“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ก่อนอื่นผมขอชื่นชมพลเมืองผู้กระตือรือร้นที่ออกมาลงชื่อกัน 360,000กว่าเสียงเพื่อคัดด้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 และเรียกร้องให้รัฐบาลนำเอาเสียงเรียกร้องของคนเหล่านี้ไปพิจารณา
แต่ต้องทำความเข้าใจนะครับว่า ตอนนี้เรามี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 บังคับใช้มาแล้ว 9 ปี ถ้ารัฐบาลไม่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2559 ขึ้นมา ก็แปลว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 จะยังมีผลบังคับใช้ต่อไป
คำถามว่าเราคัดค้านไม่เอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 เพราะเราพอใจพ.ร.บ..คอมพิวเตอร์ฯ 2550 เช่นนั้นหรือ
เราจะเอา พ.ร.บ..คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ไม่เอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559ใช่ไหม ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ไม่มีการพูดกัน และหลายคนทำราวกับว่าถ้าเราคัดค้านสำเร็จประเทศนี้ยังไม่มี พ.รบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาบังคับใช้ แล้วเราจะมีเสรีภาพเต็มเปี่ยมในการใช้คอมพิวเตอร์
ผมคิดว่า ไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่า ทุกประเทศมีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีใครถกเถียงกันว่าเราควรจะมีหรือไม่มีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผมน่าจะเข้าใจถูกนะครับว่าเราพูดกันที่เนื้อหาว่า ควรจะให้เสรีภาพแก่ประชาชนแค่ไหน
เพียงแต่ข้อถกเถียงครั้งนี้มีการหยิบเอาเรื่อง Single Gateway ขึ้นมาเป็นประเด็นกระทั่งทำให้เสมือนว่าการคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 นั้นคือการคัดค้าน Single Gateway ซึ่งบอกตรงๆ ว่าผมอ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขฉบับที่ผ่านสภามาก็ยังไม่เห็นว่าตรงไหนที่จะนำไปสู่ Single Gateway ซึ่งหมายถึงจะสามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตผ่านประตูแค่บานเดียว นั่นก็จะเท่ากับการมีผู้ให้บริการเครือข่ายเพียงเจ้าเดียว ทำให้รัฐสามารถควบคุม ดักจับข้อมูลเมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านประตูบานนี้ไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ถ้าเป็นอย่างนั้นผมเองก็คัดค้านเพราะผมก็ไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐเสมอไป วันหนึ่งถ้าเราได้รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมผลลัพธ์มันจะย้อนกลับมาที่เราเอง
บางคนบอกว่า พร..บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 เป็นประตูเปิดทางไปสู่ Single Gateway ผมบอกว่าแล้วการที่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 บังคับมาใช้แล้วตั้ง 9ปี ถ้ารัฐจะทำ Single Gateway โดยไม่ฟังเสียงประชาชนก็ย่อมทำได้ไม่ใช่หรือ
ตอนแรกที่มีข่าวเรื่อง Single Gateway นั้น ผมเชื่อว่าเขาอยากทำจริงๆ แต่ถูกกระแสประชาชนคัดค้านก็เลยถอย วันนี้พวกเขาน่าจะมีสติคิดได้ว่าการทำอย่างนั้นมีแต่ความถอยหลัง ไหนจะความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพราะไม่มีใครยอมเข้ามาลงทุนในรัฐที่จำกัดเสรีภาพและละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปแน่ๆ และมันยังขัดแย้งกับพยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตัลไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลเอง ผมจึงไม่เชื่อว่า เขาโง่ที่จะทำแม้เป็นรัฐบาลทหารก็ตาม
ผมเลยกลับมานั่งดูความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 โดยเฉพาะมาตราที่เป็นข้อห่วงใยและถูกนำมาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว
เริ่มที่ มาตรา 14 ที่ห่วงใยกันว่า ความผิดฐานเผยแพร่ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ในความเป็นจริงมาตรานี้ถูกแก้ไขโดยเพิ่มคำว่า “โดยทุจริตหรือโดยล่อลวง” เข้าไปด้วย เดิมมาตรา 14 ของปี 2550 จะถูกนำไปใช้พ่วงกับคดีหมิ่นประมาท โดยเฉพาะสื่อเมื่อก่อนถ้าถูกฟ้องหมิ่นประมาทก็จะถูกฟ้องฐานความผิด พ.ร.บ.คอมฯ มาตรานี้ไปด้วย แต่ฉบับแก้ไข 2559 เขียนไว้เลยว่า ต้องเกิด “ความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
