xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! ช่องโหว่ลงทะเบียนซิมการ์ด กสทช. “แก๊งกดไลก์-ปั่นวิว” ตุนซิมการ์ด 4 แสนซิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - กสทช. ดิ้น “ขบวนการคลิกฟาร์ม” ปั่นยอดไลก์ - ยอดวิว สั่ง 3 ค่ายมือถือยักษ์ “เอไอเอส - ดีแทค - ทรูมูฟ เอช” ชี้แจงที่มา 4 แสนซิม ขายให้ใคร พบช่องโหว่ “แอป 2 แชะ” ลงทะเบียนซิมการ์ดอยู่ในมือกว่า 6 หมื่นจุดทั่วประเทศ ไม่นับแอปฯ ที่ค่ายมือถือออกมา คาด มิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ ต้องดูสวมรอยบัตรประชาชนคนอื่นหรือไม่

จากกรณีสะเทือนอุตสาหกรรมออนไลน์ ที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พบโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน 474 เครื่อง ซิมการ์ดอีก 347,200 ชิ้น ของ 3 เครือข่ายยักษ์ “เอไอเอส - ดีแทค - ทรูมูฟ เอช”

ก่อนจะขยายผลตรวจค้นอาคารพาณิชย์สร้างใหม่ในเทศบาลเมืองอรัญประเทศ พบซิมการ์ดอีก 60,600 ชิ้น ของ 3 เครือข่ายยักษ์เช่นกัน

ซิมการ์ด และโทรศัพท์มือถือไอโฟนเหล่านี้ ถูกนำไปใช้รับจ้างกดไลก์ และเพิ่มยอดวิวให้แก่สินค้าที่ขายทางเว็บไซต์ในประเทศจีน เรียกกันว่า “คลิกฟาร์ม” (Click Farm) โดยมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีน 5 คน

ควบคุมตัวได้ 3 คน อีก 2 คนเหมือนนกรู้ หลบหนีไปก่อนที่ตำรวจจะตรวจค้นอีกรอบหนึ่ง

กระทั่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นิ่งนอนใจเรื่องนี้ไม่ได้ เตรียมเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ถึง จ.สระแก้ว

ตรวจสอบว่า ซิมการ์ดที่ตรวจพบนั้น ลงทะเบียนใช้งานถูกต้องหรือไม่ พร้อมทั้งจะเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่ายมาให้ข้อเท็จจริง ว่าได้ปล่อยซิมการ์ดไปอยู่ในมือของขบวนการปั่นไลก์ได้อย่างไร

ซิมการ์ด 4 แสนชิ้น ที่ตกไปอยู่ในมือของขบวนการคลิกฟาร์ม ก่อนอื่นต้องให้ความเป็นธรรมกับ กสทช. และผู้ให้บริการมือถือก่อนว่า มีการลงทะเบียนซิมการ์ด และเปิดใช้งานอย่างถูกต้องหรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้ การซื้อขายซิมการ์ดมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีการจัดระเบียบอย่างจริงจัง กระทั่ง กสทช. ต้องออกมาจัดระเบียบ โดยการบังคับให้ผู้ใช้มือถือทุกรายลงทะเบีบนซิมการ์ดระบบเติมเงิน

กระทั่งหลังวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ซิมการ์ดที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะเกิดอาการ ซิมดับ คือ ไม่สามารถโทรออก รับสาย หรือเล่นอินเตอร์เน็ตได้ ก่อนที่เบอร์จะทยอยถูกยกเลิกออกจากระบบ

หากเป็นซิมการ์ดที่ไม่ถูกลงทะเบียน ชิ้นส่วนซิมการ์ดนับแสนสถานะก็เป็นเพียงแค่ “ขยะซิมการ์ด” ธรรมดาๆ

อย่างไรก็ตาม จากการจับกุมขบวนการคลิกฟาร์ม แสดงให้เห็นว่า ใน 1 แห่ง มีการใช้มือถือนับร้อยเลขหมายในการปั่นยอดไลก์ เพิ่มยอดวิว หากจับกุม 2 แห่ง คาดว่า จะมีมือถือใช้ก่อเหตุนับพันเครื่องเลยทีเดียว

