สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบชื่อข้าราชการเกือบร้อยในบันทึกจับกุม “เปรี้ยว ฆ่าหั่นศพ” ร่วมจับจริงหรือไม่ หวั่นทำรูปคดีเสียหายหากศาลเรียกไปเป็นพยานแล้วให้การไม่ตรงกัน ชี้นำตัวบินมา กทม.เพื่อให้ ผบ.ตร.แถลงก่อนส่งกลับขอนแก่นส่อขัดต่อกฎหมาย ทำเสียงบถึง 4 เที่ยวบิน เที่ยวละ 1.5 แสน ไม่รวมเบี้ยเลี้ยงตำรวจ ชี้จ่ายไม่คุ้มค่า จี้เร่งสอบเสนอนายกฯ ให้แก้ระเบียบใหม่ ใช้เป็นตัวอย่างปฏิรูปตำรวจ
วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายฑิฆัมพร ยะลา เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบปรากฎชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการจำนวน 99 รายในบันทึกการจับกุม น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว กับพวก ผู้ต้องหาในคดีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและอำพรางศพว่า ทั้งหมดเป็นผู้เข้าร่วมจับกุมจริงหรือไม่ และมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อหวังประโยชน์อื่นใด เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้คดีเสียหาย เนื่องจากเมื่อคดีถึงชั้นการพิจารณาของศาล ศาลอาจออกหมายเรียกผู้ร่วมจับกุมทั้งหมดไปเป็นพยาน หากผู้มีชื่อร่วมจับกุมทั้ง 99 คน ให้ถ้อยคำไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกันจนทำให้เสียรูปคดี อาจเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้เมื่อทำการจับกุมแล้วยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาเดินทางโดยเครื่องบินฟอกเกอร์จาก จ.เชียงราย มากรุงเทพมหานคร เพียงเพื่อให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแถลงข่าว ทั้งที่กรุงเทพมหานครไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ ก่อนจะนำตัวผู้ต้องหาเดินทางกลับไปยัง จ.ขอนแก่นที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ เป็นการดำเนินการขัดต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายต่องบประมาณที่ต้องใช้ในการขนส่งผู้ต้องหาไปมาถึง 4 เที่ยวบิน โดยแต่ละเที่ยวบินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 150,000 บาท ยังไม่รวมค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจในวันทำแผนฯ อีกกว่า 3 กองร้อย ค่าสืบสวนติดตาม และค่าพาหนะ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณจากภาษีประชาชน ถือได้ว่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปในลักษณะที่ไม่คุ้มค่า และไม่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งตรวจสอบ รวมทั้งเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องเพื่อการปรับปรุง แก้ไขกฎเกณฑ์หรือระเบียบว่าด้วยการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาเสียใหม่ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อรูปคดีในอนาคต และไม่เป็นภาระต่อกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างในการปฏิรูปองค์กรตำรวจต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม นายศรีสุวรรณยอมรับว่า ยังไมได้ตรวจสอบว่าเอกสารบันทึกการจับกุมดังกล่าวที่มีการเผยแพร่อยู่ในขณะนี้เป็นบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่
ด้านนายฑิฆัมพร ยะลา เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา เพราะว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