หลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา นำมาซึ่งความโศกเศร้าของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่ากับความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ต่างหลั่งไหลมาสู่ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์ อย่างไม่ขาดสาย
ผู้ผลิตคอนเทนต์บนเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์ข่าวและบันเทิง ต่างก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ โดยเน้นไปที่บรรยากาศการแสดงความไว้อาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะข่าวบันเทิงในช่วงนี้จะเน้นไปที่บรรยากาศจิตอาสาของบรรดาดารา นักร้อง นักแสดงที่ท้องสนามหลวง เนื่องจากงดกิจกรรมบันเทิงทั้งหมด
แต่ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ข่าวสารและเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพูดกันแบบปากต่อปาก ไม่มีแหล่งที่มา ได้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้น และประชาชนที่เห็นแล้วรู้สึกอินและเห็นด้วย ต่างก็ช่วยกันส่งต่อโดยไม่ตรวจสอบแหล่งที่มา
กลายเป็นโอกาสของ เว็บคลิกเบท (Clickbait) ที่มักจะคัดลอกเรื่องราวที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน นำไปพาดหัวหวือหวาและสร้างอารมณ์กับผู้ที่พบเห็น ก่อนที่จะมีการแชร์ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยไม่มีตัวตน มุ่งหวังที่จะได้ส่วนแบ่งจากการที่แบนเนอร์โฆษณาแสดงผล แต่ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างผิด ๆ อาจเป็นการสร้างความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศโดยไม่รู้ตัว
แต่คนทำเว็บไซต์พวกนี้ไม่เปิดเผยตัวตน ไม่มีความสำนึกผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด กระหายแต่ยอดวิวแบนเนอร์โฆษณาเพียงอย่างเดียว หากข้อมูลไหนผิด ทำได้แค่เพียงลบข่าวออกจากระบบ แต่ลิงก์ยังคงอยู่ในระบบเฟซบุ๊ก ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือ แม้เนื้อหาจะลบไปแล้ว แต่หน้า 404 Page Not Found ก็ยังมีแบนเนอร์โฆษณาตามมาด้วย
ที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือ เว็บคลิกเบทหลายแห่งมักจะนำข้อมูลที่มีเนื้อหาอันไม่พึงประสงค์ สุ่มเสี่ยงต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นำมาขึ้นเว็บไซต์โดยปราศจากการกลั่นกรอง ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวยังคงอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์นั้น ๆ จนถึงทุกวันนี้ หากเป็นสื่อกระแสหลักจะระมัดระวังการนำเสนอ แม้เป็นไปได้ยากที่ข่าวจะไม่ผิดพลาดเลย แต่ก็ยังต้องกลั่นกรองในที่สุด
การจัดอันดับสถิติเว็บไทยอย่างทรูฮิตส์ (Truehits) ปัจจุบันรับผิดชอบโดย บริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย จำกัด เปิดกว้างในการรับสมาชิกมากจนเกินไป เพียงแค่สนับสนุนเริ่มต้นปีละ 1,800 บาท โดยไม่มีการคัดกรองสมาชิกว่ามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่ บางเว็บไซต์ลงที่อยู่สำหรับติดต่อโฆษณาเป็นเพียงแค่อีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือเท่านั้น
