xs
xsm
sm
md
lg

THAAD กับ “ความสมดุลทางยุทธศาสตร์” (2)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

<b>ขีปนาวุธตงเฟิงของจีน</b>
ระหว่างใครต่อใครกำลังกลัวอาวุธมหาประลัยอย่าง “อาวุธนิวเคลียร์” จนต้องหาทางลด-ละ-เลิก หรือพยายามจำกัดการสะสมให้น้อยลงๆ เข้าไว้ แต่ภายใต้ภาวะเช่นนี้...ยังก่อให้เกิด “ช่องว่าง” บางอย่างสอดแทรกเข้าจนได้ ด้วยอาวุธที่ใครต่อใครไม่ค่อยคิดจะพูดถึง หรืออาจไม่ค่อยกลัวกันซักเท่าไหร่ นั่นคือ “อาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์” หรือที่เรียกๆ กันว่า “อาวุธตามแบบแผน” (Conventional Weapon) ซึ่งต่างฝ่ายต่างพยายามหาทางพัฒนาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างกันและกัน...

และผู้ที่มีบทบาท มีเงินมีทองมากพอที่จะก้าวล้ำนำหน้าใครต่อใครชนิดไม่เห็นฝุ่น เห็นหาง ก็คงไม่ใช่ใครที่หนวย...นอกซะจากคุณพ่ออเมริกาผู้นี้นี่เอง!!! ด้วยการทุ่มเทงบประมาณปีละนับแสนๆ ล้านดอลลาร์ ชนิดที่งบประมาณทางทหารของตัวเอง มีจำนวนมากกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบงบทางทหารทั้งหมดของทุกประเทศในโลกนี้ ส่งผลให้การหันมาพัฒนา “อาวุธตามแบบแผน” ของกองทัพอเมริกานั้น ไปไกลในระดับพร้อมที่จะตั้งตัวเป็น “ประมุขโลก” (Hegemony) ได้เลยถึงขั้นนั้น เหมือนอย่างที่ “อเล็กซี่ อาร์บาตอฟ” (Alexei Arbatov) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธแห่งศูนย์คาเนกิ มอสโก (Carnegie Moscow Center) เคยกล่าวถึงบรรยากาศการแข่งขันทางอาวุธระหว่างชาติต่างๆ เอาไว้ว่า “ในสงครามสมัยใหม่...มีน้อยนักในหมู่ชาติมหาอำนาจ ที่หวาดกลัวต่ออาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ แต่มีประเทศจำนวนมากที่หวาดกลัวต่ออาวุธตามแบบแผนของอเมริกา โดยเฉพาะประเทศที่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง เช่น จีนและรัสเซีย เป็นต้น ที่ต่างวิตกเอามากๆ ต่อการเพิ่มขึ้นอย่างทบทวี และการมุ่งพัฒนาอาวุธประเภทนี้ จนไม่เพียงมีขีดความสามารถโจมตีอย่างแม่นยำยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังเพิ่มพิสัยทำการไกลออกไปทุกที ชนิดสามารถเชื่อมโยงไปถึงอวกาศ...”

การทุ่มทุน ทุ่มเทงบประมาณทหารเพื่อพัฒนา “อาวุธตามแบบแผน” จนทิ้งใครต่อใครชนิดไม่เห็นฝุ่นเห็นหางนี่เอง ที่ทำให้วันดี-คืนดี คุณพ่ออเมริกาท่านเกิดความมั่นอกมั่นใจต่อศักยภาพในการป้องกันความฉิบหายของตัวเอง ถึงขั้นพร้อมที่จะฉีกสัญญาข้อตกลงการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ หรือ “ABM” ที่เคยทำไว้กับรัสเซียในยุคสงครามเย็น หรือเพราะไม่ต้องกลัวว่าจะ “ฉิบหายด้วยกันทั้งคู่” อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากได้เนรมิตโครงการที่เรียกว่า “ระบบป้องกันขีปนาวุธทางอวกาศ” (Star Wars) ขึ้นมาได้สำเร็จ “สมดุลแห่งความกลัว” หรือ “สมดุลทางยุทธศาสตร์” ของโลกทั้งโลก จึงเริ่มเหือดหายลงไปนับตั้งแต่บัดนั้น...

แต่ก็นั่นแหละ...เรื่องของอาวุธ เรื่องของเทคโนโลยี มันคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ เพียงลูกเดียวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับสติ-ปัญญา ความรัก ความหวงแหน ต่อการปกป้องอธิปไตยของแต่ละชาติ อันสามารถดลบันดาลให้เกิดการดิ้นรน การหาทางลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างกันและกันได้เสมอๆ ดังนั้น...แทนที่จะทุ่มเทเงินทองจำนวนมหาศาลไปกับการสร้างศักยภาพทางทหารให้เทียบเคียงกับอเมริกาที่แทบเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วแน่ๆ หลายต่อหลายประเทศซึ่งไม่พร้อมจะตกเป็นเป้านิ่ง และไม่คิดหันซ้าย-หันขวาตามคำสั่งของประมุขโลกในแต่ละเรื่อง แต่ละกรณี จึงพยายามหันมาพัฒนาระบบป้องกัน โจมตีไปตรง “จุดอ่อน” เท่าที่พอจะหาได้ในศักยภาพทางทหารของอเมริกากันแทนที่ ไม่ว่าจากพื้นที่ระดับสูงขึ้นไปถึง “อวกาศ”อันไร้ขอบเขตและไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของ ด้วยการหันมาสร้างขีดความสามารถในการรบกวน สร้างความยุ่งยากให้กับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในอวกาศ เช่น การลงทุนไม่กี่ตังค์ในการปล่อยทุ่นอวกาศ ขยะอวกาศ ก่อกวนคลื่นสัญญาณดาวเทียม พัฒนาอาวุธพลังงานที่แตกระเบิดในระดับชั้นบรรยากาศ ฯลฯ เป็นต้น...

ชนิดส่งผลให้อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีผู้ดูแลนโยบายป้องกันอวกาศของสหรัฐฯ อย่าง “นายเกรกอรี่ ชูลต์” (Gegory Schulte) ถึงกับเคยพึมพำไว้เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาว่า... “เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว เราแทบไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลกับสิ่งเหล่านี้ แต่ขณะนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเร่งทบทวนกันใหม่ เพราะบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ในอวกาศ ซึ่งพยายามสอดแทรกเข้ามาแสดงพลังในขอบเขตพื้นที่เหล่านี้ มีอยู่มากหน้าหลายตา ไม่ว่าจีน อิหร่าน หรือแม้แต่ประเทศจนๆ อย่างเอธิโอเปีย ยังมีขีดความสามารถปล่อยคลื่นรบกวนดาวพาณิชย์ได้สบายๆ และถ้าแม้แต่เอธิโอเปียยังสามารถกระทำสิ่งเหล่านี้ได้ อีกหลายๆ ประเทศย่อมสามารถหาทางตอบโต้ดาวเทียมทางทหารของเราได้เช่นกัน...”

นอกเหนือไปจากนั้น...ศักยภาพทางทหารของสหรัฐฯ ยังไม่ได้มี “จุดอ่อน” อยู่แค่เฉพาะในห้วงอวกาศเท่านั้น แม้แต่ “จุดแข็ง” ที่สุดของแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ คือบรรดา “เรือบรรทุกเครื่องบิน” แต่ละลำ ที่ไม่ต่างไปจาก “ฐานทัพเคลื่อนที่” กระจัดกระจายอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ก็ยังพอเปิดช่อง เปิดโอกาส ให้บางประเทศสามารถสร้าง “สมดุลทางยุทธศาสตร์” ขึ้นมาใหม่ได้บ้าง ด้วยการพัฒนา “อาวุธตามแบบแผน” ขึ้นมารับมือกับศักยภาพทางทหารของสหรัฐฯ ได้ไม่น้อยไปกว่าพื้นที่ในอวกาศเช่นกัน เช่นการพัฒนาขีปนาวุธชนิดใหม่ของจีนที่ถูกเรียกขานกันในกองทัพสหรัฐฯ ว่า “Wu-14” เรียกขานกันในกองทัพจีนว่า “DF-ZF” หรือ “DF-21 D” อันย่อมาจากคำว่า “ตงเฟิง” หรือ “Dong Feng 21 D” ด้วยขีดความสามารถของอาวุธชนิดประเภทนี้นี่แหละ ที่ว่ากันว่า...ได้กลายมาเป็นพื้นฐานให้เกิดแรงกระตุ้นในการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธที่เรียกว่า “ทาด” หรือ “ถาด” เพื่อหาทางทำลาย “สมดุลทางยุทธศาสตร์” ให้ยับเยินยู่ยี่ลงไปอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นเช่นไรนั้น...คงต้องไปว่ากันอีกซักวัน-สองวัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น