xs
xsm
sm
md
lg

พระราชดำรัส 45 ปี ที่ยังไม่ล้าสมัย ช่วยชาวนาต้องตัด “พ่อค้าคนกลาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”

" เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก... เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก ... ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่าชาวนาทำนาไปตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อ ของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามักรับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป "

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวัน เสาร์ ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514

ผมลอกพระราชดำรัสนี้มาจากเว็บไซต์ของกองพัฒนาผลิตภัณฑ์พันธ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นะครับ คำว่า”คนกลาง”ที่อยู่ในวงเล็บก็ลอกมาตามนั้น ไม่น่าเชื่อว่า พระราชดำรัสนี้ให้ไว้45ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำ แต่ราคาข้าวสารก็ยังคงแพง

จนกระทั่งไม่กี่วันมานี้เกิดกระแสว่า ต้องช่วยให้ชาวนาสีข้าวเองขายข้าวเองเพื่อตัดพ่อค้าคนกลาง แต่สงสัยไหมว่าทำไมคนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก แต่คนปลูกข้าวยากจน

อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เคยเขียนบทความผ่านเฟซบุ้คว่า ทำไมชาวนาจึงยากจนว่า มาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ

1.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ประเทศไทยมีที่นาทั้งหมดประมาณ 71 ล้านไร่ เป็นที่นาลุ่มประมาณ 44 ล้านไร่ เป็นที่นาดอน ประมาณ 27 ล้านไร่ ผลิตข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรังประมาณ 38 ล้านเกวียน ผลิตข้าวได้เฉลี่ยทั้ง 71 ล้านไร่ เฉลี่ยไร่ละ 450 กิโลกรัม ในขณะที่เวียดนามผลิตข้าวได้เฉลี่ยไร่ละ 900 กิโลกรัม อินโดนีเซียผลิตข้าวได้เฉลี่ยไร่ละ 700 กิโลกรัมเศษ ส่วนฟิลิปปินส์ผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 600 กิโลกรัมเศษ ของไทยผลิตได้เฉลี่ยใกล้เคียงกับพม่าและเขมร

2.ต้นทุนการผลิตสูง ปัจจุบันชาวนาไทยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงมาก ได้แก่ค่าเช่านา(บางส่วนยังต้องเช่านาทำ) ค่าไถที่นาและเตรียมดินสำหรับปลูก ข้าว ค่าจ้างดำนาหรือหว่านข้าว ค่าปุ๋ยและค่าจ้างใส่ปุ๋ย ค่ากำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูข้าว ค่าสูบน้ำเข้านา ค่าเก็บเกี่ยวข้าวและค่านวดข้าว รวมทั้งค่าขนส่งข้าวไปขาย ในกรณีที่ต้องจ้างทั้งหมดจะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงมาก

3.ขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวนาสูงมากแต่ราคาขายที่ขายตามราคาตลาดโลกหักด้วยกำไรของพ่อค้าคนกลางและค่าใช้จ่ายในการซื้อขายของพ่อค้าคนกลางทั้งหมด ราคาที่ถึงมือชาวนาจึงต่ำกว่าต้นทุนของชาวนา ผลก็คือชาวนาต้องขายข้าวขาดทุนทุกฤดู ถ้าเป็นคนมีความรู้ทั่วไปคงทนขาดทุนได้ไม่เกิน 2-3 ครั้งก็คงถอดใจเลิกทำนา แต่สำหรับชาวนาไทยถึงแม้จะขาดทุนทุกฤดูก็ยังคงทำนาอยู่เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร? ในอนาคตถ้าชาวนามีความรู้และมีทางเลือกอื่นคงไม่มีใครเลือกขาดทุนซ้ำซากอยู่ทุกปีแบบนี้

จะเห็นว่าผลผลิตต่อไร่ของคนไทยต่ำมากนะครับเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเชี่ยน เราต่ำกว่าเวียดนามถึงครึ่งหนึ่ง ผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำก็ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงตามไปด้วย ราคาข้าวในตลาดโลกของเราจึงสู้เวียดนามไม่ได้ เพราะเขาขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าเพราะมีต้นทุนต่ำกว่า