วันหนึ่งได้ลองเข้าไปชมการจัดอันดับเว็บไซต์ในประเทศไทยของทรูฮิตส์ พบว่ามีเว็บคลิกเบทติดอันดับต้น ๆ จำนวนมาก โดยเว็บไซต์อันดับสาม หน้าเว็บเพจที่มีคนเข้ามาดูมากที่สุด พาดหัวว่า “เผยเหตุผล “นายกตู่” ไม่แถลงการณ์สดผ่านโทรทัศน์ เพราะอ่านไปร้องไห้ไป” ซึ่งนำมาจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ที่อ้างว่าญาติเป็นคนตัดต่อคลิปนายกรัฐมนตรีแถลง
ส่วนเว็บไซต์อันดับสี่ หน้าเว็บเพจที่มีคนเข้ามาดูมากที่สุด พาดหัวว่า “เจาะลึกคำทำนายแผ่นดิน ร.9 ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังษี ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง” ซึ่งพบว่าเป็น “ฟอร์เวิร์ดเมล” คลาสสิก ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีที่มาอย่างชัดเจนว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้เทศนาเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะมรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ. 2415
สะท้อนให้เห็นคุณภาพของคนทำเว็บยุคนี้ ที่มักจะคัดลอกเนื้อหาแบบง่ายเข้าว่า ส่วนคนอ่านเพียงแค่เชื่อพาดหัวก็คลิกไปแล้ว คนทำเว็บได้เงิน แต่ประชาชนได้ความเข้าใจผิดไปสื่อสารกับคนอื่น หากพบว่ากลายเป็นเรื่องไม่จริงขึ้นมา ฝ่ายที่เสียหายมากที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ประชาชนนำไปแอบอ้างแบบผิด ๆ
ครั้งหนึ่งเคยถาม คุณวริษฐ์ ลื้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ MGR Online ในช่วงที่เว็บคลิกเบทแซงหน้า ก็กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ยิ่งต้องกรองข่าว ผลิตเนื้อหาคุณภาพ และต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ยอดวิวไม่ใช่หลัก แต่หลักคือทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริง แต่เราต้องนำเสนอทั้งสิ่งที่คนควรรู้ และสิ่งที่คนอยากรู้ ต้องรู้จักสร้างความหลากหลาย บนพื้นฐานความจริง
นอกจากคลิกเบทแล้ว ยังมีการจัดทำ อินโฟกราฟฟิกส์ (Infographics) นำพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ พร้อมข้อความที่อ่างว่าเป็นคำพ่อสอน, แผนที่ชีวิตของพ่อ, จดหมายของพระองค์ ฯลฯ ซึ่งหลายกรณี สำนักราชเลขาธิการออกมายืนยันแล้วว่าไม่ใช่พระบรมราโชวาท และบางอย่างยังไม่มีแหล่งอ้างอิงว่ามาจากไหน เกิดขึ้นเมื่อวันที่เท่าไร
ตัวอย่างเช่น “จดหมายจากในหลวงถึงพระเทพฯ” พบว่าเป็นฟอร์เวิร์ดเมลเมื่อปี พ.ศ. 2549 ไม่ใช่พระราชหัตถเลขา แต่เป็นบทความส่วนหนึ่งจากหนังสือ “บันทึกของลูกรัก บันทึกนี้มอบแด่ลูกหญิง” ของนามปากกา “ว. แหวน” จัดทำโดยธรรมสภา แต่มีผู้นำบทความนี้ไปส่งฟอร์เวิร์ดเมล ทำตัวเป็นฤาษีแปลงสาร สร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน
หรือจะเป็น “36 แผนที่ชีวิตของพ่อ” กองข่าว สำนักราชเลขาธิการ ได้เคยชี้แจงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ว่าไม่ใช่พระบรมราโชวาท แต่เป็นเนื้อหาจากหนังสือ Life’s Little Instructions เขียนโดย H. Jackson Brown Jr. แปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 แต่ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน
ล่าสุด มีการเผยแพร่อินโฟกราฟฟิกส์ “คำสอน ของพ่อหลวง” ซึ่งพบว่าไม่ใช่พระบรมราโชวาท แต่เป็นของ “นายเทียม โชควัฒนา” ให้ไว้เป็นข้อคิดเตือนสติประจำตระกูล ส่วนหนังสือ “บันทึกของพ่อ 80 ข้อคิดบันทึกไว้จากใจพ่อ” ภายในหนังสือ อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แยกย่อยเป็นคำสอนต่าง ๆ
อันที่จริง เมื่อ 2 ปีก่อน สำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ จัดทำแอปพลิเคชัน “สุขพอที่พ่อสอน” รวบรวมพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ปัจจุบันเพิ่งจะอัปเดตเวอร์ชั่นเพื่อรองรับระบบปฏิบัติการ iOS 10
แต่เมื่อเทรนด์ของการเสพสื่อของคนไทยในยุคปัจจุบัน จะเน้นที่ความสั้น กระชับ และใกล้ชิด การเผยแพร่พระราชดำรัสแบบเดิม ๆ ดูเหมือนจะให้ความสนใจน้อยกว่า การเผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า “คำพ่อสอน” “แผนที่ชีวิตของพ่อ” หรือ “จดหมายของในหลวง” แล้วผลที่สุดเมื่อมันไม่ใช่ก็ตาม เรื่องราวนี้ยังคงอยู่บนหน้าเว็บเพจ และถูกสืบค้นนำไปเผยแพร่ซ้ำไปอีก
คนไทยเวลานี้ จะซื้อของทีไร ต่อรองราคาแบบ ต่อแล้วต่ออีก ต่อเหลือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งก็ยังมี แต่เวลาจะแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านยามนี้ แค่อ่านพาดหัวสองบรรทัด ดูรูปอินโฟกราฟฟิกส์แล้วสวย ก็กดปุ่ม Share หรือคัดลอกแล้วส่งต่อ ตัดสินใจเพียงแค่ไม่กี่วินาที สะท้อนให้เห็นว่าเรายังรู้เท่าทันสื่อที่ต่ำ แม้จะอ้างว่าตนเองมีการศึกษา มีวิจารณญาณแล้วก็ตาม
ประโยคที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด” หากมองไปยังโลกโซเชียลมีเดียนั้นโหดร้ายยิ่งกว่า คนที่ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเพราะไม่มีหนังสือให้อ่าน ยังจะดีกว่าคนที่อ่านออกเขียนได้ แต่กลับหลงเชื่อโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วโดยไม่ตรวจสอบ เพราะคิดว่าถ้ามันไม่จริงสักพักก็จะมีคนออกมาชี้แจงแก้ข่าว
เป็นปัญหาที่คนทำคอนเทนต์ยุคนี้แก้ไม่ตก และก็ยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป
000
อ.ธาม เชื้อสถาปณศิริ นักวิชาการด้านสื่อสาธารณะ ให้ความเห็นกับปรากฎการณ์ข่าวสารเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เกิดขึ้นกับเราว่า ในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคต ความต้องการข้อมูลข่าวสารเยอะมาก เพราะเป็นภาวะการณ์สะเทือนใจทางวัฒนธรรม
ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สื่อมวลชนกระแสหลักจะไม่นำเสนอรายงานเลย ถ้าไม่ใช่มาจากสำนักพระราชวัง พอเกิดขึ้นสื่อมวลชนกระแสหลักทำได้ดีที่สุด คือการรวบรวมข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวเน็ตมากมาย
อีกอย่างหนึ่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนกระแสหลักถูกแย่งชิงความสนใจ หรือแย่งชิงการให้ความสำคัญจากสื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างมาก ได้แก่ สื่อที่เป็นเฟซบุ๊ก ยูทูป และสื่อออนไลน์ประเภทบทสนทนาส่วนตัว (Personal Chat) จากที่ถูกคุยกันแค่ปากต่อปาก
แต่ในช่วง 10 ปีหลัง โปรแกรมไลน์ หรือว่า วอซแอป ได้มาเป็นบทสนทนาที่เป็นเรียลไทม์มากขึ้น
เมื่อเกิดข่าวลือ จะเร็วกว่าข่าวลือสมัยปากต่อปาก เรื่องที่พสกนิกรพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก่อนไม่เคยเป็นปัญหา เพราะเรายังไม่ได้มีสื่อสังคมออนไลน์
แต่ในทุกวันนี้สื่อสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เป็นสื่อแพลตฟอร์มแรกเลย คนอ่านไลน์ก่อนอ่านเฟซบุ๊ก และคนอ่านเฟซบุ๊กก่อนอ่านเพจที่เป็นสำนักข่าว ที่เป็นทีวีที่น่าเชื่อถือได้
