xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลสอบ ม.44 รถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช เอื้อประโยชน์จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาฯ องค์การพิทักษ์ รธน.ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครองสอบคำสั่ง ม.44 ผุดรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช ชี้เข้าข่ายเอื้อประโยชน์จีน ทำไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตย ยันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องออกใช้ ม.44 ลดขั้นตอน เล็งยื่น ป.ป.ช.-สตง.หากรัฐลงนาม



วันนี้ (19 มิ.ย.) สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายฐนภณ ธนวชิรนนท์ เจ้าหน้าที่สืบสวนอาวุโสระดับสูง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่ 30 /2560 กรณีเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงชาวกรุงเทพ-นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 60 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า เห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อเอกราช อธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ประกอบมาตรา 26 โดย 1. การก่อสร้างรถไฟฯดังกล่าวโดยให้การพัฒนาที่ดินด้านข้าง ๆละ150 เมตรตลอดเส้นทางเป็นของชาวจีน เข้าข่ายทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ

2. คำสั่ง คสช.ดังกล่าวยังได้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติไม่น้อย 7 ฉบับในเรื่องเกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบว่าด้วยพัสดุ ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรณรงค์เรื่องการสร้างความโปร่งใส แต่การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเท่ากับไม่เคารพกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล 3. การคำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องหลักการการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ที่กำหนดให้ คสช.ใช้อำนาจออกคำสั่งเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น แต่กรณีรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้การออกคำสั่งยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 265 อีกด้วย 4. เรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นเรื่องการทำสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา การมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งจึงน่าจะเป็นการกระทำที่ก้าวล่วง หาก สนช.ยกเว้นไม่ดำเนินการก็เท่ากับไม่รักชาติรักแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่ากรณีการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศจีนก็ขอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามมาตรา 221 ด้วย

“คิดว่า 4 ประเด็นน่าจะเพียงพอที่ผู้ตรวจฯจะใช้อำนาจหน้าที่ยื่นเรื่องดังกล่าวพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพราะคำสั่ง คสช. มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติเมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้บังคับ คสช.จะใช้อำนาจเหมือนปกติที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะมาคิดกัน แต่มีการเจรจากันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอกคำสั่งเพื่อมาลดขั้นตอนวิธีการในการดำเนินการหรือใช้อำนาจทุบโต๊ะซึ่งก็ไม่น่าจะเข้าหลักเกณฑ์ที่จะออกคำสั่งมาตรา 44 ด้วย”

นายศรีสุวรรณยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลดึงดันจนไปถึงขั้นของการลงนามสัญญากับประเทศไทย ตนก็จะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.และ สตง. เพราะถือว่ามีอำนาจหน้าที่โดยตรง



กำลังโหลดความคิดเห็น