xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"ทีมสมคิด" ปั่นเศรษฐกิจ ปี 60 ผ่านจุดต่ำสุดทะยานสู่ขาขึ้น??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หน้าตา “ทีมเศรษฐกิจสมคิด” ที่ออกมาค่อนข้างดูดีทีเดียวใน “ครม.บิ๊กตู่ 4” สร้างความหวังโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ยังรั้งรอจังหวะการลงทุนให้เกิดความเชื่อมั่นเต็มร้อย เนื่องจากการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งและการเติมเต็มทีมเศรษฐกิจครั้งล่าสุดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นและไว้วางใจ "ทีมสมคิด" ชนิดที่ว่าสูงยิ่ง

ทั้งยังเป็นความพยายามลบภาพเกาเหลาทีมเศรษฐกิจ ระหว่างทีม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คุมงานด้านเศรษฐกิจ กับ “ทีมบิ๊กทหาร” ที่นั่งคุมงานสำคัญอยู่ฟากฝั่งกระทรวงเกษตรฯ ออกไป ให้เหลือแต่ความมีเอกภาพในการสู้ศึกเศรษฐกิจไปด้วยกัน

หากสแกนเข้าไปดูทีมเศรษฐกิจใหม่ภายใต้การนำของนายสมคิด คราวนี้ จะเห็นว่า นายสมคิด มีมือไม้ที่ทำงานร่วมกันสอดประสานเป็นตาข่ายใยแมงมุมครอบคลุมทั้ง 11 กระทรวง นับตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ, รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม, รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ไม่เหลือข้อกังขาใดๆ ว่า “นายกฯลุงตู่” ไม่เชื่อมั่น

นอกจากนี้ “ทีมสมคิด” ที่ “นายกฯลุงตู่” แบ็คอัพอย่างเต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ยังมีความพิเศษโดดเด่นแจ่มชัดในการบูรณาการ เชื่อมต่องานระหว่างกระทรวง ทั้งรัฐมนตรีที่สลับสับเปลี่ยนและถูกดึงเข้ามาทั้งที่มาจากหน่วยงานรัฐและเอกชนยังทำให้มองเห็นการเชื่อมโยง ตอบโจทย์ กันและกันได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างเช่น นางสาวชุติมา บุญยประภัศร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ สายตรง "ลุงตู่" ที่มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็จะช่วยเชื่อมโยงการผลิตในภาคเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นฉนวนชั้นดีระหว่างรองนายกฯ สมคิด “เฮียกวง” กับ “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่เคยร่ำลือซดเกาเหลากันมาพักใหญ่ๆ

หรือการส่งนางอรรชกา สีบุญเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อนำความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมของไทยขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งตามเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0

การปรับครม.คราวนี้ ยังมาพร้อมๆ กับข่าวดีที่เกิดในช่วงจังหวะเดียวกันนั่นก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนพฤศจิกายน 2559 พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 20 เดือน ต้อนรับ “ทีมสมคิด” เวอร์ชัน 4.0 พอดิบพอดี

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมที่พุ่งขึ้น นั่นหมายความว่า การลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยับ ปริมาณการผลิตได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มแฟชั่น เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี รวมทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ และอาหาร ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายเจน นำชัยศิริ ที่แถลงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2559 ไปเมื่อปลายธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

"ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 87.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.5 ในเดือนตุลาคม 2559 โดยนับเป็นค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม และสูงสุดในรอบ 20 เดือน โดยมีปัจจัยหลักจากความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงสิ้นปี ทำให้กำลังการผลิตเพื่อรองรับบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น

"ส่วนดัชนีเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 102 ปรับตัวลดลง 102.9 ในเดือนตุลาคม เหตุยังกังวลจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และราคาน้ำมันที่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในอนาคตเพิ่มขึ้น แต่ค่าดัชนีฯ ยังถือว่าเกินระดับ 100 จึงนับว่ายังอยู่ในระดับที่ดี"

และสัญญาณที่ดีที่ภาคเอกชนลดความกังวลลงอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ การเมืองภายในประเทศ ซึ่งบริหารงานภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อการเมืองนิ่ง การลุยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตก็มองเห็นทางรอด

จากสัญญาณแรงชัด ดีขึ้นตามลำดับ ประธาน ส.อ.ท. ประเมินด้วยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2560 จะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี จะโตขึ้นอยู่ที่ 3.5 - 4% และการส่งออกที่คาดหมายว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ในระดับ 0-2% จากปัจจัยบวกทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่หนุนส่งให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว ขณะที่สินค้าเกษตรบางตัวเช่น ยางพารา ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน

นั่นอาจหมายถึงว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ก้าวผ่านจากจุดต่ำสุดและกำลังเตรียมไต่ระดับสู่ขาขึ้นในปีหน้า อย่างที่รัฐบาลคาดหวัง และประชาชนคาดหวัง
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
แม้แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งท้ายปี 2559 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ซึ่งคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% มาตลอดปีกว่า ก็ยังเห็นว่า ".... เศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ...." และประเมินแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้ และปี 2560 ไว้ที่ 3.2% เพราะว่าถึงแม้การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญมากกว่าที่คาด แต่ถูกชดเชยด้วยการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้นจากการเปิดตลาดใหม่ และการลงทุนของเอกชนที่ย้ายฐานการผลิตสินค้าบางรายการมาไทย

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย กนง. ยังมองแนวโน้มว่าภาครัฐยังคงเป็นพระเอก เป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มกลับมา

แพคเกจใหญ่ในการลงทุนภาครัฐที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีการคลัง อธิบายเป็นฉากๆ ไปก่อนหน้านี้แล้วว่ากระทรวงการคลัง มุ่งหวังในปีหน้า 2560 ภาครัฐต้องเป็นตัวนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการที่อยู่ในแผนนโยบายที่จะดำเนินการก็คือ การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท

โดยแผนงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนที่จะลงมือดำเนินการได้จะอยู่ที่ 8 - 9 แสนล้านบาท และจะมีการเบิกเงินลงทุนประมาณ 1.6 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีโครงการอื่นๆ อีก กระทรวงการคลัง จึงคาดหมายว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 2560 มากถึง 2.2 แสนล้านบาท

นอกจากนั้น ยังจะมีเงินลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจตามแผนการลงทุนในปี 2560 อีกประมาณ 3.6 แสนล้านบาท นับรวมกับเม็ดเงินลงทุนที่รัฐวิสาหกิจจะเร่งให้เร็วขึ้นอีก 6 - 7 หมื่นล้านบาท รวมๆ แล้ว วงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะตกประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท จะลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าและในระยะต่อไป
หากโครงการข้างต้นเหล่านั้น ไม่ได้อยู่แต่เพียงในกระดาษเหมือนช่วงที่ผ่านมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงมองเห็นหน้าเห็นหลังกันชัดเจนขึ้น

นักวิชาการที่มอนิเตอร์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ก็มองเช่นนั้น ดังเช่น นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะอยู่ที่ 3.6-4.2% ขยายตัวดีที่สุดในรอบสี่ปีนับตั้งแต่ปี 2555 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6.5% โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามาจากแรงขับเคลื่อนสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

ส่วนภาคส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อย และภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ต่ำกว่า 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าเพื่อการลงทุนมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และราคาพลังงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง

“คาดว่าภาคการลงทุนโดยรวมจะเติบโตได้อย่างน้อย 5.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3% การส่งออกเริ่มฟื้นตัวทำให้กำลังการผลิตลดลง และเริ่มกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ความมีเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในประชาคมอาเซียน เริ่มขยับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น”

ไม่เพียงแต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นฮาร์ดแวร์เท่านั้น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ โดยทีมเศรษฐกิจ ที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังกำลังเร่งเครื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟท์แวร์เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยทำ “ซูเปอร์ไฮเวย์ดิจิทัล” ลงถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการปฏิวัติเศรษฐกิจจากฐานรากระดับชุมชนสู่โลกกว้าง หรือจาก local ไปสู่ global เลยก็ว่าได้

หนึ่งในการสร้าง “ซูเปอร์ไฮเวย์ดิจิตัล” ที่สำคัญนั่นก็คือโครงการ “อินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน” ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2559 โครงการนี้อยู่ในแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 5 (2560 - 2564) เป็นการลงทุนขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุม 4 หมื่นหมู่บ้าน ชนิดที่ว่าเข้าถึงทุกซอกทุกมุมของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระหว่างประเทศอีกด้วย

