xs
xsm
sm
md
lg

รัฐรู้ยัง! เว็บละเมิดมี “หนังโป๊-พนัน” เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ สมาคมหนังสหรัฐฯ จี้ไทยแก้ไขด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมภาพยนตร์สหรัฐฯ เผยการละเมิดหนังในไทยผ่านโซเชียลมีเดียพุ่ง ชี้อุตสาหกรรมหนังโป๊-การพนัน สปอนเซอร์ใหญ่เว็บไซต์ จี้บริษัทในไทยยุติการให้โฆษณา กรมทรัพย์สินทางปัญญายันปิดเว็บละเมิดยาก ส่วนใหญ่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ แต่สั่งถอดเนื้อหาละเมิดออกง่ายกว่า

นางอุมาศิริ ทาร่อน รองผู้อำนวยการทั่วไปสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า สถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยรุนแรงมากขึ้น หลังกระแสใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทิวบ์ เป็นที่นิยม ส่งผลให้การดูหนังละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้ง่ายขึ้น เช่น มีรูปแบบการแชร์ผ่านกรุ๊ปไลน์ และการเสิร์ซหาหนังฟรีในเว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งสมาคมฯ เตรียมที่จะรณรงค์ให้บริษัทต่างๆ ในไทยยกเลิกการให้โฆษณากับเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนรายได้แก่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ จากการสำรวจของสมาคมฯ พบว่า งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนาย พอล เอ วัตเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแมสซี ประเทศนิวซีแลนด์ ได้รายงานว่า โฆษณาในเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของไทย จะมีโฆษณาที่เป็นความเสี่ยงสูงต่อผู้ใช้บริการจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางเพศหนังโป๊ และขายยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ สัดส่วน 62% รองลงมา 16.05% เป็นโฆษณาเกี่ยวกับการพนัน ซึ่งทั้งหมดจะขัดแย้งกับค่านิยมของสังคมไทย

นางอุมาศิริกล่าวว่า สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลไทยปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดเว็บไซต์ได้รวดเร็วกว่านี้ เช่น การแก้ไขมาตรา 32 (3) เรื่องการให้ผู้ประกอบการ เจ้าของสิทธิ์สามารถยื่นร้องขอให้ศาลสั่งปิดเว็บไซต์ละเมิดได้ทันที เพราะการที่กฎหมายระบุให้เจ้าของสิทธิ์ต้องมาดำเนินคดี ภายใน 30 วัน ในทางปฏิบัติหากเจ้าของอยู่ต่างประเทศอาจทำได้ไม่ทัน ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต้องการให้บล็อกเว็บไซต์ได้อย่างถาวร และให้มีการจับกุมผู้กระทำความผิด และขอให้บริษัทไทยยุติการให้โฆษณากับเว็บไซต์ละเมิดดังกล่าว

สำหรับการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) จะประกาศสถานะของประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2559 ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษในปลายเดือน เม.ย. สมาคมฯ ได้เสนอยูเอสทีอาร์ให้คงสถานะไทยในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับเบิลยูแอล) เหมือนเดิม เพราะการละเมิดในไทยยังไม่ดีขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของไทยที่ปรับปรุงใหม่ และมีผลบังคับเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา สามารถดำเนินการการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดได้ แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ ที่ถูกละเมิดต้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งปิดเว็บ เมื่อศาลพิจารณาแล้ว หากเห็นว่ามีการละเมิดจริง และเจ้าของเสียหายก็จะสั่งให้ปิดเว็บไซต์ชั่วคราว เช่น 30 วัน หรือ 90 วัน ไม่ได้ปิดถาวร และในระหว่างนั้น เจ้าของสิทธิ์ต้องดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ละเมิดอีก

“ปัญหาอยู่ที่การปิดเว็บไซต์ทำได้ยากมาก เพราะส่วนใหญ่เว็บไซต์ละเมิดมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายไทยเข้าไปไม่ถึง ทางที่ดีที่สุดคือ ขอให้ศาลสั่งเอาข้อมูลหรือเนื้อหาละเมิดออก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) พร้อมดำเนินการเอาออกให้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดว่า ถ้าศาลสั่งแล้ว ISP ดำเนินการตามศาลสั่ง ISP จะไม่มี” นายทศพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น