ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กระแสต่อต้านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ถูกโหมขึ้นมาอีกครั้งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มีกำหนดการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 15 และ 16 ธันวาคม 2559
หากจะมองย้อนกลับไป กระแสการต่อต้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกปูพื้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 สนช.ได้จัดงานรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว ได้แก่ เครือข่ายพลเมืองเน็ต โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ได้จัดเวทีคู่ขนานเพื่อถ่ายทอดสดการประชุมพร้อมทั้งเสวนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้
ประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านยกขึ้นมาเป็นสาเหตุในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่พ้นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่ากฎหมายนี้ ใช้วิธีตีความอย่างกว้างเพื่อเอาผิดแก่ผู้โพสต์ข้อมูล โดยใช้หลักเรื่อง “ข้อมูลเท็จ”ที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับเดิมและมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่เอาผิดผู้โพสต์ข้อความที่กระทบต่อผู้มีอำนาจ
ในกฎหมายฉบับใหม่ ยังขยายนิยามความผิดเพิ่มเข้ามาอีกว่า การนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยทุจริตหรือหลอกลวง และเพิ่มคำว่า โดยประการที่น่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มจะตั้งคณะกรรมการบล็อกเว็บไซต์ที่รวมอำนาจไว้จุดเดียวที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล 5 คนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่คล้ายคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว.ที่คอยเซนเซอร์รายการวิทยุและโทรทัศน์ในอดีต โดยสามารถควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ของเอกชนได้ อีกทั้งยังสร้างเงื่อนไขใหม่ให้ผู้ให้บริการต้องรีบเซ็นเซอร์เนื้อหาทันทีเมื่อมีคนรายงาน
ขณะที่ iLaw ได้ให้ความเห็นผ่านบทความในเว็บไซต์ https://ilaw.or.th/node/4372 ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน เพื่อสืบสวนหาผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว การใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องคดีปิดปากการรณรงค์ หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว และกฎหายนี้ก็ให้อำนาจปิดเว็บไซต์ที่ "ขัดต่อศีลธรรมอันดี" ไว้อยู่แล้ว โดยยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายนี้ด้วย ดังนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถูกเสนอใหม่ จึงเพียงตอกย้ำ ปัญหาเดิมๆ ให้หนักขึ้น เช่น การกำหนดฐานความผิดที่กว้างและคลุมเครือ การให้อำนาจเพิ่มกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ให้อำนาจเพิ่มในการตรวจสอบจากสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แก้ไขส่วนที่เป็นจุดอ่อนให้ดีขึ้นได้
แม้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ไม่มีมาตราไหนเขียนให้รัฐมีอำนาจทำ Single Gateway หรือระบบการเดินทางของข้อมูลในโลกออนไลน์แบบประตูเข้าออกทางเดียวที่รัฐเป็นผู้ควบคุม ได้โดยตรง แต่โดยหลักคิดแล้ว ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับ Single Gateway คือ ทิศทางที่มองว่า "โลกอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นภัย ต้องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมอย่างเต็มที่"
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย นำโดย น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 300,000 รายชื่อ ที่ได้จากการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org ถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อขอให้ดำเนินการทบทวนและแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
น.ส.สฤณี บอกว่า ไม่ต้องการให้ สนช.รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และให้ชะลอการออกกฎหมายออกไปก่อน เพราะเนื้อหาในร่างยังไม่มีความชัดเจน ควรดำเนินการทบทวนและแก้ไขในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นสมควรให้พิจารณาแก้ไขร่างมาตรา 14, 15, 18 ประกอบมาตรา 19, 20 และ 26 ที่ต้องมีการบัญญัติลักษณะความผิดให้ชัดเจน คำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน และให้การออกมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น
นอกจากนี้ ให้พิจารณาตัดมาตรา 16/2 และ 20/1 ออกจากร่างฯ พร้อมย้ำว่า การออกมาตราใหม่ในการตั้งศูนย์บล็อกเว็บไซต์ เป็นการให้อำนาจรัฐโดยตรง ทำให้มีลักษณะปิดกั้นประชาชน และถือว่าเป็นกฎหมายที่มีคำนิยามที่กว้างมาก โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่ระบุว่าจะสามารถปิดกันข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม
ทั้งนี้ มาตรา 16/2 ว่าด้วยการทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายตามคำสั่งศาล ส่วนมาตรา 20/1 ว่าด้วยการให้อำนาจแก่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน 5 คนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเสนอรัฐมนตรีเพื่อยื่นต่อศาลให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่หรือทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ถึงแม้กลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะอ้างว่า มีรายชื่อประชาชนร่วมคัดค้านกว่า 300,000 รายชื่อ และมีกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างหลากหลายต่อเนื่อง แต่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... กล่าว ยืนยันว่า กมธ.พิจารณาปรับปรุงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีความชัดเจน และรัดกุมมากขึ้นกว่าร่างที่ส่งมาในวาระรับหลักการ เนื้อหาที่แก้ไขมีความชัดเจนมากขึ้น แต่สิ่งที่ภาคประชาชนกังวล เพราะเข้าใจผิดว่าจะนำเรื่องซิงเกิลเกตเวย์มารวมอยู่ในกฎหมายนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้นำเรื่องซิงเกิลเกตเวย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนที่ระบุว่า ความผิดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการกำหนดนิยามที่กว้างมากนั้น พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า ผู้ที่จะใช้ดุลยพินิจตีความว่าเรื่องใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศและศีลธรรมอันดี คือศาล ไม่ใช่ดุลยพินิจของคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 คนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะทำหน้าที่เพียงส่งเรื่องที่เห็นว่าน่าจะเข้าข่ายขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือศีลธรรมอันดีไปให้รัฐมนตรีพิจารณาเพื่อส่งเรื่องต่อไปให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นสุดท้าย เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจมากมายแก่เจ้าหน้าที่จนเกินเหตุ
ด้าน นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กล่าวว่า ในส่วนกระแสคัดค้านนั้นพบว่า ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ร่างกฎหมายยังไม่เข้าสู่การพิจารณาวาระแรก
สำหรับประเด็นที่กังวลว่าร่างฯ จะทำให้มีซิงเกิลเกตเวย์ หรือไม่ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ไม่มีบรรทัดใด หรือข้อความใด หรือการประชุมครั้งใดที่พูดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ ถ้ามีการทำซิงเกิลเกตเวย์ เจ้าพนักงานของรัฐจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทันที เพราะถือเป็นการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบตามมาตรา 5 มาตรา 7 หรือมีการดักรับข้อมูลตามมาตรา 8
ส่วนที่มีข่าวว่า จะซ่อนการตั้งซิงเกิลเกตเวย์ ไว้ในกฎหมายลูก ความเป็นจริง คือ เมื่อกฎหมายหลักไม่ได้มีหลักการเขียนไว้ กฎหมายลูกก็ไม่สามารถเขียนให้ทำได้ ส่วนข้อกังวลว่า จะมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ ไม่ได้มีการเขียนไว้ในร่างฯ ให้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าจะมีน่าจะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ (มาตรา 35) ไม่ใช่กฎหมายนี้
ประเด็นสำคัญที่มีความกังวลถึงอำนาจในการปิดบล็อกเว็บไซต์นั้น การปิดบล็อกเว็บไซต์ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบแล้วให้รัฐมนตรีพิจารณา แล้วจึงเสนอศาลให้มีคำสั่งดำเนินการเป็นการพิจารณา 3 ชั้น
การปิดบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่ได้มีการกระทำผิดกฎหมายอื่นแต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี (ร่างฯ มาตรา20/1) แนวคิดของมาตรานี้ มาจากการใช้ไลฟ์ผ่านสื่อโซเชียลโดยมีเนื้อหาที่รุนแรง เช่น ไลฟ์ฆ่าตัวตาย กระโดดตึก ค้าบริการทางเพศแอบแฝง หมิ่นพระพุทธศาสนา ฯลฯ ซึ่งไม่ผิดตามกฎหมายปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่รับเรื่อง และตรวจสอบกลั่นกรองก่อนส่งให้รัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอให้ศาลมีคำสั่ง จะเห็นว่า อำนาจในการปิดบล็อกทุกกรณีอยู่ที่ศาล กรรมการกลั่นกรองมีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น การปิดบล็อกโดยไม่มีศาล จึงไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ร่างฯ ได้เขียนให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองให้ปิดเว็บไซต์ได้ด้วย จะเห็นว่า มาตรการมี 4 ระดับ ตัวกรรมการกลั่นกรองที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมี 5 คน เป็นตัวแทนเอกชน 2 คน ตัวแทนภาครัฐ 2 คน คนกลาง 1 คน โดยคนกลางกรรมาธิการฯ อยากให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“ขั้นตอนปิดเว็บจึงมีมาตรการกลั่นกรอง 4 ชั้น คือ กรรมการกลั่นกรองรับเรื่องราว ส่งรัฐมนตรี ส่งศาล ถ้ามีคำสั่งแล้วไม่เห็นด้วย สามารถอุทธรณ์ที่ศาลปกครองได้ และสามารถส่งศาลอาญามีคำสั่งซ้ำว่า ผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ โดยสรุปมาตรา 20/1 ไม่มีการใช้อำนาจเกินกว่าที่ศาลกำหนดเลย”
สำหรับความกังวลว่า พ.ร.บ.นี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หรือการตรวจสอบโครงการภาครัฐ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เจตจำนงของร่างตั้งแต่เกิดขึ้นในปี 2549 ไม่ต้องการเขียนกฎหมายฉบับนี้ให้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ดังนั้น การแสดงสิทธิเสรีภาพความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญตราบที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และข้อมูลถูกต้องเป็นประโยชน์ย่อมไม่ผิดตามกฎหมายนี้ รวมทั้งประชาชนจะแสดงความคิดเห็นต่อบริการภาครัฐสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามปกติ เพราะมีสิทธิโดยสุจริตที่สามารถทำได้
ที่ปรึกษากรรมาธิการกล่าวสรุปว่า หลักการทุกอย่างในกฎหมายนี้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสแปมเมล์ หรืออีเมลขยะ จะถือเป็นความผิด กฎหมายนี้จะช่วยลดปัญหาสแปม สำหรับผู้ให้บริการสื่อโซเชียลเดิมที่มีความกังวลว่า ถ้ามีคนไปเผยแพร่ข้อมูลที่มีความผิดผ่านสื่อของท่านจะไม่ถือเป็นความผิด เว้นแต่เป็นผู้เลือกข้อมูลนั้นใส่เข้าไปเอง สำหรับสิทธิที่ไม่เคยมีในกฎหมายอื่น เช่น เคยถูกกล่าวหาว่าทำความผิด แต่ศาลพิพากษาแล้วว่า ไม่ใช่ความผิดสามารถลบข้อมูลนั้นออกได้ โดยไม่ถือเป็นการไปลบเรื่องราวประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็จะเห็นว่ามีส่วนที่เป็นข้อดี ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมอยู่หลายจุด ดังนั้น กลุ่มที่คัดค้านคงต้องแยกแยะประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ให้ชัดเจน ไม่ใช่ตีขลุมคัดค้านแบบเหมารวม และสร้างกระแสตีวัวกระทบคราดไปถึงเรื่องอื่นๆ