“ซูเปอร์ไฮเวย์ดิจิทัล” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจไทย ดังที่ “แจ็ค หม่า” เจ้าพ่ออาลีบาบา ว่าเอาไว้ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคเทคโนโลยีการขายแบบใหม่ ซึ่งเวลานี้ก็พอมองเห็นแล้วจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.2 ล้านล้านบาท โดยปีนี้มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10% และปีหน้าจะยังเติบโตไม่น้อยกว่า 12% ตามที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ สำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซล่าสุดในปีนี้

สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าสูงลำดับต้นๆ ได้แก่ บริการที่พัก การค้าปลีกค้าส่ง การผลิต

เหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปี 2559 การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าสูงถึง 40% ของมูลค่าซื้อขายสินค้าและบริการทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเกิน 50% ในอีกไม่ช้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 32.2 ล้านคน และการใช้โทรศัพท์มือถือ 88 ล้านเลขหมาย

นั่นหมายความว่า ยิ่งมีการลงทุนทำซูเปอร์ไฮเวย์ดิจิทัล พัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงถึงระดับหมู่บ้านเพื่อเชื่อมชุมชนดิจิทัลเข้ากับโลกสากลได้รวดเร็วเท่าไหร่ ย่อมเป็นความหวังที่จะทำให้เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และการค้าขายก็จะพุ่งกระฉูดฉุดดึงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตดังที่รัฐบาลคาดหวัง

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และซูเปอร์ไฮเวย์ดิจิทัลแล้ว รัฐบาลยังคาดหมายว่าจะมีแรงหนุนส่งจากการทำแผนและโครงการพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีภาคเอกชน คือ หอการค้า เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน

การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้คลัสเตอร์ 18 กลุ่มจังหวัดนี้ จะมีการเสนอให้ครม.เคาะในต้นปี 2560 และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาจัดสรรงบประมาณ พร้อมเดินหน้าโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นไป โดยเวลานี้ มีโครงการของแต่ละกลุ่มจังหวัดเสนอเข้ามามากกว่า 1,000 โครงการ รวมมูลค่า 83,000 ล้านบาท ใน 4 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว เกษตร บริการ การค้าการลงทุน และระบบลอจิสติกส์

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อย่างเช่น ช้อปช่วยชาติ มาตรการช่วยเหลือคนจน หรือการช่วยเหลือพยุงราคาพืชผลการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แน่นอนรัฐบาลลุงตู่ ย่อมเข็นออกมาเป็นระยะๆ เพื่อประคับประคองระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทะยานจากจุดต่ำสุดสู่ขาขึ้น


ตะลึง! 6 นายทหารอู้ฟู่ไม่มีหนี้สิน กรุสมบัติ ครม.บิ๊กตู่ 1 - “อุตตม” รับมรดกรวยเพิ่ม 38 ล้าน
ตะลึง! 6 นายทหารอู้ฟู่ไม่มีหนี้สิน กรุสมบัติ ครม.บิ๊กตู่ 1 - “อุตตม” รับมรดกรวยเพิ่ม 38 ล้าน
ได้ฤกษ์ ป.ป.ช.เปิดกรุสมบัติอดีต รมต. “ครม.บิ๊กตู่ 1” หลังพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี “อุตตม” เพิ่ม38 ล้านหลังรับมรดก ตะลึง! พบ 6 นายทหารอู้ฟู่ไม่มีหนี้สิน “พล.ร.อ.ณรงค์” มีทรัพย์สินน้อยสุด 12 ล้านบาท “บิ๊กเจี๊ยบ” 184 ล้านบาท “พล.อ.อ.ประจิน” 31 ล้านบาท “พล.อ.ดาว์พงษ์” 95 ล้านบาท “พล.อ.ฉัตรชัย” 33 ล้านบาท ท้ายสุด “พล.อ.สุรศักดิ์” มีทรัพย์สิน 26 ล้านบาท ส่วน “อภิรดี ตันตราภรณ์” อดีต รมช.พาณิชย์ ก่อนขึ้นแท่น รมว.พาณิชย์ 1 ปี มีทรัพย์สิน 34 ล้าน เผยก่อนเข้ารับตำแหน่งแสดงบัญชีทรัพย์สินไว้ 29 ล้านบาท ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น