ระบุขอบข่ายการทำงานไว้ชัดเจน ซึ่งทุกคนก็เห็นกันอยู่ว่า จีนทำทั้งหมด แม้จะมีการเปิดเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนได้ก็ตาม แต่ใช่ว่าจะยอมให้ทำได้”
โดยในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ 39 อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาทำ ซึ่งอาชีพวิศวกรและสถาปนิกก็เป็น 2 อาชีพสงวน ที่ระบุไว้ว่างานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบละคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ รวมไปถึงงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ
ตรงนี้แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามหารือร่วมกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกแล้ว เพื่อขอให้จัดทำรายละเอียดข้อสอบวัดมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรเพื่อออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ใบ กว.) ระยะเวลา 5 ปีให้กับวิศวกรชาวจีนเพื่อร่วมกันก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามแผน แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
ขณะเดียวกันหากโครงการนี้สามารถเดินหน้าก่อสร้างตามสเปกของจีนจนแล้วเสร็จ ปัญหาที่จะตามมาคือฝ่ายปฏิบัติเห็นว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ควรอย่างยิ่งที่ต้องตั้งทีมงานที่มีความรู้ด้านวิศวกรเข้าไปทำการศึกษาสัญญาการก่อสร้างและการบำรุงรักษาให้รอบคอบ จึงจะมองเห็นถึงอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่คนไทยควรได้รับรู้ แม้ว่าในการส่งมอบนั้น ฝ่ายจีนจะมีคู่มือการบำรุงรักษาไว้ให้ก็ตาม
“ไม่ใช่เป็นทีมงานที่ไปประชุมแต่ละครั้ง แต่ขาดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้าไปร่วมตัดสิน ซึ่งจะพบว่าเทคโนโลยีของจีนนั้น เราต้องผูกขาดการใช้ทุกอย่างที่เป็นของจีน อุปกรณ์ของประเทศอื่นไม่สามารถทดแทนได้ และหากมีปัญหาเราไม่สามารถแกะกล่องอุปกรณ์ที่ติดมากับตัวระบบได้ จะมีการตอกโค้ดที่เราไม่สามารถลงลึกได้ ต้องจ้างวิศวกรจากประเทศจีนเท่านั้นเข้ามาแก้ไขตลอดไป”
แหล่งข่าวระบุว่า มีข้อเสนอจากจีนที่จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบไปตลอด นอกจากในเรื่องของระบบรถไฟความเร็วสูงที่ต้องใช้อะไหล่จากประเทศจีนไปตลอดแล้ว ยังมีเรื่องของที่ดิน 2 ข้างทาง ที่ทางจีนต้องการประมาณข้างละ 150 เมตร โดยจีนต้องการกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนี้ เพื่อพัฒนาเป็นคอมเมอร์เชียล เหมือนที่จีนพัฒนาในประเทศของเขา
“ที่ดินจากการพัฒนา 2 ฝั่งในพื้นที่ตัดผ่าน จะทำให้เกิดความเจริญ และมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะจุดที่เป็นที่ดินของการรถไฟ หรือที่เป็นสถานีจะสามารถสร้างเป็นคอมเมอร์เชียลได้”
อีกทั้งแบบการก่อสร้างในเบื้องต้นมีการพูดคุยกันในวงวิศวกรว่า จีนเสนอขอตัดเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นระบบตัดตรง ไม่ใช่เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีอยู่เดิมซึ่งจะมีลักษณะคดเคี้ยว และเป็นระบบที่ไม่ได้วิ่งบนพื้นดินแต่เป็นระบบยกสูงเพื่อทำให้พื้นที่ถนนข้างล่างได้สัญจรไปมา และสามารถใช้ความเร็วของระบบรถไฟความเร็วสูงได้ดีกว่าระบบรางที่คดเคี้ยว ซึ่งบางช่วงจะวิ่งคู่ขนานไปกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ด้วยปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถจัดการได้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติฝ่ายไทยไม่มีความมั่นใจว่า หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาขุดคุ้ยและเห็นว่าทุกอย่างผิดขั้นตอนของกฎหมาย แถมยังเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับต่างชาติ ก็จะมีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ ในขณะที่รัฐบาลบิ๊กตู่ไม่มีความผิดเพราะมีประกาศ คสช.คุ้มครองอยู่แล้ว
“ถ้ารัฐบาลรับผิดชอบ ใช้คำสั่งมาตรา 44 เดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คุ้มครองทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจมากขึ้น และประชาชนก็จะรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคตเป็นมาอย่างไร”
ดังนั้นเมื่อใช้มาตรา 44 ผลักดันโครงการนี้สำเร็จ โอกาสที่คนไทยจะได้เห็นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนวิ่งระหว่างเมืองกรุงเทพฯ-หนองคาย ชัดเจนขึ้น โดยจะดำเนินการก่อสร้างในช่วงแรก กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 179,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วช่วง 120-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รางกว้าง 1 เมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 เฟส เฟสแรกจากบ้านกลางดงถึงบ้านปางสีดา ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงเทพฯ กับโคราช ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วงเงิน 200 ล้านบาท
เฟสที่สอง จากบ้านปางสีดามาทางกรุงเทพฯ ระยะทาง 11 กิโลเมตร และเฟสที่สาม ต่อจากเฟสที่สองมาถึงกรุงเทพฯ ระยะทาง 100 กิโลเมตรเศษ ค่าก่อสร้างเฟสที่ 1-3 ระยะทางราว 125 กิโลเมตร จะใช้เงินราว 100,000 ล้านบาท
ส่วนเฟสที่สี่ จากบ้านปางสีดาไปยังโคราช ระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตร คาดจะใช้งบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท
จากนี้ไปต้องจับตาดูว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้มาตรา 44 จัดการเพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เกิดได้หรือไม่ หรือจะมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาแทน แต่หากมาตรการนั้นไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนปฏิบัติงานได้ ก็อาจจะทำให้โครงการนี้ไม่สามารถเกิดได้ในรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน !