xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านแล้ว 7.5 หมื่นล้าน งบ กทม.ปี 60 หั่นเหี้ยน 900 ล้าน งบผูกพันชายหมู-โยกเข้างบกลาง 1.3 หมื่นล้าน ผู้บริหารชุดเดิมได้ใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่านแล้วงบประมาณ กทม.ปี 60 กว่า 7.5 หมื่นล้าน “สภา กทม.” ปรับลดทุกหน่วย 941 ล้าน แต่โยกเข้างบกลาง 13,588 ล้านใช้ในกรณีฉุกเฉิน พบสูงกว่าปี 59 ถึง 4 พันล้าน สั่งเบรกงบฯ จ้างที่ปรึกษาทุกหน่วย เน้นเทงบลงพัฒนาพื้นที่ 50 เขต พบนโยบายชายหมูถูกหั่นเหี้ยนส่วนใหญ่ผูกพันข้ามปี ทั้ง “โครงการโรงเรียนดนตรี” ระงับหมดทั้ง 76 ล้าน ระงับ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย” วงเงิน 200 ล้าน ส่วนสำนักโยธาถูกหั่นมากสุด 870 ล้าน เผยโครงการเดินเรือผดุงกรุงเกษม-ภาษีเจริญ นโยบายนายกฯ ตู่ก็ถูกหั่น ผู้บริหารเล็งขอ ครม.แทน 350 ล้าน เผยรองผู้ว่าฯ ยุคชายหมูมีอำนาจบริหารเงินเหมือนเดิม

วันนี้ (2 ก.ย.) มีรายงานจากศาลาว่าการ กทม.ว่า เมื่อวานนี้ (1 ก.ย.) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2559 ได้เห็นชอบผ่านร่างข้อบัญญัติเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วาระสอง และสาม (งบประมาณกรุงเทพมหานคร) จำนวน 76,577,417,000 บาท โดยปรับลดลงจำนวน 941 ล้านบาท ให้คงเหลือ 75,635,821,500 บาท ภายหลังคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 36 คน แบ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ 27 คน ฝ่ายบริหาร 9 คนได้กำหนดกรอบระยะเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ย. 59 นี้ และได้พิจารณาเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวาระสองและสาม และส่งให้ผู้บริหาร กทม. (นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 1 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ตามระเบียบพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 55 หน้าที่รองผู้ว่าฯ หากผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้เป็นอำนาจของรองผู้ว่าฯ กทม.อันดับ 1 ตามมาตรา 81 ปฏิบัติหน้าที่แทน) ลงนาม

นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภา กทม.ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ระบุว่า คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตัดงบประมาณ จำนวน 941 ล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็น ซึ่งในปี 2560 ตั้งงบประมาณไว้ 7.6 หมื่นล้าน ส่วนที่เหลือหากภายในเดือน ก.ย. 2560 ถ้า กทม.จัดเก็บเงินได้ 7.6 หมื่นล้าน เงินที่เหลือ 941 ล้านก็เป็นเงินสะสม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการวิสามัญฯได้ลงพื้นที่จริงๆ เพื่อยึดความคุ้มค่า ยึดหลักธรรมาภิบาล และหลักประชาธิปไตย เสียงจากคณะกรรมการวิสามัญฯ 36 คนถ้าเสียงข้างมากให้ผ่านก็ผ่าน หรือถ้าไม่ให้ผ่านก็ไม่ให้ผ่านได้

สำหรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พบว่า กทม.ได้เสนอของบประมาณ 76,577,417,000 บาท เป็น งบลงทุนเพื่อการดำเนินโครงการต่างๆ จำนวน 15,353 ล้านบาท และเป็นงบรายจ่ายประจำ จำนวน 60,647ล้านบาท แต่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตัดงบประมาณ ทั้งสิ้น 941,595,500 บาท คงเหลือ 75,635,821,500 บาท แบ่งออกไปใช้ในการพาณิชย์ 577,417,000 บาท ทำให้งบประมาณประจำปี 2560 คงเหลือ 75,058,404,500 บาท โดยแบ่งเป็นสำนักต่างๆ ดังนี้

1. สำนักพัฒนาสังคม 393,509,800 บาท 2. สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว 1,575,796,000 บาท 3. สำนักการศึกษา 1,002,754,400 บาท จากเดิมขอมา 1,171,815,000 บาท ถูกตัดลด 169,060,600 บาท 4. สำนักการจราจรและขนส่ง 3,924,930,400 บาท จากเดิมขอมา 4,031 ล้านบาท 5. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 390,994,000 บาท 6. สำนักเทศกิจ 193,836,000 บาท 7. สำนักการโยธา 8,241,910,500 บาท จากเดิมขอมา 9,112 ล้านบาท ถูกตัดลด 870,471,500 บาท 8. สำนักผังเมือง 168,999,000 บาท 9. สำนักการระบายน้ำ 5,881,899,000 บาท จากเดิมขอมา 6,598 ล้านบาท ถูกตัดลด 716,186,000 บาท 10. สำนักงานเลขานุการสภา กทม. 75,157,700 บาท

11. สำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. 70,957,000 บาท 12. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกทม. (สำนักงาน ก.ก.) 122,173,400 บาท 13. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 971,745,200 บาท 14. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 406,641,400 บาท 15. สำนักงบประมาณ 73,034,000 บาท 16. สำนักการคลัง 4,551,633,000 บาท จากเดิมขอมา 4,651 ล้านบาท 17. สำนักสิ่งแวดล้อม 6,916,651,500 บาท จากเดิมขอมา 6,663 ล้านบาท 18. สำนักอนามัย 2,502,030,800 บาท 19. สำนักการแพทย์ 3,308,082,000 บาท 20. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 1,984,191,400 บาท 21. งบกลาง 13,588,494,100 บาท และการพาณิชย์ แบ่งเป็น สำนักงานสถานธนานุบาล กทม. 285,450,000 บาท สำนักงานตลาด กทม.287,131,000 บาท และสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย 4,836,000 บาท

ทั้งนี้ยังพบว่า สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เขตลาดกระบัง 603,230,000 บาท เขตวังทองหลาง 577,339,000 บาท เขตบางขุนเทียน 568,627,000 บาท เขตหนองจอก 542,777,800 บาท และเขตจตุจักร 534,968,000 บาท ในขณะที่เขตได้งบน้อยสุดได้แก่ สัมพันธวงศ์ 195,928,000 บาท

นายนิรันดร์ยังระบุว่า สำหรับงบประมาณของโครงการที่ผูกพันข้ามปี ซึ่งฝ่ายบริหารอ้างว่ามีความจำเป็นเนื่องจากไม่มีเงินก้อนในการดำเนินแต่ละโครงการ แต่ทางคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่างบผูกพันข้ามปีเป็นการทำให้วินัยการเงินของ กทม.ดูอุ้ยอ้าย ในหลายโครงการคณะกรรมการวิสามัญฯ ก็มีความจำเป็นต้องตัดงบตรงนี้

ส่วนงบประมาณผูกพันข้ามปีที่มีการขอเพื่อเพื่อดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา ในบางโครงการก็จำเป็นต้องตัดงบประมาณเท่าที่จำเป็น โดยในการของบประมาณครั้งนี้พบว่า สำนักที่ของบประมาณผูกพันมากที่สุดอันดับต้นๆ ประกอบด้วย สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของ กทม. ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของคณะชุดนี้ ที่จะหมดวาระเดือนมีนาคม 2560 สภา กทม.จะไม่มุ่งเน้นในโครงการที่มีภาระผูกพันอย่างเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหา แก่ผู้บริหาร กทม.ในชุดถัดไป

มีรายงานด้วยว่า แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.จะถูกคำสั่งมาตรา 44 ฉบับล่าสุด ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว โดยยังไม่พ้นจากตำแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระเบียบพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) พบว่า ตามระเบียบพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 55 บังคับให้มีรองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อมาช่วยผู้ว่าฯ กทม.ปฏิบัติหน้าที่จำนวน 4 คน