นั่นคือ มาตรานี้จะมามั่วซั่วนำไปไล่ฟ้องการโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลอื่นไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งหมายความว่า ต่อไปมาตรานี้จะถูกนำไปใช้กับการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อการหลอกลวงนั่นเอง
ส่วนที่ห่วงคือ(2) เดิมเขียนว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
ของใหม่(2) เขียนว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
ผมว่าที่เพิ่มมาก็ดีชัดเจนไม่เห็นตรงไหนคลุมเครือเลย ของเดิมต่างหากที่เขียนไว้กว้างจนเกินไป
ข้อห่วงใยต่อมาของพลเมืองเน็ตก็คือ มาตรา 15 พ.ร.บ.คอมฯ 2559 เขียนว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 14 ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลาย ของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
แต่เดิมมาตรา 15 ของพ.ศ.2550 เขียนไว้ว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14”
แต่ของใหม่เมื่อได้รับเตือนว่ามีข้อความที่มีความผิดนั้นออกจากระบบผู้ให้บริการก็ไม่มีความผิด ซึ่งก็ดีนี่ครับ
มาตราต่อมาคือ มาตรา 20 ที่ห่วงใยกันคือ การเพิ่มข้อความว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน” เข้ามา ซึ่งถูก “พลเมืองเน็ต” ตั้งคำถามว่า “ศีลธรรมอันดี” คืออะไร แปลว่า อาจจะไม่ผิดกฎหมายข้อไหน แต่ก็ผิดศีลธรรมก็ผิดแล้วนั้นบรรทัดฐานคืออะไร
คำตอบก็คือ มาตรานี้บอกว่าให้ตั้งคณะกรรมการจำนวนเก้าคนซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ขึ้นมาพิจารณา แล้วส่งข้อความนั้นไปให้ศาลพิจารณา จากกฎหมายเดิมในปี 2550 แม้จะยังไม่มีความผิดต่อศีลธรรม แต่คนที่พิจารณาก็คือ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งก็คือข้าราชการคนใดคนหนึ่ง แต่ของใหม่ระบุไว้เลยว่าต้องผ่านคณะกรรมการ9คนเสียก่อน มาตรา 20 เดิมเขียนว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล” แต่มาตรา 20 ใหม่เขียนว่า “รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล”
แล้วมาถึงคำถามว่า “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” นั้นเอาอะไรมาตัดสิน ผมคิดว่า เราน่าจะรู้ว่าอะไรขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้นอยู่ในหลักของกฎหมายมานานแล้ว เช่น มาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ของไทย ที่ว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”
ผมไม่เคยได้ยินใครถามเลยว่าที่ศาลใช้หลัก “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” มาตั้งนมนานนั้นเอาอะไรมาวัด
ส่วนที่ผมว่า เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมากก็คือ พลเมืองเน็ตผู้กระตือรือร้นและเรียกร้องหาเสรีภาพในนามเพจพลเมืองต่อต้าน Single Gateway ใช้วิธีระดมพลกด F5 เพื่อให้เว็บหน่วยงานรัฐล่มนั้น ไม่ได้เกิดผลดีอะไรเลย เพราะความเสียหายนั้นเกิดต่อรัฐซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง และการกระทำแบบนั้นเท่ากับให้รัฐบาลนำมาหาความชอบธรรมที่จะใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ที่เข้มข้นขึ้น และการกระทำแบบนั้นนั่นยังมีความผิดตามมาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊กด้วย แล้วมันเป็นเสรีภาพตรงไหน
ผมจะไม่คิดนะครับว่า มีความพยายามจะใช้ประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลเจือปนอยู่ แต่คิดว่ามีหลายคนออกมาเพราะห่วงใยเสรีภาพของประชาชนจริงๆ แต่ส่วนตัวผมเมื่อให้เลือกระหว่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ใช้มาแล้ว 9 ปี กับที่แก้ไขใหม่ผมคิดว่าที่แก้ไขใหม่ดีกว่าเยอะ
ส่วนที่ห่วงกันกรณี Single Gateway อาจจะเพราะง่ายต่อการเอาคำนี้มาปลุกระดม เอาเป็นว่าถ้ารัฐบาลจะทำ Single Gateway เมื่อไหร่เราค่อยมาลุยกัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan