xs
xsm
sm
md
lg

พลเมืองเน็ต ยื่น 3 แสนชื่อ เสนอ สนช.ทบทวนร่าง กม.คอมพิวเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยื่น 3 แสนชื่อ ให้ สนช. ทบทวนร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ระบุ เนื้อหากระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน

ที่รัฐสภา วันนี้ (15 ธ.ค.) เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ แอมเนสตี้ นำโดย น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารเครือข่ายพลเมืองเน็ต เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 300,000 รายชื่อ ถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ดำเนินการทบทวนและแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมี นางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เป็นผู้รับมอบหนังสือ

น.ส.สฤณี กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ สนช. รับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากเครือข่ายต้องการให้ชะลอการออกกฎหมายออกไป เพราะเนื้อหาในร่างยังไม่มีความชัดเจน ควรดำเนินการทบทวนและแก้ไขในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นสมควรให้พิจารณาแก้ไขร่างมาตรา 14, 15, 18 ประกอบมาตรา 19, 20 และ 26 ที่ต้องมีการบัญญัติลักษณะความผิดให้ชัดเจน คำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน และให้การออกมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น

นอกจากนี้ ให้พิจารณาตัดมาตรา 16/2 และ 20/1 ออกจากร่าง พร้อมย้ำว่า การออกมาตราใหม่ในการตั้งศูนย์บล็อกเว็บไซต์ เป็นการให้อำนาจรัฐโดยตรง ทำให้มีลักษณะปิดกั้นประชาชน และถือว่าเป็นกฎหมายที่มีคำนิยามที่กว้างมาก โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่ระบุว่าจะสามารถปิดกันข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม

น.ส.สฤณี กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ทาง แอมเนสตี้ เล็งเห็นว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับดังกล่าวจะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หากการแก้ไขจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของไทยที่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หากร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาผ่านออกมาเป็นกฎหมาย อาจเปิดช่องให้เกิดการตีความ และสามารถถูกนำไปบังคับใช้ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ อาทิ ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ควรถูกบรรจุในมาตรา 14 วงเล็บ 1 ที่มีการตีความอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น จึงอยากให้ สนช. ทบทวนเนื้อหา ด้วยการฟังเสียงประชาชน แต่หาก สนช. ยืนยันผ่านร่างกฎหมายนี้ ก็จะติดตามต่อไป และขอให้รัฐบาลถัดไปแก้ไขเนื้อหาให้เหมาะสม ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มจะติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา หากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ก็จะคัดค้านอีก











กำลังโหลดความคิดเห็น