ดังนั้น เมื่อผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เป็นอำนาจของรองผู้ว่าฯ กทม.อันดับ 1 ตามมาตรา 81 ปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งคือนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 1 ทันทีที่คำสั่ง คสช.มีผลนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยรองผู้ว่าฯ กทม.จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1. นางผุสดี ตามไท 2. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 3. นายจุมพล สำเภาพล และ 4. นายอมร กิจเชวงกุล ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณรายจ่าย จำนวน 75,635,821,500 บาท ในการพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านต่างๆ ตามนโยบายมหานคร 6 ด้าน ประกอบด้วย ความปลอดภัย สาธารณะสุข ขนส่งมวลชน มหานครสีเขียว มหานครแห่งการเรียนรู้ มหานครแห่งโอกาสของทุกคน มหานครแห่งอาเซียน และด้านอื่นๆ สานต่อนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

มีรายงานอีกว่า สำหรับการพิจารณากว่า 45 วันตามกรอบเวลาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พบว่า การพิจารณาปรับลดงบประมาณหน่วยงาน กทม.ในรายการและโครงการต่างๆ ที่เสนอขอมา ทางผู้บริหาร กทม.ได้พิจารณาจัดทำรายการต่างๆ ขึ้นใหม่หลังจากมีความเข้มงวด โดยเฉพาะ “งบประมาณผูกพันข้ามปี” โดยสภา กทม.ขอให้ผู้บริหาร กทม.นำงบประมาณที่ขอไปไว้ที่งบกลางเพื่อนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ โดยพบว่า มีงบประมาณ ปี 2560 โยกไปอยู่ที่งบกลางถึง 13,588,494,100 บาท ซึ่งต่างจากงบกลางประจำปีงบประมาณ 2559 ที่ กทม.ตั้งไว้ จำนวน 9,227,690,038 บาท โดยพบว่างบกลางปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 4,360,804,062 บาท

ยังพบว่า ส่วนการปรับลดงบประมาณจำนวนกว่า 870 ล้านบาทของสำนักโยธา ส่วนใหญ่จะเป็น “งบจากการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษา หรือควบคุมงาน” ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่า การจ้างที่ปรึกษาในการทำงาน ควรเป็นโครงการที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง และงบประมาณ ในการจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ควรใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมมากที่สุด อีกทั้งมีการปรับลดหรือการจัดซื้ออุปกรณ์ซ่อมบำรุงทาง ซึ่งคณะกรรมการฯมีความเห็นว่า ควรจัดซื้อในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก บางโครงการอาจมีการตั้งงบประมาณเพื่อขอจัดสรรมากจนเกินไป

พบว่า คณะกรรมการวิสามัญยังจัดสรรงบประมาณเพิ่ม สำหรับสำนักงานเขต 50 เขต เนื่องจากเขตมีบทบาทสำคัญในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเขตฯมีงบประมาณที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอการขอจัดสรรงบประมาณจากสำนัก หรือหน่วยงานอื่นๆ

มีรายงานด้วยว่า สำหรับโครงการตามนโยบายหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในคราวลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เช่น โครงการโรงเรียนดนตรี กีฬาและศิลปะการแสดงของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ที่มีแผนระยะ 10 ปี (2555-2564) ใช้งบรวม 4,578,775,000บาท โดยมีแผนก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีงบประมาณ 2560 โครงการนี้ขอมา 76,485,900บาท (งบสำนักวัฒนธรรมฯ ได้จัดสรร 1,575,796,000 บาท) แต่ โครงการดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน

ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษารายละเอียดแล้วพบว่า เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนการทำงาน อีกทั้งพื้นที่ที่จะก่อสร้างเป็นโรงเรียนฯ ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะใช้พื้นที่ใด ดังนั้นจึงเห็นควรในการตัดงบประมาณดังกล่าวในปี 2560 ทั้งหมด เนื่องจากงบประมาณ กทม.นั้นมีจำนวนจำกัด มีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณในโรงการที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนก่อน อีกทั้งนโยบายโรงเรียนดนตรี กีฬา และศิลปะการแสดง กทม.เป็นนโยบายของผู้บริหาร กทม.ในชุดปัจจุบัน ซึ่งใกล้จะหมดวาระการทำงาน ซึ่งโครงการที่ต้องผู้ผันต่อเนื่องยาวถึง 10 ปี จึงความพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่ผู้บริหาร กทม.ในชุดถัดไป

