MGR Online - ตำรวจ ปอศ.ลงพื้นที่กวาดล้างสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ 3 จุดพร้อมยึดของกลางเครื่องใช้ไฟฟ้านาฬิกา เสื้อผ้าแบรนด์ดังกว่า 18,961 ชิ้น มูลค่ากว่า 180 ล้านบาท เตรียมตรวจทรัพย์สินผู้ประกอบการที่กระทำความผิด ส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์
วันนี้ (3 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ปิยะพงธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ. พร้อม พ.ต.อ.ณพวัฒน์ อารยางกูร รอง ผบก.ปอศ. และนายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมแถลงข่าวจับกุมการกวดขันจับกุมสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์และปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า
พล.ต.ต.สมหมายกล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.พลชัย กิจกุลธนันต์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ. พร้อมชุด ศปก.บก.ปอศ. เข้ากวดขันจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่เขตบางนา และเขตพระโขนง จำนวน 3 จุด พร้อมของกลางหูฟัง ลำโพง ยี่ห้อบีสท์ปลอม จำนวน 12,581 ชิ้น นาฬิกายี่ห้อโรเล็ก ซ์คาเธีย เบลลิ้ง ปลอม จำนวน 1,584 ชิ้น กางเกงยี่ห้อบินลาบอง และยี่ห้อควิกซิลเวอร์ ปลอม จำนวน 3,997 ชิ้น เข็มขัดยี่ห้อเอสอาร์ดี้ ปลอม จำนวน 100 ชิ้น แว่นตายี่ห้อเอสอาร์ดี้ ปลอม จำนวน 100 ชิ้น และสวิตช์ตัดไฟยี่ห้อทีน ปลอม จำนวน 599 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 18,961 ชิ้น เป็นเงินมูลค่า 180 ล้านบาท ในข้อหามีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจัก รตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 และ 110 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.สมหมายกล่าวต่อว่า การจับกุมดังกล่าวถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งทาง บก.ปอศ.จะดำเนินการตรวจสอบการถือครองทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้างต้นเพื่อรายงานไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายและผู้ที่มีแนวริเริ่มสร้างสรรค์แบรนด์ของตนเอง ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีคุณภาพ
พล.ต.ต.สมหมายกล่าวต่อว่า บก.ปอศ. และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปราม สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมกันส่งเสริมให้มีการพัฒนาการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพและแบรนด์ของผู้ประกอบการเอง ซึ่งจะนำไปสู่การกวดขันจับกุมสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์และปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า ในแบรนด์ของผู้อื่นต่อไป