xs
xsm
sm
md
lg

เบรก"ชายหมู" สภากทม.ห้ามตั้งงบผูกพัน กลัวพลาญหมดก่อนได้ผู้ว่าฯใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-สภากทม.ไฟเขียวงบประมาณรายจ่ายปี 60 จำนวน 7.6 หมื่นล้าน เป็นงบลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้าน รายจ่ายประจำ 6 หมื่นล้าน พร้อมเบรก "ชายหมู" ตั้งงบผูกพันก่อนหมดวาระมี.ค.ปีหน้า หวั่นกระทบผู้บริหารชุดใหม่ คาดมีงบอุดหนุนจากโครงการรัฐบาลอีก 2 หมื่นล้าน รวมเบ็ดเสร็จมีงบให้บริหารกว่า 9.6 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า การประชุมสภากทม. สมัยสามัญ เมื่อวันที่ 21-22 ก.ค.2559 ที่ผ่านมา มีร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ในฐานะประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดยก่อนที่สมาชิกจะร่วมอภิปราย และเสนอความคิดเห็นในญัตติร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 76,000 ล้านบาท เพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านต่างๆ ตามนโยบายมหานคร 6 ด้าน ประกอบด้วย ความปลอดภัย สาธารณสุข ขนส่งมวลชน มหานครสีเขียว มหานครแห่งการเรียนรู้ มหานครแห่งโอกาสของทุกคน มหานครแห่งอาเซียน และด้านอื่นๆ สานต่อนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.

โดยหลังจากใช้เวลาอภิปราย 2 วัน ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการ และได้แต่งตั้งกมธ.วิสามัญ พิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2560 จำนวน 36 คน เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ 27 คน ฝ่ายบริหาร 9 คน กำหนดกรอบเวลาพิจารณาใน 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ย.2559

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ฝ่ายบริหาร กทม. ตั้งงบประมาณไว้ที่ 76,000 ล้านบาท เป็นงบลงทุนเพื่อการดำเนินโครงการต่างๆ จำนวน 15,353 ล้านบาท และเป็นงบรายจ่ายประจำ 60,647 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการคาดการณ์งบประมาณที่จะได้รับจากการอุดหนุนการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาลอีกจำนวน 20,079 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นในปี 2560 กทม. จะมีงบประมาณเพื่อใช้จ่ายกว่า 96,079 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรร มากที่สุด ได้แก่ 1.สำนักการโยธา 9,112 ล้านบาท 2.สำนักสิ่งแวดล้อม 6,663 ล้านบาท 3.สำนักการระบายน้ำ 6,598 ล้านบาท 4.สำนักการคลัง 4,651 ล้านบาท และ 5.สำนักการจราจรและขนส่ง 4,031 ล้านบาท ส่วนสำนักงานเขตที่ขอการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ 1.เขตลาดกระบัง 603 ล้านบาท 2.เขตวังทองหลาง 577 ล้านบาท 3.เขตบางขุนเทียน 561 ล้านบาท 4.เขตหนองจอก 542 ล้านบาท และ5.เขตจตุจักร 531 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า บรรยากาศในการอภิปราย 2 วัน เต็มไปด้วยความตึงเครียด เมื่อสมาชิกสภา กทม. หลายคนตั้งเป้าถึงนโยบายเก่าและใหม่ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รวมทั้งได้เสนอแนะ เช่น เสนอให้ กทม. หารายได้มากยิ่งขึ้นจากการ “จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ" ให้เกิดประสิทธิภาพ อาทิ ภาษี ป้าย ซึ่งในปี 2558 กทม. จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 800 ล้านบาท แต่คาดการณ์ ปี 2560 กทม. จะจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,660 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน สมาชิกตั้งข้อสังเกตถึงโครงการไฟประดับของ กทม. ว่า มีความไม่เหมาะสม น่าจะนำงบประมาณไปใช้จ่ายด้านการศึกษาจะคุ้มค่ากว่า และยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการก่อสร้างโรงชำแหละสัตว์ของ กทม. วงเงิน 1,000 ล้านบาท จากนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ปี 2547 ที่พบว่ายังไม่สามารถเปิดใช้ได้

ทั้งนี้ หลังจากมีการตั้งคำถามมากมาย ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ต้องลุกขึ้นตอบคำถาม มุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บงบประมาณ โดยระบุว่า กทม.ไม่นิ่งนอนใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่ภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของ กทม. ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กทม. ไม่มีแหล่งภาษีใหม่ และไม่มีการแก้ไขปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี ดังนั้น การจัดเก็บภาษีของ กทม. ไม่ได้ถือว่าไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน กทม.สามารถจัดเก็บภาษีได้มากยิ่งขึ้น ส่วนโครงการอุโมงค์ไฟประดับ เป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้จริง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานว่า สำหรับแนวทางในการพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ของ กทม. ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของคณะผู้บริหาร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่จะหมดวาระเดือนมี.ค.2560 สภากทม.จะไม่มุ่งเน้นในโครงการที่มีภาระผูกพันอย่างเด็ดขาด หากไม่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาแก่ผู้บริหารกทม.ในชุดถัดไปที่จะเข้ามาบริหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น