มีรายงานว่า โครงการนี้ติดปัญหามีผู้บุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยซึ่งยังไม่สามารถทำการเจรจาให้ย้ายออกจากพื้นที่ได้ รวมทั้งอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งข้อสังเกตความไม่โปร่งใสของโครงการนี้ด้วย

นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการฯ ยังระงับ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย บริเวณอาคารของพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งที่ 1 (จตุจักร)” ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ขอมา 200 ล้านบาท ซึ่งงบผูกพัน ตามพันธสัญญาที่ กทม.ให้ไว้กับองค์การยูเนสโก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยปี 2560 สวท.ขอมา 60 ล้านบาท แต่สภา กทม.ยังไม่อยากให้ดำเนินโครงการที่มีการตั้งงบผูกพัน เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนคณะผู้บริหารชุดนี้ก็จะหมดวาระการทำงานแล้ว การดำเนินโครงการอาจไม่ต่อเนื่อง และอาจเป็นภาระของคณะผู้บริหาร กทม.ในชุดต่อไป จึงอยากให้งบประมาณที่มีอยู่ถูกจัดสรรให้กับโครงการที่เร่งด่วนและจำเป็นต่อประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายของสำนักการศึกษา ประจำปีงบประมาน 2560 ส่วนใหญ่จะใช้ในการปรับปรุง ก่อสร้างอาคารเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. เนื่องจากปัจจุบันอาคารเรียนในโรงเรียนหลายแห่งเป็นอาคารไม้ ที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน มีสภาพทรุดโทรม ผุพัง ทั้งนี้สำหรับงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารเรียนปีงบประมาณ 2560 ได้รับจัดสรร 343,625,100 บาท

มีรายงานว่า สำหรับ “โครงการเดินเรือภาษีเจริญ” ที่ กทม.เพิ่มเปิดตัวไปเมื่อไม่กี่วันนี้ ได้ถูกตัดงบประมาณปี 2560 ทั้งหมด เช่นกันเนื่องจากเป็นการของบประมาณเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมท่าเรือไม่ใช่การก่อสร้างท่าเทียบเรือแต่อย่างใด เพราะการก่อสร้างท่าเรือใหม่ 4 ท่านั้น มีการของบประมาณไปตั้งแต่ ปี 2559 และท่าเรือเดิมนั้น ยังสามารถใช้การได้ดีไม่ต้องของบปรับปรุงแต่อย่างใด อีกทั้งต้องการให้ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. (สจส. กทม.) มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่งรับสัมปทานเดินเรือในคลองภาษีเจริญนั้นเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุง เนื่องจากได้รับการว่าจ้างให้ดำเนินโครงการ ทั้งนี้ แม้เคทีจะเป็นวิสาหกิจของ กทม.แต่ก็มีผู้อื่นถือหุ้นอยู่ กทม.จึงไม่ควรแบกรับภาระในจุดนี้ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบการใช้งบปี 2559 ของ สจส.ว่านำไปสร้างท่าเรือตามที่ขอไปหรือไม่ หากพบว่าเป็นการใช้งบประมาณผิดประเภทก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“คณะอนุกรรมการฯ พบว่า งบที่ขอของปี 2559 สจส.ได้แบ่งไปปรับปรุงซ่อมท่าเรือในเส้นทางเดิมที่เดินเรือบริการอยู่ จึงทำให้มีเงินมาก่อสร้างท่าได้เพียง 2 ท่า แล้วใช้วิธีขอจัดสรรงบใหม่ในปี 2560 เป็นโครงการซ่อมปรับปรุงท่าเรือเดิมทั้งหมด เพื่อจะนำงบส่วนหนึ่งมาก่อสร้างท่าเรืออีก 2 ท่าที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่ขอจัดสรรไปแล้ว”

มีรายงานด้วยว่า โครงการนี้ กทม.จำเป็นต้องตั้งเรื่องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดสรรงบฯ ลงมา เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2560 ได้ถูกตัดออกทั้งหมด คาดว่าทั้งโครงการฯ จะใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท เพราะต้องปรับปรุงท่าเรือ สร้างจุดเชื่อมต่อรถ-เรือ และปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ รวมทั้งสร้างทางจักรยานเลียบคลองผดุงกรุงเกษม

ทั้งนี้ หลังจกสภา กทม.เห็นชอบแล้วจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และคาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น