แต่ปัญหาที่สำคัญที่เห็นตรงกันก็คือ "พ่อค้าคนกลาง"นั่นเอง

ถามว่าในวันนี้วันที่ชาวนาโอดครวญว่าราคาตกต่ำและรัฐบาลต้องหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือนั้น ทำไมราคาข้าวขายปลีกจึงไม่ลดลงมาด้วย แสดงว่าต้นทุนของพ่อค้าคนกลางลดลงแต่ยังขายในราคาเดิมก็เท่ากับว่ามีกำไรมากขึ้นนั่นเอง ส่วนชาวนาที่เคยทำนาแล้วขาดทุนอยู่แล้วก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก

เมื่อถามว่าชาวนาขาดทุนแล้วทำไมยังทำนา ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า ถ้าไม่ทำนาแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ชีวิตก็หมุนเวียนด้วยการกู้หนี้ไปเรื่อยๆ เงินที่กู้มาทำนาส่วนใหญ่ก็ยืมมาจากโรงสีนั่นแหละ

แต่สิ่งที่เรารู้กันก็คือ ขณะนี้การผลิตข้าวล้นตลาด อันเป็นผลมาจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลก่อนที่ตันละ15,000บาทซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลก ทำให้ไม่สามารถขายข้าวออกได้ เพราะขายไปก็ขาดทุน แต่เมื่อขายข้าวออกไปไม่ได้ก็กลายเป็นคัมภีร์ของรัฐบาลที่แล้วว่า ยังไม่ขาดทุนก็เพราะยังไม่ได้ขายข้าวยังอยู่ในสต็อกซึ่งเราก็คงได้ยินกัน และกลายเป็นข้าวเน่าจำนวนมาก ถึงตอนนี้จะเก็บไว้ก็ไม่ได้แล้วที่ยังไม่เน่าก็ต้องทยอยออกมาขายประจวบกับปีนี้การทำนาเกือบทุกประเทศได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ปริมาณข้าวล้นตลาด

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในช่วงนี้มาจาก2ประเด็นคือ 1. การปรับโครงสร้างการเกษตรที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบวงจร ยังมีปัญหาอยู่ยังทำไม่ได้ 100% 2. การเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่ ร่วมกับโรงสีบางโรงสี ในการกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง โดยหวังให้เกิดประเด็นต่อประชาชนให้เกิดการต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

เข้าใจว่าข้อที่1 ของพล.อ.ประยุทธ์นั้นน่าจะหมายถึงการปรับพื้นที่ลดพื้นที่การปลูกข้าวที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า จ้างชาวนาให้เลิกปลูกข้าวแล้วหันไปเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชอย่างอื่นแทน แต่ข้อที่2ถ้าจริงอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ว่า ทำไมรัฐบาลไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปจัดการ แถมยังปล่อยให้ข้าวเปลือกราคาต่ำแต่ยังขายข้าวสารในราคาเดิม

เพราะถ้าพูดว่า เป็นเรื่องการเมืองแล้วไม่แก้ปัญหาจัดการให้เด็ดขาด การกล่าวหาของรัฐบาลก็เป็นการป้ายสีทางการเมืองเสียเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงนักการเมืองคนไหนร่วมมือกับโรงสีอย่างไรก็ควรจะเอาตัวออกมาให้สังคมรับรู้

ปัญหาเรื่องข้าวไม่ว่าผ่านมากี่รัฐบาลก็ยังอยู่ที่เดิม ผลผลิตต่อไร่ของชาวนาต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้นทุนการผลิตสูง โรงสีและพ่อค้าคนกลางร่วมกันกดราคา ชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นเพราะเป็นหนี้สิน ข้าวเปลือกถูกข้าวสารแพงซึ่งขัดแย้งกันในหลักเศรษฐกิจ คนปลูกข้าวยากจนคนขายข้าวรวย

รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองแก้ไม่ได้เพราะเกรงใจนายทุนพ่อค้าข้าวเพราะต้องพึ่งพาเกื้อกูลกัน คำถามว่ารัฐบาลทหารจะทำได้ไหมหรือเกรงใจใคร

ส่วนต้องทำอย่างไรก็ย้อนไปอ่านแนวพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่9 เมื่อปี2514ด้านบนนั่นแหละ 45 ปีมาแล้วแต่ยังใช้แก้ปัญหาข้าวตอนนี้ได้อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น