xs
xsm
sm
md
lg

สื่อต่างชาติเผย “เฟซบุ๊ก” หวังเกี่ยวก้อยจีน ซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์เซ็นเซอร์เนื้อหาเอาใจรัฐบาลมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กสนทนากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (กลาง) มีนายหลู่ เว่ย หัวหน้าผู้ควบคุมอินเตอร์เน็ตของจีนอยู่ด้านข้าง (ภาพรอยเตอร์)
กลุ่มสื่อต่างประเทศรายงาน (24 พ.ย.) เฟซบุ๊กซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์พิเศษ ช่วยรัฐบาลจีนคัดกรองเนื้อหาไม่พึงประสงค์ หวังกลับมาตีตลาดบนแดนมังกรอีกครั้ง

จีนได้บล็อกเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลจีนพิจารณาว่าการเปิดกว้างรับสื่อสังคมออนไลน์โลกมีความอ่อนไหวทางการเมือง และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

แม้ปัจจุบันจีนจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่รัฐบาลก็ยังคงนโยบายควบคุมสื่อประเภทต่างๆ อย่างเข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะโลกไซเบอร์ที่พึ่งพาโปรแกรมกำแพงไฟ (Great Firewall หรือชื่อทางการคือ the Golden Shield) ซึ่งดูแลโดยกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์จีน

อย่างไรก็ดี บรรดานายใหญ่เว็บไซต์ที่ถูกบล็อก ต่างพยายามเจรจาอย่างลับๆ กับรัฐบาลจีนมานานหลายปี เพื่อจะได้เข้ามาชิงเค้กในตลาดที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก

ล่าสุด กลุ่มสื่อต่างประเทศ ได้อ้างข้อมูลจากพนักงานและอดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เฟซบุ๊ก” เจ้าของเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยยอดผู้ใช้มากกว่า 1,800 ล้านคน กำลังซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์พิเศษบนเว็บไซต์ ซึ่งมีความสามารถในการ "เซ็นเซอร์" หรือคัดกรองเนื้อหา อันไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลจีนออกไป ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้รัฐบาลจีนปลดบล็อกเฟซบุ๊กในอนาคต

รายงานระบุว่า ซอฟต์แวร์พิเศษจะอนุญาตให้บุคคลที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นรัฐบาลจีน หรือบริษัทที่ว่าจ้างโดยรัฐบาลจีน สามารถจัดการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เป็นภัยต่อรัฐบาล เพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้ในจีนเข้าถึงได้

แม้เฟซบุ๊กยังไม่ได้ยอมรับหรือปฎิเสธรายงานข่าวดังกล่าว ทว่า ประเด็นเรื่องซอฟต์แวร์พิเศษนี้ ได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งภายในเฟซบุ๊ก จนทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งแสดงการคัดค้านด้วยการลาออก

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของเฟซบุ๊ก ได้เดินทางเยือนประเทศจีน และได้พบปะกับบุคคลสำคัญของจีนหลายครั้ง รวมถึงการเข้าเยี่ยมคารวะ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน นอกจากนี้ ในปี 2557 ยังมีรายงานข่าวระบุว่าเฟซบุ๊กได้เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่สำนักงานในย่านธุรกิจของกรุงปักกิ่ง ระยะเวลา 3 ปีอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น