xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” วอน สนช.ดู พ.ร.บ.คอมพ์ให้สมดุลกับโลกปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ประธานทีดีอาร์ไอ วอน สนช.รอบคอบทบทวนพิจารณา กม.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ควรถอยรอดูบทเรียนต่างประเทศ ชี้ห่วงมาตรา 20(4) ให้อำนาจคณะกรรมการเสนอบล็อกเว็บได้อาจทำลายสมดุลกฎหมาย

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า การออกกฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายที่ประเทศใดจะออกก็ได้ แล้วแต่ประเทศใคร และไม่จำเป็นต้องเขียนให้เหมือนกัน แต่เมื่ออยู่ในโลกยุคปัจจุบันที่มีการทำธุรกิจการค้าเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ต มีความจำเป็นว่าการออกกฎหมายต้องพิจารณาถึงพัฒนาการ และกฎหมายลักษณะเดียวกันของประเทศที่ได้ออกกฎหมายแบบนั้นมาก่อน

การพิจารณาดูทิศทางของกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กควรดูทิศทางของประเทศที่มีการคุ้มครองประชาชนดีกว่าประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองรัฐ และคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกโจมตี หรือถูกใครมาทำความผิด ขณะเดียวกัน ต้องดูด้วยว่าการออกกฎหมายหากไปละเมิดสิทธิของประชาชนโดยกระบวนการที่ไม่เป็นนิติรัฐเป็นเรื่องที่ไม่ควรมี เพราะจะเป็นปัญหา

“กรณีแบบนี้ควรดูต่างประเทศที่เป็นนิติรัฐเข้มแข็งกว่าประเทศไทย ควรรอดูจนเขามีข้อสรุป และบทเรียนกันแล้ว เราจึงออกกฎหมาย ควรรอดูมาตรฐานที่เกิดขึ้นในยุโรป หรือสหรัฐฯ แล้วมากำหนดเป็นมาตรฐานที่จะใช้ในบ้านเราว่าควรเป็นอย่างไร”

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ตนเป็นห่วงมาตรา 20(4) (มาตรา 20 วงเล็บ 4 ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ที่แม้ไม่มีความผิดตามกฎหมาย แต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลทางคอมพิวเตอร์มีอำนาจสั่งระงับเผยแพร่ หรือสั่งลบข้อมูลทันที ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงที่มาของคณะกรรมการว่า จะมีความเป็นกลางในการทำหน้าที่เพียงใด และมาตรานี้จะเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนหรือไม่ โดยได้เสนอทางออกให้กรรมาธิการบัญญัติให้ชัดไปเลยว่า เรื่องใดเป็นความผิด) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาความผิดว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีแล้ว ปิดกั้นเว็บไซต์ได้ เท่ากับการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน

มาตรานี้เหมือนเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้อำนาจเจ้าหน้าในการปิดบล็อกเว็บไซต์ได้ ต้องไม่ลืมว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ การให้อำนาจเจ้าพนักงานปิดบล็อกเว็บไซต์ได้ โดยกฎหมายเขียนไว้แค่ว่า กฎหมายไม่ได้บอกว่าผิด แต่กรรมการชุดหนึ่งเห็นว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยสามารถปิดกั้นได้ ทางออกควรบัญญัติให้ชัดเจนไปเลยว่า เรื่องใดเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำแบบนี้จะได้มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลระดับหนึ่ง ไม่ใช่ให้ไปฝากไว้เป็นอำนาจศาลให้เป็นภาระที่ศาลที่ต้องวินิจฉัย เพราะการตัดสินของศาลย่อมตัดสินไปตามอุดมการณ์ แนวคิด ค่านิยม ของผู้พิพากษาในคดีนั้น ตนเห็นว่า ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องห้ามด้วยข้อกฎหมายที่มาจากกฎหมายที่สูงสุด สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ร่างนี้ไม่ได้ห้ามด้วยตัวกฎหมาย แต่ไปห้ามโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งไปขออำนาจศาลจึงไม่ถูกต้อง”

นายสมเกียรติ กล่าวสรุปว่า การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องเป็นกฎหมายที่ต้องรักษาสมดุลของความมั่นคง และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบ เป็นการยากที่จะหาสมดุลที่พอเหมาะ เพราะสมดุลไม่ได้หยุดนิ่ง การรักษาสมดุลของการออกกฎหมายนอกจากต้องรักษาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความมั่นคงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่จะออกไป ที่ผ่านมา ประวัติการใช้กฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ไม่เป็นที่ชื่นชอบของต่างประเทศ การไปเพิ่มความเข้มงวดในกลไกการบังคับใช้กฎหมายเป็นความเสี่ยงทำให้ภาพลักษณ์ถดถอยลงไป อยากฝากให้ก มธ. และ สนช.ใช้ความระมัดระวังในการออกกฎหมายให้มากเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงทุกครั้งที่ออกกฎหมายลักษณะนี้

ความเสี่ยงเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า มีการกระทำบางอย่างในระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจของตนเอง จึงอยากให้การกระทำนั้นเป็นการผิดกฎหมาย และความเสี่ยงที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดแล้วให้เกิดกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในประเทศไทยกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมักมีปัญหามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เมื่อตัวมันเองเป็นปัญหาแล้วทำให้เกิดปัญหามันก็รักษาสมดุลไม่ได้ จึงอยากให้ถอยไปตั้งหลัก อย่าไปเสี่ยงที่จะไปบังคับที่เข้มงวดแล้วใช้กฎหมายอย่างผิดพลาด กฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับนี้ถ้าออกมาในลักษณะกำกวมไม่ชัดเจนจะเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนที่บริสุทธิ์กลายเป็นคนผิดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น