xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กปู”เบรก 99 ตร.ทีมล่า“เปรี้ยว”อย่าหวัง 2 ขั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ป.ป.ส. มั่นใจหลักฐาน “เปรี้ยว ฆ่าหั่นศพ” เชื่อมโยงขบวนการค้ายาเสพติด ประสานหน่วยปราบยาเสพติดพม่า เร่งสอบประวัติพร้อมเส้นทางการเงิน ด้าน ผบก.ตม.5 ย้ายด่วน รอง ผกก.- รอง สว.ตม.จ.เชียงรายเข้ากรุ 2 นายตำรวจถ่ายภาพคู่โชว์กระฉ่อนเน็ต ส่วน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบชื่อข้าราชการเกือบร้อยในบันทึกจับกุม หวั่นทำรูปคดีเสียหายหากศาลเรียกไปเป็นพยานแล้วให้การไม่ตรงกัน "ศรีวราห์" โต้รายชื่อตร.บันทึกจับกุม "เปรี้ยว" เป็นเรื่องปกติ เอาไปทำผลงานขอ 2 ขั้นไม่ได้ ไม่กระทบพยานศาล

วานนี้ (6 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผู้บัญชาการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 ส่งสำเนาคำสั่งมายังนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าได้ลงนามในคำสั่งที่ 36/2560 ลงวันที่ 4 มิ.ย.60 ให้ พ.ต.ท.ฤทธิไกร กะระกล รองผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย และ ร.ต.อ.ธวัชศิลป์ บุญตันหล้า รองสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตม.5 ส่วนเหตุผลคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์นำภาพเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงรายถ่ายภาพการปฏิบัติหน้าที่ไปเผยแพร่ โดยตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งภาพข่าวปรากฏตำรวจทั้งสองนายส่งผลให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงกรณีน.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว ผู้ต้องหาในคดีฆ่าหั่นศพ ว่า ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำน.ส.เปรี้ยว ให้การว่า น.ส.เปรี้ยว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด แต่ ป.ป.ส. ได้ประสานการข่าวเชิงลึกกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมาร์ซึ่งอยู่ระหว่างสืบสวนและตรวจสอบหลักฐาน พบว่า น.ส.เปรี้ยว มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด ทั้งยังต้องมีการสืบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การตั้งข้อหาสมคบ หรือสนับสนุนการค้ายาเสพติดกับน.ส.เปรี้ยว โดยคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาการสืบสวนพอสมควร

นอกจากนี้ ป.ป.ส.ยังอยู่ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินของน.ส.เปรี้ยว ว่า มีความเชื่อมโยงกับการค้ายาเสพติดหรือไม่ ซึ่งในส่วนของยาเสพติดนี้ ป.ป.ส.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปส. และเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาร์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีฆ่าหั่นศพแต่อย่างใด

ด้านพ.อ.ฉ่วย นา หม่อง (Pol. Col. Shwe Nyar Maung) ผู้อำนวยการส่วนปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.เมียนมาร์ กล่าวว่า จากคดีดังกล่าว ทางการเมียนมาร์ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามคดี โดยพร้อมประสานให้ความร่วมมือในด้านข้อมูลข่าวสาร แต่ในส่วนรายละเอียดข้อมูลยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบทางคดี

** “ศรีสุวรรณ” จี้สอบ ขรก.แห่จับ “เปรี้ยว”

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายฑิฆัมพร ยะลา เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบเรื่องรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการจำนวน 99 รายในบันทึกการจับกุม น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว กับพวก ผู้ต้องหาในคดีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและอำพรางศพว่า ทั้งหมดเป็นผู้เข้าร่วมจับกุมจริงหรือไม่ และมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อหวังประโยชน์อื่นใด เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้คดีเสียหาย เนื่องจากเมื่อคดีถึงชั้นการพิจารณาของศาล ศาลอาจออกหมายเรียกผู้ร่วมจับกุมทั้งหมดไปเป็นพยาน หากผู้มีชื่อร่วมจับกุมทั้ง 99 คน ให้ถ้อยคำไม่ตรงกัน หรือขัดแย้งกันจนทำให้เสียรูปคดี อาจเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้เมื่อทำการจับกุมแล้วยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาเดินทางโดยเครื่องบินฟอกเกอร์จาก จ.เชียงราย มายังกรุงเทพฯ เพียงเพื่อให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สอบปากคำและแถลงข่าว ก่อนจะนำตัวผู้ต้องหาเดินทางกลับไปยังพื้นที่เกิดเหตุที่ จ.ขอนแก่น เป็นการดำเนินการขัดต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายต่องบประมาณที่ต้องใช้ในการขนส่งผู้ต้องหาไปมาถึง 4 เที่ยวบิน โดยแต่ละเที่ยวบินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 1.5 แสนบาท ยังไม่รวมค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจในวันทำแผนฯ อีกกว่า 3 กองร้อย ค่าสืบสวนติดตาม และค่าพาหนะ

งบประมาณดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณจากภาษีประชาชน ถือได้ว่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปในลักษณะที่ไม่คุ้มค่าและไม่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งตรวจสอบ รวมทั้งเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องเพื่อการปรับปรุง แก้ไขกฎเกณฑ์ หรือระเบียบว่าด้วยการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาเสียใหม่ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อรูปคดีในอนาคตและไม่เป็นภาระต่อกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างในการปฏิรูปองค์กรตำรวจต่อไป

** รองโฆษก ตร. ยันเกี่ยวข้องกับคดี

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การมีรายชื่อในบันทึกการจับกุม หากไม่ได้ร่วมปฏิบัติการจับกุมจริงถือเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์อื่นใดในตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น โดยในบันทึกการจับกุมดังกล่าวส่วนแรกเป็นนายตำรวจที่เป็นผู้บังคับบัญชาในการคอยอำนวยการในทางคดี ส่วนที่สองคือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุม ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดเป็นกรณีไปว่าเกี่ยวข้องในขั้นตอนใด โดยหลักการแล้วนายตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องลงชื่อในบันทึกการจับกุมทั้งหมดทุกนาย เพราะในขั้นตอนต่อไปต้องไปปรากฏตัวที่ศาลเพื่อเป็นพยานในการจับกุม

*** "ศรีวราห์" โต้ เอาไปขอ 2 ขั้นไม่ได้

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบกรณี มีการแพร่บันทึกจับกุม น.ส.ปรียานุช หรือเปรี้ยว ซึ่งมีรายชื่อข้าราชการตำรวจกว่า 90 นาย ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเป็นพยานในชั้นศาลและใช้การมีชื่อในบันทึกจับกุมเพื่อเประโยชน์ สิทธิส่วนตนนั้น ว่า ได้รายงานเรื่องนี้ให้พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยผบ.ตร.สั่งการให้ตนดำเนินการในเรื่องนี้ จึงทำหนังสือสอบถามไปยัง พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผบก.ตม.5 เพื่อเตรียมข้อมูลชี้แจงต่อผู้ตรวจ เป็นปกติที่มีผู้ร้องเรียนเราต้องตรวจสอบ โดยเบื้องต้นได้รับการชี้แจงว่า บันทึกดังกล่าวเป็นบันทึกการรับมอบตัวผู้ต้องหา ไม่มีอะไรซับซ้อน ปกติการทำบันทึกจับกุมของตำรวจในคดีต่างๆ ก็เป็นลักษณะนี้ ที่มีทั้งรายชื่อผู้อำนวยการสั่งการ ผู้ปฏิบัติ ผู้ร่วมสืบสวนสอบสวน ในหลายคดีที่ประสานการสืบสวนร่วมกันหลายหน่วยก็เป็นแบบนี้ ตนยังเคยทำคดีที่มีรายชื่อผู้ร่วมจับกุมมากกว่า 100 คน

"กรณีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผู้สั่งการอำนวยการ ส่วนกลุ่มผู้ปฏิบัติก็มาจากหลายหน่วย บางคนแม้ไม่ได้มาด้วยตนเองแต่ประสานงานสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชามาทำปฏิบัติงาน "ถือว่ามีชื่อร่วมปฏิบัติการนี้ พล.ต.ต.บัณฑิต ได้แจ้งว่าการรับมอบตัวนี้มีผู้ร่วมปฏิบัติจริงตอนรับมอบตัว 40 ราย แต่ลงนามท้ายบันทึกจับกุมเพียง 10 รายเท่านั้น

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สั่งให้ตรวจสอบ ไม่ได้มองว่าเป็นความผิด หรือติดใจอะไรเลย ตนมองเป็นเรื่องปกติ ที่ตำรวจทำบันทึกจับกุมรูปแบบนี้ ส่วนที่ห่วงว่าจะกระทบการเป็นพยานในศาลนั้น คดีนี้ผู้ต้องหามอบตัว หากพนักงานสอบสวนจะให้เป็นพยานในชั้นศาลก็ต้องนำคนลงนามร่วมจับกุมเป็นพยาน ไม่ใช่ทุกคนที่มีชื่อในนี้ และต้องยืนยันว่ารายชื่อร่วมจับกุมทั้ง 90 นาย ไม่สามารถนำไม่ใช้เลื่อนขั้น ขอ 2 ขั้น หรือได้ตำแหน่งได้ คนละส่วนกัน

"นายศรีสุวรรณไม่ต้องห่วงประเด็นนี้ เพราะไม่มีอะไรเลย ตนให้ผบก.ตม.5 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเป็นข้อมูลชี้แจงต่อสื่อมวลชน และชี้แจงต่อผู้ตรวจเท่านั้น โดยให้รายงานผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน พร้อมกันนี้ได้สั่งให้ตรวจสอบกรณีภาพถ่ายตำรวจกับผู้ต้องหา และภาพผู้ต้องหานอนในที่ทำการตม.ด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น