xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถวายคืน “พระราชอำนาจ” สถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” เครือข่าย “ธัมมี่” ดิ้นพราดๆ ทำไมกันจ๊ะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากไม่นับรวมเรื่องการบุกจับพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมฺชโย) เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ วัดพระธรรมกายแล้ว เรื่องใหญ่ใน “ยุทธจักรดงขมิ้น” หรือแวดวงพระพุทธศาสนาไทยที่ร้อนและแรงที่สุด เห็นทีจะหนีไม่พ้นกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงชื่อขอให้มีการแก้ไข “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505(แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535)”

เนื่องเพราะเป็นการเสนอแก้ไขใน “มาตรา 7” ของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่อง “การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช”

เป็นเรื่องร้อนที่สร้างความสั่นสะเทือนไม่น้อย และผู้ที่เดือดเนื้อร้อนใจเป็นที่สุดก็คือ “วัดพระธรรมกาย”และ “ศิษยานุศิษย์” ของอาณาจักรบุญแห่งนี้ชนิดที่เรียกว่า เก็บอาการเอาไว้ไม่อยู่และดิ้นพลาดๆ ออกมาผรุสวาทในโลกโซเชียลกันเลยทีเดียว

เครือข่ายวัดพระธรรมกายดิ้นพลาดๆ พร้อมทั้งปลุกระดมและบิดเบือนโดยนำไปโยงกับเรื่องการจับกุมพระธัมมฺชโยด้วยการสื่อสารกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหาว่า สร้างกระแสการบุกวัดพระธรรมกลายเพื่อลักไก่แก้ไขกฎหมาย

และ “สาเหตุ” ที่ดิ้นพลาดๆ ราวกับไส้เดือนถูกขี้เถ้าก็เพราะ สนช.ต้องการแก้มาตรา 7 ซึ่งเป็นเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็น “พระราชอำนาจ” เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต มิใช่เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งให้ยึดโยงกับลำดับความอาวุโสโดยสมณศักดิ์ คือใครได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จ” ก่อน ก็มิสิทธิเป็นสมเด็จพระสังฆราชก่อน

บิดเบือนถึงขนาดบอกว่า “บวชกี่พรรษาก็สามารถก้าวขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้”

เหตุที่เครือข่ายวัดพระธรรมกายดิ้นพลาดๆ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไรกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในหมู่เครือข่ายธรรมกาย ก็เพราะเรื่องนี้จะกระทบกับเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกของ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ในขณะนี้

เหตุที่เครือข่ายวัดพระธรรมกายดิ้นพลาดๆ ก็เพราะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ นั้น มีความสัมพันธ์อัน แนบแน่นกับวัดพระธรรมกายและพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยของพวกเขา ทั้งในฐานะพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย และในฐานะผู้ที่เอ็นดูและเอื้ออาทรต่อวัดพระธรรมกายตลอดรวมถึงพระธัมมฺชโย ดังปรากฏให้เห็นตลอดมา

ทั้งนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานท์ โฆษกวิป สนช. แถลงภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิก สนช. จำนวน 84 คน เพี่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช “จริง” โดยให้ “ยกเลิก” ข้อบัญญัตเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช” และ “แก้ไข” เป็น “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งเป็นข้อบัญญัติเดิมของมาตรา 7 ใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ที่มีพล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ให้เหตุผลการเสนอแก้ไขดังกล่าวว่าได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว และเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณี ที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

หรือที่ นพ.เจตน์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นการตัดสินการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชออกไปจากมหาเถรสมาคม(มส.) เพื่อเป็นการผ่าทางตันของปัญหา

และฉับพลันทันทีที่ข้อมูลชัดเจนออกมา เครือข่ายวัดพระธรรมกายก็ดาหน้าโจมตีกันทันทีว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่มีมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยเข้ามามีส่วนร่วม ประหนึ่งว่า ให้ฆราวาสเป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแต่เพียงฝ่ายเดียว

เฉกเช่นเดียวกับ “ขาประจำ” อย่าง “พระเมธีธรรมาจารย์” หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ผู้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์แห่งวัดปากน้ำและระบอบทักษิณ ที่ขู่ฟ่อๆ ว่าเตรียมจะก่อ “ม็อบพระ” ทั่วประเทศ

