มหาดไทย มึน! อปท.นับพันแห่งเมินใช้เงินสะสมลงทุน หรือ “เงินก้นถุง” รวมกว่า 2 แสนล้านบาท ร่วมกับรัฐที่สมทบกว่า 9 พันล้านบาท เพื่อใช้จ่ายตามมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจและสังคมภายในท้องถิ่น สั่งเร่งสำรวจ เหตุผล อปท.ไม่ขอรับสนับสนุนงบประมาณ พบปัญหาเบื้องต้น “สภาท้องถิ่น” ไม่เห็นชอบให้จ่ายขาดเงินสะสม แถมผู้บริหารท้องถิ่นไม่เสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินสะสมให้สภาท้องถิ่นพิจารณา
วันนี้ (14 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยเตรียมสรุปข้อมูลปัญหาอุปสรรคการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ภายหลัง ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย.เห็นชอบให้ อปท.นำเงินสะสมมาใช้จ่ายตามมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจและสังคมภายในท้องถิ่น ภายหลังได้รับรายงานจาก อปท.ทุกจังหวัด โดยจะรับทราบผลการใช้จ่ายในรอบล่าสุดวันที่ 30 ธ.ค.นี้ และจะมีการรายงานทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานผลการใช้จ่ายเงินสะสมตามมาตรการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับ อปท. พบว่าจำนวน อปท.ที่ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามมาตรการดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 มีจำนวนค่อนข้างน้อย พบว่ามี อปท.ไม่ขอรับสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนให้มีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว”
มีรายงานว่า ปัญหาที่ อปท.ไม่ขอรับเงินสมทบจากภาครัฐ เช่น สภาท้องถิ่นไม่เห็นชอบให้จ่ายขาดเงินสะสม ยังพบว่า ผู้บริหารท้องถิ่นไม่เสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินสะสมให้สภาท้องถิ่นพิจารณา ท้องถิ่นบางแห่งจำนวนเงินสะสมมีเหลือไม่เพียงพอที่จะจัดทำโครงการโดยไม่ต้องขอเงินสมทบ บางแห่งจำนวนเงินสะสมหลังจากหักสำรองรายจ่ายที่จำเป็นฉุกเฉินแล้วมีเหลือไม่เพียงพอที่จะสมทบในอัตรา 1 : 1 (รัฐบาล 1 อปท.1) และท้องถิ่นมีจำนวนเงินสะสมหลังจากหักสำรองรายจ่ายที่จำเป็นฉุกเฉินแล้วติดลบไม่สามารถนำเงินมาใช้จ่ายได้
นอกจากนี้ยังพบว่า สาเหตุที่ อปท.บางแห่งยังไม่ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น เกิดจากหลักเกณฑ์โครงการที่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติงบรายจ่ายปี 2560 ของท้องถิ่น และหลักเกณฑ์ที่ อปท.จะต้อง่ายเงินสะสมในจำนวนที่ไม่น้อยกว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรสมทบให้
ทั้งนี้ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 59 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอและมอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ พร้อมทั้งจัดทำระบบกำกับดูแล ติดตามโครงการและรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของ อปท. ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ อปท.นำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น ประกอบด้วย
1. มาตรการสนับสนุนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและ อปท. (Matching Fund) มี วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ และสร้างแรงจูงใจให้ อปท.มีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ของตนเองร่วมกับรัฐบาลกลุ่มเป้าหมาย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) รวม 7,851 แห่ง
โดยประเภทโครงการ จะต้องเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.ตามแผนการพัฒนาของ อปท.ที่จัดทำตามระเบียบกระทวงมหาดไทยว่าด้วย การจัดทำแผนพัฒนาของ อปท.พ.ศ. 2548 เช่น โครงการพัฒนาเส้นทาง การคมนาคม โครงสร้างพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวชุมชน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ อปท.ได้รับการถ่ายโอนจากส่วนราชการต่างๆ และจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของ อปท. และ อปท.สามารถเสนอโครงการที่จะดำเนินการได้มากกว่า 1 โครงการแต่ไม่เกินวงเงินสูงสุดที่ อปท.แต่ละประเภทจะได้รับ
2. มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ อปท. มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน กลุ่มด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการในท้องถิ่น กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนกลุ่มด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและผู้พิการในเขต อบจ. เทศบาล และ อบต. (ไม่รวมกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) ประเภทโครงการ เป็นโครงการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของ อปท. ดังนี้ 1) โครงการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น 2) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กผู้ด้อยโอกาส 3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 4) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ
มีรายงานว่า สำหรับข้อเสนอการจัดงบประมาณสมทบของรัฐ ประกอบด้วย งบประมาณที่จะสมทบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 76 แห่ง วงเงิน 380 ล้านบาท งบสมทบให้เทศบาลนคร 30 แห่ง วงเงิน 105 ล้านบาท เทศบาลนคร 178 แห่ง วงเงิน 623 ล้านบาท เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง วงเงิน 3,349.50 บาท องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ขนาดใหญ่ 35 แห่ง วงเงิน 52.50 ล้านบาท อบต.ขนาดกลาง 177 แห่ง วงเงิน 265.50 ล้านบาท อบต.ขนาดเล็ก 5,122 แห่ง วงเงิน 5,122 ล้านบาท รวม อปท. 7,851 แห่ง รวมวงเงิน 9,897.50 ล้านบาท
สำหรับเงินสะสมของ อปท.ย้อนหลัง 4 ปี (2555-2558) พบว่า อบจ.มีเงินสะสม 25,254 บาท เทศบาล มีเงินสะสม 98,570 ล้านบาท อบต.มีเงินสะสม 82,874 ล้านบาท โดยรวมเงินสะสมทั้งสิ้น 215,104 ล้านบาท