xs
xsm
sm
md
lg

อีกรุกใหญ่ของจีน : ปานามาโผหาปักกิ่ง และอินเดียเข้าร่วม SCO จีน

เผยแพร่:   โดย: สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

<b>รัฐมนตรีอิซาเบล เดอ เซนต์ มาโล ของปานามา และรัฐมนตรีหวัง อี้ ของจีน</b>
เป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ที่เกิดช้ากว่ากำหนด แต่ก็ไม่ช้าเกินไป นั่นคือรัฐบาลปานามาประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตอย่างเต็มรูปแบบกับจีน

เป็นการแถลงที่ปักกิ่งร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศ คือรัฐมนตรีอิซาเบล เดอ เซนต์ มาโล ของปานามา และรัฐมนตรีหวัง อี้ ของจีนระบุว่า

ทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรบนหลักการแห่งความเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนซึ่งกันและกัน โดยจะไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในและไม่แข็งกร้าวต่อกัน, จักเคารพในผลประโยชน์แต่ละประเทศของตน และจักอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

นั่นคือ ปานามาจะตระหนักถึงหลักการ “จีนเดียว” ที่จีนถือปฏิบัติอยู่

นับเป็นข่าวร้ายมากต่อไต้หวันที่นายพลเจียงไคเช็ค นำกองกำลังหนีเหมาจากแผ่นดินใหญ่จีนมาตั้งประเทศไต้หวันตั้งแต่ปี 1949 และไต้หวันก็ยังเหลือความสัมพันธ์ทางการทูตกับอีกไม่กี่ประเทศ (ประมาณแค่ 10 แห่ง) ที่ยังมีสัมพันธ์กับไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นประเทศขนาดจิ๋วๆ ในแอฟริกาและเอเชีย

หลายคนสงสัยว่า ทำไมจีนไม่ดำเนินนโยบาย ทั้งล็อบบี้และกดดันให้ประเทศปานามาตัดสัมพันธ์การทูตกับไต้หวัน แล้วหันมารับหลักการจีนเดียวของจีน น่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว

แต่เรื่องความพยายามของนักธุรกิจจีน ชื่อ Wang Jing ที่ได้พบกับลูกชายผู้นำชราแห่งนิการากัว เมื่อต้นปี 2012 และนำเสนอโครงการคลองยักษ์เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติก น่าจะมีส่วนทำให้ทางการจีนต้องติดตามความคืบหน้า และผลดีผลร้ายต่อประโยชน์ของจีน, ถ้าจะต้องใช้บริการคลองยักษ์แห่งใหม่นี้

คลองยักษ์นี้มีชื่อว่า Nicaragua Grand Canal ซึ่งจะสร้างที่ประเทศนิการากัว ซึ่งอยู่ในอเมริกากลาง และอยู่เหนือกว่าคลองปานามา

แต่ปรากฏว่าคลองยักษ์นิการากัวนี้ ดูประสบปัญหามากมายและจะเป็นคลองที่มีขนาดยาวกว่าปานามามาก (ระยะของคลองปานามาเป็นส่วนคอดที่สั้นสุดเชื่อม 2 มหาสมุทร)

โครงการคลองยักษ์นิการากัวมีปัญหาการระดมทุนอย่างหนัก เพราะคลองปานามาได้ทำการขยายขนาดความกว้างให้เรือขนาดใหญ่กว่าเดิมมาใช้บริการสะดวกขึ้น ทำให้ความจำเป็นต้องไปใช้บริการคลองนิการากัวลดลงมาก

เมื่อตอนหุ้นจีนล่มเมื่อปี 2015 ทำเอานาย Wang Jing สูญเสียสินทรัพย์ไปถึง 80% ด้วย

ประกอบกับความไม่โปร่งใสของโครงการคลองนิการากัว และมีการคอร์รัปชันหนักมาก ทำให้ต้นทุน (การเวนคืนที่ดิน) พุ่งสูงเป็นหลายเท่ากว่าต้นทุนจริงๆ ที่ได้คาดการณ์ไว้

การพับไปของโครงการคลองยักษ์นิการากัวน่าจะเป็นปัจจัยช่วยตัดสินให้จีนหันกลับมาเพิ่มความสัมพันธ์กับปานามา ซึ่งจีนใช้บริการสูงมากในการขนส่งสินค้ามายังจีนและส่งไปยังอเมริกาเหนือ

ส่วนประเทศไต้หวันก็ไม่พอใจมาก ประกาศถอนทูตกลับทันที และพูดเหน็บว่า “เพราะไต้หวันกระเป๋าไม่หนักเท่าจีนที่จ่ายให้ปานามา จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น” ... ก็เป็นธรรมดาของคนกระเป๋าเล็กกว่า

สำหรับอีกเหตุการณ์ที่เห็นถึงการแผ่ขยายอิทธิพลจีน ก็คือการประชุม SCO ย่อมาจาก Shanghai Cooperation Organization ที่ก่อตั้งโดยจีนที่เซี่ยงไฮ้ เพิ่งครบรอบการก่อตั้ง 20 ปีไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

เริ่มต้นขึ้นในปี 1996 มีเพียง 5 ประเทศ (เรียกว่า Shanghai - Five) คือจีน (ยุคประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน), รัสเซีย (โดยนายปูติน), คาซัคสถาน (Kazakhstan), คีร์กิซสถาน (Kyrgyzstan), ทาจิกิสถาน (Tajikistan) เป็นความร่วมมือของประเทศกลุ่มยูเรเซีย ด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, การทหาร และความมั่นคง

ประเทศที่ 6 ที่เข้าเป็นสมาชิก คือ อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) กลายเป็นเซี่ยงไฮ้ - Six (เมื่อปี 2001)

ต่อมาในปี 2002 ได้มีการจัดทำธรรมนูญของกลุ่ม และได้รับสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงสมาชิกในเขตเอเชียกลางเท่านั้น แต่เป็นการขยายไปสู่ Eurasia ที่กว้างใหญ่และเข้มแข็งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปักกิ่ง

การประชุมล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2017 ได้รับ 2 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการ (หลังการเจรจาต่อรองเข้าเป็นสมาชิก 2 ปี) คือ อินเดียและปากีสถาน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่ค่อยถูกกัน (กรณีแคชเมียร์) แต่ก็สามารถมาเข้ากลุ่ม SCO ได้ ก็เพราะฝีมือของจีนนั่นเอง

กลุ่ม SCO นี้มีประชากรมากสุดในโลก... เพียงจีน+อินเดีย ก็เข้าไป 2,500 ล้านคนแล้ว นับเป็นปึกแผ่นของกลุ่มประเทศแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, การทหารที่น่าสนใจมาก ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีพลังงานและทรัพยากรมีค่ามากมายของโลก และส่วนใหญ่ไม่เป็นสมุนของประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป.
กำลังโหลดความคิดเห็น