ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรก เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากการเพิ่มฐานความผิด เพิ่มโทษจำคุกและโทษปรับให้หนักขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังคงมีประเด็นเรื่องการปิดกั้นหรือการบล็อกเว็บที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐสามารถกระทำได้ง่ายขึ้น
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน การปิดกั้นเนื้อหาบนเว็บไซต์จะกระทำได้โดยการขออำนาจจากศาล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 ว่า
“ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้”
นั่นหมายความว่า การบล็อกเว็บหรือการระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์แต่เดิมนั้น มีกระบวนการเริ่มจากพนักงานเจ้าหน้าที่ขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงยื่นคำร้องพร้อมพยานหลักฐานขอคำสั่งจากศาล และเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะให้มีการบล็อกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ นับจาก พ.ร.บ.นี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มักมีคำถามอยู่เสมอว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น มีความหมายที่กว้างมาก และขึ้นอยู่กับการตีความของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้มีความเปราะบางและอาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
นอกจากนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษขึ้นมา เช่น ในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในปัจจุบัน มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ก็แทบไม่มีความหมายอันใด นั่นเพราะรัฐบาลสามารถใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายดังกล่าว สั่งปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ได้อยู่แล้ว
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ฉบับล่าสุดจึงมีการไขมาตรา 20 ใหม่ ตามปรากฏในร่างฯ มาตรา 15 ที่ระบุว่า
“มาตรา 15 ให้ยกเลิกความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
(1)ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(2)ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
(3)ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นได้ร้องขอ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(4)ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนี่ง(4) ให้มีจำนานห้าคน ซึ่งสองในห้าคนต้องมาจากตัวแทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
การยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ การไต่สวนคำร้อง และการทำคำสั่งศาลตามวรรคหนึ่ง อาจกระทำได้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
รัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และแนวทางปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้อธิบายผ่านทางเว็บไซต์ www.ilaw.or.th ถึงนัยของการแก้ไขมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ว่า ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ใช้กันอยู่ มาตรา 20 เนื้อหาที่เจ้าหน้าที่นำไปขอหมายศาลให้ปิดกั้นการเข้าถึงหรือบล็อกได้ต้องมีลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
แต่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์บางประเภทที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บไซต์เล่นการพนัน เว็บไซต์ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ เนื่องจากเป็นกระทำความผิดที่อยู่นอกเหนือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าพนักงาน
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับล่าสุด จึงให้มีมาตรา 20(3)กำหนดให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถขอหมายศาลให้บล็อกเว็บที่มีเนื้อหาผิดต่อกฎหมายอื่นได้ด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ ร้องขอมา เช่น เมื่อตำรวจในท้องที่ร้องขอให้ปิดเว็บไซต์เล่นการพนัน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร้องขอให้ปิดเว็บไซต์ที่ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือกรมทรัพย์สินทางปัญญาร้องขอให้ปิดเว็บไซต์ที่ขายของละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ยังมีมาตรา 20(4) ขยายขอบเขตอำนาจให้เจ้าพนักงานดำเนินการขออำนาจศาลเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ที่แม้เนื้อหาจะไม่ผิดกฎหมายอื่น แต่มีลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่ “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” มีมติเป็นเอกฉันท์
ทั้งนี้ “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์”ที่จะมาลงมติชี้ขาดว่าข้อมูลใดมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น มีทั้งหมด 5 คน มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี โดยสองในห้าคนต้องเป็นตัวแทนภาคเอกชน
การให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน 5 คนเป็นผู้ชี้ขาดว่า ข้อมูลใดมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่(แม้ว่าจะไม่ใช่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายอื่น)นั้น กำลังกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
แม้แต่ที่ประชุมของ สนช.ในการพิจารณาวาระแรก เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา สมาชิกหลายคนได้แสดงความเป็นห่วงว่า “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”นั้น จะถูกตีความในความหมายที่กว้างเกินไปและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช.ในวันนั้นก็มีมติ 160 ต่อ 0 รับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้ และคาดเดาได้ไม่ยากว่าในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างก็ลงมา“นั่งในเรือแป๊ะ”ด้วยกันแล้ว ในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 เนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ก็คงจะไม่ถูกแปรญัติให้ต่างไปจากเนื้อหาในร่างที่ ครม.เสนอแต่อย่างใด