“มีความผิดปกติอยู่มาก เพราะจากการพยายามปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันอย่างหนึ่ง คือการแก้ที่มาของการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบัน จึงขอถามในนามพระสงฆ์รูปหนึ่งว่า ทำไมคฤหัสถ์ญาติโยมเหล่านี้ มีความเดือดร้อนอะไรกันมากมายขนาดนี้ ต่อการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทย ทำไมวันนี้จึงมีการดิ้นรนอะไรกันเช่นนี้ การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทรงสถาปนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นแนวปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีและการยอมรับกันในวงการคณะสงฆ์ ขณะนี้คณะสงฆ์ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีรูปไหนเดือดร้อนอะไรเลย ทุกรูปอยู่กันอย่างปกติ คณะสงฆ์ก็ปกครองกันไป จะเข้ามาล้วงลูกกันเช่นนี้ จะเป็นการไม่ถวายเกียรติ และจะไม่ให้ท่านปกครองกันเองได้บ้างหรือไร

“ท่านที่เป็นคฤหัสถ์ท่านต้องศึกษา เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีในองค์กรสงฆ์บ้าง เช่น เวลาพระท่านนั่งตามลำดับในพระราชพิธีท่านลำดับการนั่งอย่างไรทำไมปฏิบัติเช่นนี้ ท่านเคยรู้บ้างหรือไม่ อาตมาบอกได้เลยว่า ถ้าพล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ และคณะมวลสมาชิกบางท่านใน สนช. จะฉวยโอกาสในช่วงชุลมุนวุ่นวายฝุ่นตลบนี้ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ท่านจะต้องพบต้องเจอกับองค์กรพุทธ และพระสงฆ์อีกจำนวนมากมายทั่วประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้”เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาประกาศกล่าว

แน่นอน สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าหากมีการแก้ไขกฎหมายถวายคืนพระราชอำนาจลุล่วงไปได้ด้วยดีก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) จะได้รับผลกระทบโดยตรงในการก้าวขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 มหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีการประชุมวาระพิเศษ การเสนอรายนาม สมเด็จพระราชาคณะ เพื่อเสนอสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

คำถามที่เกิดขึ้นต่อเจ้าคุณประสาร สาวกธรรมกายและเหล่าคณะสงฆ์ก็คือ การ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น มิใช่เป็นโบราณราชประเพณีดอกหรือ ที่สำคัญคือก่อนหน้านี้ อำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก็เป็น “พระราชอำนาจ” อยู่แล้ว
แรกเริ่มเดิมที การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช นั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 ว่า “...พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช.” แค่นั้น ไม่มีข้อความใดต่อท้าย หมายความว่าเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ครั้นเมื่อถึง ปี 2535 จึงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับแก้ไขปี 2535 เท่ากับ กำหนดตายตัว ไว้ที่ สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ แต่เพียงประการเดียว และไม่ได้มีการเขียนไว้ในกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้พิจารณา ความเหมาะสม ด้วย ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงกระทบต่อหลัก อาวุโสโดยพรรษา ตาม พระวินัย ที่กำหนดให้พระสงฆ์นับถือ อาวุโสทางพรรษา มาช้านาน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ หลายคนเชื่อว่า แก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์ ว่าด้วย การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ให้กลับไปเป็น พระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ จะทำให้ ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงค่อย ๆ คลี่คลายตามมา

และถ้าจะว่าไปแล้ว การถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก็เป็นการช่วยทำให้พระสงฆ์ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น แสวงหาวิมุติธรรม ม่งหน้าสู่โลกุตระ มิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิเลสและโลกียะทั้งหลายทั้งปวง หรือถ้าจะเกี่ยวข้องก็ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

พระสงฆ์จะเดือดร้อนอะไรกับลาภ ยศ สรรเสริญ อันเป็นเครื่องปรุงแต่งแห่งกิเลสเหล่านี้ หรือว่า เป้าประสงค์ในการบวชของเจ้าคุณประสารและเหล่าคณะสงฆ์คือ สิ่งเหล่านี้




กำลังโหลดความคิดเห็น