xs
xsm
sm
md
lg

หนังสือพิมพ์กำลังตายจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

โซเชียลมีเดียทำให้ข่าวสารท่วมท้นเร็วและถี่ยิบ ทุกคนกลายเป็นนักผลิตข่าวสารเข้าสู่โลก หลายคนกลายมาเป็นที่รู้จักเพียงใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างตัวเอง แต่หลายข่าวในโซเชียลมีเดียกลายเป็นข่าวที่ไม่จริง แต่คนที่รับสารบางคนก็ไม่ได้สนใจว่าข่าวนั้นจะจริงหรือไม่ ไม่ตรวจสอบ ถ้าถูกใจแล้วก็ช่วยกระจายแชร์ต่อกันในเวลารวดเร็ว

ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ Clickbait ที่ใช้พาดหัวเป็นตัวล่อให้คนเข้าไปกด ก็พร้อมที่จะเอาข่าวสารที่ลอยๆ ในโซเชียลมาขยายต่อ จนทำให้คนหลงเชื่อจำนวนมาก ซึ่งอันนี้เป็นความผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมกันเองได้จริงของคนในวิชาชีพสื่อมวลชน เว็บพวกนี้ไม่สนใจว่าข่าวนั้นจริงไม่จริง แต่ถ้ามันเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ได้ก็เป็นอันว่าใช้ได้ เอาไปหลอกขายเอเยนซีอีกทีเพื่อเอาเงินค่าโฆษณา

ต่างกับหลักการทำงานของสื่ออาชีพที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเสนอ ไม่ใช่ว่าสื่อมืออาชีพจะไม่เคยทำผิดหลักการนี้ หลายครั้งก็เกิดความผิดพลาด แต่ผมต้องชี้ว่า หลักที่ถูกต้องของสื่ออาชีพนั้นคืออะไร คือต้องตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน ไม่ใช่ว่าสื่อที่เรียกตัวเองว่าสื่ออาชีพจะมีความเป็นมืออาชีพทั้งหมด แต่จริงๆแล้วเพราะความอ่อนด้อยของสื่อเองนั่นแหละ ที่ทำให้คนเสื่อมศรัทธาและถูกท้าทายด้วยโซเซียลมีเดียอยู่ในตอนนี้

มีคนบอกว่ามนุษย์ทุกวันนี้เวลามีค่า ความสนใจต่อเรื่องต่างๆ จึงต่ำมาก การรับข้อมูลข่าวสารจึงต้องการรับข้อมูลสั้นๆ การเกิดของโซเชียลมีเดียจึงตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตรงนี้พอดี เอาแค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนก็พอ ไม่สนใจเหตุผลและความเป็นมาของมัน ไม่สนใจว่าสิ่งที่รับสารมานั้นจริงหรือไม่ บางครั้งเมื่อข่าวออกมาทีหลังว่าไม่จริงก็ไม่ได้สนใจยังเชื่อในสิ่งที่ตัวเองรับมาครั้งแรก เพราะมันถูกส่งต่อแชร์กันเป็นระลอกคลื่น จนพูดว่ามันเป็นความเชื่อร่วมกันของคนส่วนใหญ่ว่าเป็นแบบนั้นดังนั้นมันต้องถูก จริงหรือเท็จหลังจากนั้นไม่รับรู้แล้ว

ถามว่าการเกิดของสมาร์ทโฟนที่รวมทุกอย่างไว้ในตัว เป็นเครื่องมือสื่อสาร เครื่องส่งสัญญาณภาพ เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าว ที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียนั้น บางคนบอกว่านี่เป็นยุค Disruptive Technology ที่ทำให้สื่อแบบดั้งเดิมล้มหายตายจาก ไม่มีใครมานั่งอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์อีกแล้วนั้นเป็นภาวะที่เราไม่อาจฝ่าฝืนจริงๆ หรือ

Disruptive Technology หรือ Disruptive Innovation คือ เทคโนโลยีใหม่หรือนวัตกรรมที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์เดิม ทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ล้มหายตายจากไป เช่น การแทนที่เครื่องพิมพ์ดีดด้วยคอมพิวเตอร์ จากจดหมายที่ส่งกันผ่านไปรษณีย์ถูกเปลี่ยนมาเป็นอีเมล ข้อมูลข่าวสารผ่านถึงกันเร็วขึ้นแรงขึ้น หรือกล้องดิจิตอลแทนที่กล้องฟิล์ม หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมาแทนรถที่ใช้น้ำมัน เป็นต้น

เช่นเดียวกัน คนหันมารับข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อกระดาษหรือหนังสือพิมพ์

แต่ถามว่า ความเชื่อของคนในยุคโลกาภิวัตน์ที่บอกว่า ข้อมูลข่าวสารคืออาวุธ ใครยึดกุมข้อมูลข่าวสารได้คนนั้นเป็นผู้ชนะ แน่นอนหัวใจมันคือความเร็วว่าใครรับรู้ข้อมูลข่าวสารก่อน แต่น่าจะหมายถึงการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องสมบูรณ์ด้วย แล้วความเชื่อนี้หายไปไหน ทำไมจึงกลายเป็นคนต้องการรับข้อมูลข่าวสารแค่สั้นๆ โดยไม่สนใจเนื้อหาใจความที่แท้จริงอีกแล้ว

ดังนั้น ผมเชื่อว่าความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของข่าวยังมีความจำเป็น และสังคมยังต้องการผู้ที่ชี้นำประเด็นที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่า วันหนึ่งที่คนตั้งสติได้ว่าข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียที่ท่วมท้นมีขยะมากกว่าความรู้ มีทั้งจริงบ้างไม่จริงบ้าง เชื่อไม่ได้ และไม่ได้ให้ข้อมูลที่สมบูรณ์พอ คนก็จะขวนขวายข้อมูลที่แท้จริง วันนั้นทักษะแบบมืออาชีพก็ต้องมา

เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปมันเปลี่ยนไป แต่คนก็ยังต้องการมุมกล้องที่สวยใช่ไหม ตรงนี้มันไม่ได้เปลี่ยนไป เช่นเดียวกันเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเครื่องมือสื่อสารได้ แต่ใจกลางความสำคัญของการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างแท้จริงก็คือ ความถูกต้องนั่นเอง แน่นอนถ้าเราได้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วก่อนคนอื่นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งนั้นเป็นไปได้ยากมากในโซเชียลมีเดีย

แต่คนทำสื่อหนังสือพิมพ์ก็ต้องตระหนักนั่นแหละว่า ความเร็วของสื่ออินเทอร์เน็ต และพายุของโซเชียลมีเดียทำให้ข่าวสารมาถึงมือเรารวดเร็วขึ้น เรารับรู้ข่าวสารแทบจะนาทีเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าอยู่ตรงมุมไหนของโลก เมื่อคนรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน เขาไม่จำเป็นที่จะรออ่านข่าวนั้นจากหนังสือพิมพ์ในวันพรุ่งนี้อีก ดังนั้น ถ้าหนังสือพิมพ์รายวันไม่ปรับตัว ยังทำแบบที่ตัวเองเคยชิน สิ่งที่หนังสือพิมพ์เสนอจึงเป็น “ข่าวเก่า” ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วซึ่งไม่มีความจำเป็นที่คนต้องอ่านหนังสือพิมพ์อีก

แต่ถ้าเราจับใจความได้ว่า ข่าวสารที่แพร่สะพัดผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีบรรณาธิการ มักจะบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนเท่านั้นเอง และไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ แทนที่หนังสือพิมพ์รายวันจะนำเสนอ “ข่าวเก่า” ที่คนรู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน ก็นำเสนอแง่มุมที่คนยังไม่รู้จากข่าวที่ได้จากโซเชียลมีเดีย มาเสนอแง่มุมเชิงลึกของข่าวนั้นว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ขึ้น เบื้องหลังคืออะไรโดยใช้ทักษะการวิเคราะห์ที่สื่อมืออาชีพมีอยู่แล้วนั่นเอง

แม้จะมีคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ไม่สนใจรับข่าวสารทางหนังสือพิมพ์อีกแล้ว หนังสือพิมพ์ก็คงเป็นเหมือนเทปคาสเซ็ทที่ต้องตายไป แต่ผมยังเชื่อว่า หัวใจของข้อมูลข่าวสารคือ เนื้อหา (Content) ไม่ใช่แพลตฟอร์ม (Platforms) แน่นอนว่าในการแข่งขันขององค์กรสื่อต้องกระโจนเข้าสู่แพลตฟอร์มแบบใหม่อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ถ้าหนังสือพิมพ์มีเนื้อหาที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับข่าวสารเกิดความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) หนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ได้

ข่าวทีวีและสื่ออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และยังอยู่คู่กับหนังสือพิมพ์มาได้ แต่พอโซเชียลมีเดียถาโถมคนก็มองว่า สื่อกระดาษหมดอนาคตแล้ว เพราะต่อไปคนรุ่นใหม่จะไม่มีอ่านสื่อกระดาษอีกแล้ว ผมกลับไม่เชื่อเช่นนั้น ประเด็นที่สำคัญก็คือว่า สื่อหนังสือพิมพ์มีอะไรให้เขาอ่านมากกว่าโซเชียลหรือไม่ต่างหาก และเมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมีความรับผิดชอบมากขึ้น เขาก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาต้องการนั่นคือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ใช่ข่าวสารเชิงปริมาณ

ส่วนตัวผมไม่คิดว่าหนังสือพิมพ์กระดาษจะเป็นแพลตฟอร์มที่ล้าสมัยหรือพฤติกรรมการอ่านหนังสือจะหายไปจากโลกนี้ง่ายๆ แต่ถ้านิ่งเฉยทำแบบเดิมๆ นั้นตายแน่ ดังนั้น หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนตัวเองมากกว่าการให้ “ข่าว” ที่คนรู้กันแล้ว มาให้ “ข้อมูล” หรือ “บทวิเคราะห์ข่าว” ที่ลุ่มลึกนั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น