เพราะฉะนั้น จึงเกิดภาวะที่ข่าวลือ ข่าวที่สร้างความตระหนก ข่าวที่บิดเบือน การใส่สีตีข่าว การส่งฤาษี แชร์ข่าวเป็นลูกโซ่ เป็นจดหมายลูกโซ่เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เพราะว่าพฤติกรรมคนไทยในช่วงหลัง ให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่รวดเร็ว ใกล้ตัว ก็คือในไลน์ก่อน แล้วก็ไปที่ระบบสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก
“อย่างเพื่อนเขาแชร์อะไรกัน แล้วสุดท้ายถึงจะอยากรู้ อยากถามว่าข้อเท็จจริงของข่าวนั้นจริง ๆ ค่อยมาถามหาสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น กรณีเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งเราก็ไม่คาดหวังว่าจะเกิด แต่ว่าในอีกมุมหนึ่ง มันได้สะท้อนสภาวะความรวดเร็ว ความไว้วางใจ ความใกล้ชิดของข่าวที่มันเกิดไปแล้ว เพราะฉะนั้นข่าวลือที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ก่อนหน้านี้มันจึงส่งผลกระทบค่อนข้างกว้างกว่าปกติ จริงๆ เรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิด แต่เราก็ไม่คิดว่ามันจะเกิด แล้วมันกว้างขนาดนี้”
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมที่เราจะไม่พูดถึง จึงไม่ได้มีแผนเตรียมการเรื่อง การสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis Communication) ไม่สามารถทำอะไรได้ทันท่วงที สิ่งแรกที่รัฐบาลสั่งการก็คือ สั่งการให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เชื่อมสัญญาณสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเป็นเวลา 30 วัน
เขาเห็นว่า การที่รัฐบาลประกาศแบบนั้น เพราะรัฐบาลกลัวว่าจะมีคนที่จะใช้เหตุการณ์นี้บิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความวุ่นวาย แต่รัฐบาลก็เรียนรู้ได้เร็วในการที่จะปรับตัว และพยายามที่จะใช้สื่อสารมวลชนในการประคับประคองบรรยากาศแห่งความเศร้าโศก ความสงสัย หวาดระแวง หรือความไม่มั่นใจ
“วันนี้รัฐบาลเรียนรู้ได้เร็วในการที่จะจัดการกับข้อมูลข่าวสารได้ดี สื่อมวลชนกระแสหลักก็เรียนรู้ถึงสิ่งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของตัวเองต่อการนำเสนอข่าวในสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย เพราะเรียนรู้อย่างมากจากอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อในหลวง เพราะฉะนั้นสำนักข่าวต่าง ๆ ก็ต่างได้แสดงโอกาสที่จะนำเสนอข่าวในแง่มุมที่ตัวเองถนัด”
อ.ธาม เห็นว่า ในสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ก็จะมีข่าวลือปรากฎอยู่ วิธีการหนึ่งที่สื่อมวลชนใช้ก็คือ การช่วยเซ็นเซอร์ ช่วยตรวจสอบ วางตัวเองในบทบาทที่ไม่เป็นคนเผยแพร่กระจายข่าวลือต่อไป ซึ่งเรานับถือและคาดหวังว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่นี้ก็คือตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำตัวเป็นมืออาชีพ เป็นเรื่องที่ดีที่มองเห็นในช่วงนี้
ส่วนเรื่องคลิกเบท ที่นำข่าวลือ หรือไม่มีที่มาชัดเจน นำเสนอต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด เพิ่มเรตติ้งให้ตัวเองนั้น อ.ธาม เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนเฟซบุ๊กไม่ได้มีเฉพาะหน้านิวส์ฟีดของสำนักข่าวที่มีอยู่ในไทยเท่านั้น ทุกวันนี้สามารถเข้าถึงหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ สำนักข่าวออนไลน์ต่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นนิวส์เอเจนซี่เยอะแยะมากมาย
เมื่อเขาเป็นองค์กรสื่อ ประชาชนอยู่ในจุดที่ยืนตรงกลางระหว่างไทยกับโลก เช่นเดียวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยก็ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความจงรักภักดี ความเทิดทูนสถาบัน กับ สายตาของชาวต่างชาติที่มองระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนไทยยืนอยู่บนโลกที่มันเท่ากันของข้อมูลข่าวสาร บางครั้งความคิดเห็น การบิดเบือน การชวนให้เข้าใจผิดในเนื้อหาข่าว เพื่อผลประโยชน์ของเรตติ้ง การคลิกเข้ามาอ่าน หรือการสร้างความแตกแยก
“ผมว่ามันขาดจริยธรรม เพราะว่าถ้าเป็นสื่อมวลชนที่อยู่ในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นก่อนนำเสนอ หรือถ้าตัวเองไม่มีความสามารถกำลัง หรือความเข้มแข็งของกองบรรณาธิการเพียงพอ ก็จะต้องไม่นำเสนอเลย คุณเอาเรตติ้งมาได้ แต่ถ้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ เท่ากับฉกฉวยเอาความสงสัย ข่าวลือ ความตื่นตระหนก ความไม่ตั้งใจ หรือเจตนาร้ายบางอย่าง ทำลายความน่าเชื่อถือของคุณเองในฐานะที่เป็นผู้เผยแพร่ เมื่อเขาไม่มีแล้ว เขาไม่มีสิทธิ์ด้วย
เพราะฉะนั้นพวกนี้ไม่ใช่องค์กรสื่อ เป็นเพียงแค่ผู้ส่งสารต่อ เป็นพรายกระซิบที่อยู่ในเครือข่ายการสื่อสาร แม้กระทั่งไม่มีจริยธรรมในสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ เขาทำให้ตัวเองน่าอาย ทั้งที่เขาก็เป็นคนไทย แล้วก็ทำตัวเป็นคนเผยแพร่ข้อมูลข่าวที่มดเท็จ หรือว่าบ่อนทำลาย หรือว่าขาดสามัญสำนึก (Common Sense) ต่อสำนึกร่วมของคนในชาติ”
ส่วนการประกอบธุรกิจ เป็นธุรกิจที่น่าอายมาก เพราะไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและข้อเท็จจริง ถ้าจะพูดในอีกระดับหนึ่ง โดยไม่มีข้อแม้ เว็บไซต์ต่าง ๆ เหล่านี้ควรถูกปิด เพราะถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ก็ต้องมีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ มีชื่อเสียงเรียงนาม มีกองบรรณาธิการ เขาไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขใด ๆ ที่ถูกระบุตัวตนและความรับผิดชอบได้
“ประชาชนที่เป็นวิญญูชนและที่มีสติรอบคอบ เข้าใจบริบทเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ และมีวิจารณญาณ ผมเสนอแนะและอยากจะขอวิงวอนให้ไม่ไปกดไลค์ ไม่ไปโต้ตอบ เพราะว่าเว็บพวกนี้ สัญชาตญาณของเขาที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ก็คือ การปั่นกระแสความเห็นให้วิพากษ์ พูดคุย โต้เถียง ไม่ว่ามันจะถูกทิศถูกทางหรือไม่เป็นไปด้วยข้อเท็จจริง เขาตระหนกกับการที่จะปั้นกระแสหรือลวงหลอกให้คนได้เข้าไป ทำให้เว็บไซต์ของเขาถูกคอนซูม ถูกอ่าน ถูกแทรก แชร์ต่อ ซึ่งมันก็เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อตัวเอง และต่อผู้คนในประเทศ เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ประชาชนไม่ใช้อารมณ์ไปโต้ตอบ”
เขาเห็นว่า คนรุ่นหลังอาจจะเห็นสิ่งเหล่านี้ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ค่อนข้างน้อย เลยขาดความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนคนรุ่นก่อน หน้าที่ที่เราทำได้ก็คือ หนึ่ง ไม่ไปเผยแพร่ซ้ำสอง สอง ไม่ชวนวิวาทะ สาม ถ้ารู้อะไรถูกผิด ก็ควรจะทำเรื่องของการรีพอร์ต กดแจ้งเตือน อันที่สี่ ดีที่สุดสำหรับคนไทยที่ทำได้ คือ ช่วยกันกระจายเผยแพร่ผลงาน พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พิสูจน์ได้ด้วยผลงาน ด้วยสิ่งที่ท่านทำ
เมื่อถามว่า ข้อมูลเก่าที่อาจจะอ้างว่าพระบรมราโชวาท เช่น คำพ่อสอน ซึ่งไม่มีที่มาที่ไป ตรวจสอบแล้วสำนักราชเลขาธิการระบุว่าไม่ใช่ภายหลัง ข้อมูลนี้กลับมาใหม่ คนที่ทำคอนเทนต์ควรระวังแค่ไหน อ.ธาม กล่าวว่า เจตนาของผู้ทำเป็นเจตนาดี ส่วนใหญ่เวลาที่เราอ่าน แล้วก็จะแชร์ทันที ที่เขาเผยแพร่ต่อเพราะเขารู้สึกว่าอินกับมัน เหมือนกับที่เราแชร์คำคมเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ผู้คนจะรู้สึกว่า ถ้ามันดี เราก็อยากจะแบ่งปันออก
เพราะฉะนั้น คนที่ทำครั้งแรกอาจจะทำด้วยความเผลอเรอ หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการที่จะตรวจสอบทำให้มันถูกต้อง อันที่สอง คนที่แชร์อาจจะเพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัส ก็มีลักษณะชอบแชร์เนื้อหาที่เป็นความรู้ วิธีการรักษา (เช่น น้ำมะนาวโซดารักษามะเร็ง) ซึ่งก็ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด
“คือต้องเข้าใจว่าพลังของข้อมูลข่าวสารที่ดี กับพลังของข้อมูลข่าวสารที่แย่ มันมีโอกาสเผยแพร่กระจายกัน เพราะว่าคนแชร์มีเจตนาดีสำหรับคนที่เขาเป็นเพื่อนกัน ทั้งสองอย่างเป็นไปด้วยเจตนาที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าข่าวสารนั้นจะเป็นเท็จ เป็นข่าวลือ หรือว่ามันจะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม คนแชร์นั้นมีเจตนาบริสุทธิ์ เพราะว่าเราไม่ได้มีลักษณะความสามารถที่จะไปล้วงลึกตรวจสอบข้อมูลได้ละเอียดเพียงพอ การมีลักษณะของการตรวจสอบมันมีไม่เท่ากันทุกคน”
เขาแนะนำว่า หากจะแชร์ข้อมูลแบบนั้นคือ หนึ่ง ดูแหล่งที่มา สอง ดูรายละเอียดของพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสว่า มีข้อความเนื้อหาสาระอย่างไร โดยเปรียบเทียบปี พ.ศ. ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ สาม ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่โดยธรรมชาติของคนทั่วไปไม่เข้าไปตรวจสอบถึงระดับนั้น จึงควรใช้วิจารณญาณ
“บางเว็บไซต์ก็ทำพระราชดำรัสมาโดยที่ หนึ่ง มันเป็นข้อความที่ดี สอง มันอาจจะเป็นข้อความที่ไม่ตรง มันมีเค้าโครงของประโยคนี้อยู่ แต่มันไม่ได้ตรงต้องเป๊ะทุกอย่าง มีลักษณะของการพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งในแง่มุมใหม่ของคนที่ทำ คือมันไม่ได้ถอดทุกคำ แต่มันถอดความมา ถ้าจะมีปัญหาจริง ๆ ก็คืออันที่ค่อนข้างเซนส์ซิทีฟบางคำ”
เขาแนะนำให้ดูว่า พระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทนั้นถูกพูดไปในช่วงเวลาไหน เพราะบ่งบอกถึงบริบทของผู้ถูกฟัง ช่วยให้เราย้อนนึกถึงบริบทเหตุการณ์ช่วงเวลานั้น และเข้าใจความหมายให้ได้มากขึ้น ถ้าอ่านเพียงแค่นี้แล้วเราก็แชร์เลย เราก็ไม่รู้ว่าบริบทของทำไมถึงต้องตรัสแบบนี้
“ถ้าเราอยากจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราก็ตรวจสอบและดูเทียบเคียงบริบทเวลาด้วยว่า บ้านเมืองตอนนั้นเป็นใคร พูดให้บัณฑิตฟัง บัณฑิตจบใหม่ใช่ไหม ตอนนั้นช่วงปี 2522 เกิดอะไรขึ้น สภาพสังคมเป็นอย่างไร จะช่วยให้เราเข้าใจปรัชญาและก็พระราชดำริ พระราชดำรัสของในหลวงมากขึ้น”
000
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นว่า วัตถุประสงค์ของคลิกเบทมีอย่างเดียว คือล่อให้คนคลิกอ่านให้มากที่สุด ซึ่งในการทำเช่นนั้น ทำให้คลิกเบทต้องทำตัวเป็นนักฉวยโอกาส นำเอาความเศร้า ความสูญเสีย หรือสิ่งอะไรก็ตามคนกำลังให้ความสนใจมาล่อ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่คิดถึงผลกระทบต่อสังคมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมของสื่ออย่างยิ่ง
"สิ่งที่น่ากังวลก็คือ สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากที่สุด ก็คือเรื่องเบื้องสูง ทำให้เว็บคลิกเบทต่าง ๆ กระทำการอันมิบังควร ก็คือนำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ มาตัดต่อ ดัดแปลง และใส่พาดหัวที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้คนคลิกเข้าไปอ่านหรือชม หลายครั้งเป็นข้อมูลที่ได้รับการส่งต่อ ๆ กันมาเป็นเวลานานแล้ว ข้อมูลบางเรื่องมีการชี้แจงแล้วด้วยซ้ำว่าไม่ใช่ความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก"
อีกข้อหนึ่งที่น่ากังวลก็คือ เว็บสื่อหลายสำนัก แทนที่จะสร้างความแตกต่างให้ประชาชนแยกได้ระหว่างเว็บคลิกเบทกับเว็บสื่อมวลชนอาชีพ แต่กลับไปใช้รูปแบบการพาดหัวเช่นเดียวกับเว็บคลิกเบท เพื่อเพิ่มยอดคลิกเช่นกัน ทำให้มาตรฐานทางวารสารศาสตร์ตกต่ำลง
เมื่อถามว่า ประชาชนจะรู้เท่าทันเว็บเหล่านี้ได้อย่างไร ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า ควรทำความเข้าใจและเรียนรู้ลักษณะของเว็บคลิกเบท เช่น พาดหัวที่หวือหวา หากเห็นข่าวสารที่มีลักษณะของคลิกเบท ก็ต้องตระหนักไว้เลยว่า ข้อมูลเหล่านี้ มีโอกาสเป็นเท็จมากกว่าเป็นจริง และหากแชร์หรือส่งต่อข้อมูลเท็จทางออนไลน์ ก็ถือว่าได้กระทำผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ด้วย
"พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเตือนลูกหลาน รวมทั้งผู้สูงอายุ ว่าไม่ควรแชร์ข้อความอะไรที่ส่งต่อ ๆ กันมา เพราะมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ง่าย และเลือกแชร์เฉพาะข้อมูลที่เราทราบว่าเป็นจริงเท่านั้น มิเช่นนั้นเราก็จะถือว่าเป็นเหยื่ออีกคน ที่ช่วยสนับสนุนการกระทำผิดด้วย"
เมื่อถามว่า สื่อควรจะปรับตัวอย่างไรกับคลิกเบทในขณะนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า อันดับแรก สื่อต้องคอยมอนิเตอร์ข่าวสารที่เกิดขึ้น และแจ้งเตือนประชาชน หากพบว่ามีการแชร์ข้อมูลเท็จ และบอกประชาชนว่าข้อมูลที่แท้จริงคืออะไร
นอกจากนั้น สื่อต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้จริง ๆ ในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ หากประชาชนมีรู้สึกว่าพึ่งพาสื่อได้จริง ๆ ก็จะมีความต้องการอ่านเว็บคลิกเบทน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ความรู้สึกของประชาชนมีความอ่อนไหวสูง สื่อต้องเป็นเสาหลักทางข้อมูลข่าวสารให้ได้
"สุดท้ายคือ สื่อต้องรักษามาตรฐานทางวารสารศาสตร์ ไม่กระทำตนเป็นคลิกเบทเสียเอง ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะแยกไม่ออก และเหมารวมว่าสื่อทั้งหมดเป็นเช่นนี้ ศรัทธาก็จะยิ่งน้อยลง ในช่วงเวลาที่ประชาชนมีความต้องการข้อมูลข่าวสาร และมีความอ่อนไหวสูงเช่นนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญของ "สื่อมืออาชีพ" ว่าจะสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสื่อมวลชนให้กลับมาได้หรือไม่" ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวทิ้งท้าย