รอยเตอร์ - นายใหญ่เพนตากอนย้ำแม้อุ่นใจที่จีนให้ความร่วมมือในการกำราบเกาหลีเหนือ แต่วอชิงตันจะไม่ยอมรับการประจำการณ์ทางทหารของปักกิ่งบนหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ชี้อเมริกายินดีกับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน แต่สองประเทศคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันและความขัดแย้งได้
การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของจิม แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในงานประชุมด้านความมั่นคงประจำปีของเอเชีย “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” เมื่อวันเสาร์ (3 พ.ค.) สะท้อนวิธีการที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามรักษาสมดุลระหว่างการร่วมกับจีนเพื่อสกัดเกาหลีเหนือในการเดินหน้าโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ขั้นสูง ควบคู่กับการรับมือกิจกรรมของปักกิ่งในทะเลจีนใต้
ก่อนหน้านี้บรรดาชาติพันธมิตรของอเมริกาต่างกังวลที่เห็นทรัมป์กระตือรือร้นเข้าหาประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เพื่อให้ช่วยกำราบเปียงยาง เนื่องจากกลัวว่าวอชิงตันอาจยอมอ่อนข้อให้ปักกิ่งในประเด็นอื่นๆ ในเอเชีย
พันธมิตรบางชาติแสดงความกังวลว่า การที่ลุงแซมถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกและข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอเมริกากำลังลดทอนบทบาทผู้นำโลกของตัวเอง
ทว่า แมตทิสยืนยันเมื่อวันเสาร์ว่า สหรัฐฯ ยังคงยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การระงับหรือชะลอโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกด้านความมั่นคงของวอชิงตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเปียงยางประกาศพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถโจมตีได้ถึงแผ่นดินใหญ่ของอเมริกา
คณะบริหารของทรัมป์กดดันจีนอย่างหนักให้กำราบเพื่อนบ้านดาวแดง และเตือนว่า เตรียมทางเลือกไว้ทั้งหมดแล้ว หากเกาหลีเหนือยังดื้อดึงเดินหน้าโครงการอาวุธ
แมตทิสกล่าวว่า วอชิงตันอุ่นใจที่จีนฟื้นความมุ่งมั่นในการร่วมกับนานาชาติเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ และเชื่อว่า ที่สุดแล้วปักกิ่งจะตระหนักว่า เปียงยางเป็นภาระเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า การขอความร่วมมือจากจีนเรื่องเกาหลีเหนือ ไม่ได้หมายความว่า วอชิงตันจะยอมให้ปักกิ่งติดตั้งอาวุธและทรัพยากรทางทางทหารอื่นๆ บนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และจีนอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมด ทำให้มีข้อพิพาทกับบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม นอกจากนั้น จีนและญี่ปุ่นยังแย่งชิงสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก
แมตทิสย้ำว่า อเมริกาไม่สามารถและจะไม่ยอมรับการบีบบังคับตามอำเภอใจเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะดั้งเดิม
ทางด้าน พล.ท.เหอ เล่ย หัวหน้าคณะผู้แทนของจีน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเชื่อว่าถ้าจีนและอเมริกาสามารถรับประกันว่าจะไม่มีความขัดแย้ง รวมทั้งยังคงเคารพและไว้วางใจซึ่งกันและกัน และคงความร่วมมือระหว่างกัน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก
ขณะเดียวกัน พันธมิตรทั่วโลกต่างกังวลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ นับจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม เนื่องจากแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ทำให้ตีความได้ว่า ทรัมป์อาจให้ความสำคัญกับประเด็นในประเทศเป็นหลัก
ไฮชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย กล่าวว่า กัวลาลัมเปอร์ยังคงพยายามตีความนโยบายในเอเชียของทรัมป์ และต้องการรู้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของคณะบริหารใหม่ของอเมริกา
แมตทิสคลายกังวลของพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิกโดยกล่าวว่า ภูมิภาคนี้คือเป้าหมายสำคัญอันดับแรก และความพยายามหลักของอเมริกาคือการสร้างพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอในการปกป้องความมั่นคงของตัวเอง
นายใหญ่เพนตากอนสำทับว่า ในไม่ช้านี้ ทรัพยากรการบินเชิงกลยุทธ์นอกประเทศของอเมริการาว 60% จะโอนย้ายมายังเอเชียแปซิฟิก และเขาจะทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐ เพื่อร่างแผนการริเริ่มสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาคนี้
แมตทิสทิ้งท้ายว่า อเมริกายินดีกับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน แต่เขาคาดว่า การแข่งขันระหว่างอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นสองชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งหมายความว่า สองชาติคงไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้