และอย่างน้อย เบอร์โทรศัพท์กว่า 1 พันเลขหมาย จะต้องถูกนำไปใช้ก่อเหตุเช่นนี้

สำหรับกระบวนการจำหน่ายซิมการ์ด เริ่มจากค่ายมือถือจะได้รับการจัดสรรเลขหมายจาก กสทช. ก่อนที่จะจัดทำแพกเกจซิมการ์ด แล้วส่งผ่านตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ ก่อนจะส่งให้ร้านค้ารายย่อยเพื่อจำหน่าย

ส่วนใหญ่ซิมการ์ดที่ขายตามร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งร้านค้าที่มีหน่วยรถขายดูแล จะอยู่ที่ราคา 49 บาท ได้ค่าโทรฟรี 15 บาท อายุการใช้งาน 30 วัน

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ แม้ทุกวันนี้เวลาซื้อซิมการ์ด จะมีการลงทะเบียนซิมการ์ดก่อนใช้งาน แต่ใครจะไปรู้ว่า ซิมการ์ดที่เปิดใช้งานจะลงทะเบียนโดยบัตรประชาชนของเจ้าของจริง?

เครื่องมือที่ใช้ลงทะเบียนซิมการ์ด คือ แอปพลิเคชันที่เรียกว่า “2 แชะ” ซึ่ง กสทช. จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ให้บริการแต่ละรายนำไปใช้ลงทะเบียนซิมการ์ด โดยถ่ายภาพหน้าบัตรประชาชน แล้วอัปโหลดไปที่ กสทช.

ซึ่งที่ผ่านมา แอปนี้ได้นำไปใช้กับจุดบริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานที่ให้บริการงานทะเบียน อาทิ อำเภอ เทศบาล กว่า 60,000 แห่งทั่วประเทศ

ซึ่งค่ายมือถือแต่ละแห่ง จะออกชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) แก่ตัวแทนจำหน่ายซิมการ์ดมือถือทุกแห่ง ซึ่งมีจำนวนมาก จึงอาจจะเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในทางที่ผิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัตรประชาชนที่ทำตก สูญหาย หรือถูกขโมย มิจฉาชีพสามารถนำไปใช้ลงทะเบียนซิมการ์ด เพื่อนำไปใช้กระทำผิดกฎหมาย เช่น ใช้ติดต่อซื้อขายยาเสพติด หรือใช้จุดชนวนระเบิดก็ได้

ครั้งหนึ่งในช่วงที่ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ๆ ถึงขั้นมีการแจกผู้ใช้ และรหัสผ่านลงในเว็บบอร์ดชื่อดัง กระทั่งผู้ให้บริการต้องระงับทั้งหมดมาแล้ว เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด แม้จะอ้างว่าหวังดีก็ตาม

แต่ใครจะไปรู้ว่า ชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่านที่ใช้กับแอปพลิเคชัน 2 แชะ ของ กสทช. จะไม่มีใครนำไปใช้ในทางที่ผิด เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ ธุรกิจสีเทา

และยังพบว่า ในโซเชียลมีเดีย มีการแจกชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่าน และสอนวิธีในการลงทะเบียนซิมการ์ดอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย น่ากลัวว่าจะตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพที่ใช้ก่อเหตุอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าค่ายมือถือต่างออกแอปพลิเคชันสำหรับลงทะเบียนซิมการ์ดเฉพาะค่ายมือถือต่างๆ แยกต่างหากอีก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนจำหน่ายมือถือนั้นๆ

กสทช. ต้องมีคำตอบ โดยเฉพาะทำอย่างไรที่จะให้การลงทะเบียนซิมการ์ดรัดกุมกว่านี้ และตรวจสอบได้หรือไม่ว่ามีใครครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือมากผิดปกติ

รวมทั้งเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบว่า เราเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์มือถือกี่เลขหมาย ผ่านช่องทางที่กำหนด ด้วยวิธีการทำเรื่องที่รัดกุม เหมือนตรวจข้อมูลเครดิตบูโร

คอยดูกันต่อไปว่า ซิมการ์ดกว่า 4 แสนชิ้นที่ตกไปอยู่ในมือของคนร้าย กสทช. จะตรวจสอบอย่างไร และจะป้องกันปัญหานำซิมการ์ดไปใช้ในขบวนการ “กดไลก์ - ปั่นวิว” ได้อย่างไรในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น