“ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” ไขข้อข้องใจ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่อีกรอบ ยันแก้ไขให้ดีขึ้น การพิจารณามีหลายขั้นตอน ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ยันไม่เกี่ยวกับ “ซิงเกิล เกตเวย์”
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ... ไขข้อข้อใจร่างฯ ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯ เตรียมเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในสภาว่า ในส่วนกระแสคัดค้านพบว่า ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ร่างกฎหมายยังไม่เข้าสู่การพิจารณาวาระแรก
สำหรับประเด็นที่กังวล เรื่องแรก ร่างฯ จะทำให้มีซิงเกิลเกตเวย์ หรือไม่ ฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ไม่มีบรรทัดใด หรือข้อความใด หรือการประชุมครั้งใดที่พูดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ ถ้ามีการทำซิงเกิลเกตเวย์ เจ้าพนักงานของรัฐจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทันที เพราะถือเป็นการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบตามมาตรา 5 มาตรา 7 หรือมีการดักรับข้อมูลตามมาตรา 8 ส่วนที่มีข่าวว่า จะซ่อนการตั้งซิงเกิลเกตเวย์ ไว้ในกฎหมายลูก ความเป็นจริง คือ เมื่อกฎหมายหลักไม่ได้มีหลักการเขียนไว้ กฎหมายลูกก็ไม่สามารถเขียนให้ทำได้ ส่วนข้อกังวลว่า จะมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ ไม่ได้มีการเขียนไว้ในร่างฯ ให้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าจะมีน่าจะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ (มาตรา 35) ไม่ใช่กฎหมายนี้
ส่วนประเด็นสำคัญที่มีความกังวลถึงอำนาจในการปิดบล็อกเว็บไซต์นั้น การปิดบล็อกเว็บไซต์ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบแล้วให้รัฐมนตรีพิจารณา แล้วจึงเสนอศาลให้มีคำสั่งดำเนินการเป็นการพิจารณา 3 ชั้น ส่วนการปิดบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่ได้มีการกระทำผิดกฎหมาย แต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี (ร่างฯ มาตรา20/1) แนวคิดของมาตรานี้ มาจากการใช้ไลฟ์ผ่านสื่อโซเชียลโดยมีเนื้อหาที่รุนแรง เช่น ไลฟ์ฆ่าตัวตาย กระโดดตึก ค้าบริการทางเพศแอบแฝง หมิ่นพระพุทธศาสนา ฯลฯ ซึ่งไม่ผิดตามกฎหมายปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่รับเรื่อง และตรวจสอบกลั่นกรองก่อนส่งให้รัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอให้ศาลมีคำสั่ง จะเห็นว่า อำนาจในการปิดบล็อกทุกกรณีอยู่ที่ศาล กรรมการกลั่นกรองมีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น การปิดบล็อกโดยไม่มีศาล จึงไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ร่างฯ ได้เขียนให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองให้ปิดเว็บไซต์ได้ด้วย จะเห็นว่า มาตรการมี 4 ระดับ ตัวกรรมการกลั่นกรองมี 5 คน เป็นตัวแทนเอกชน 2 คน ตัวแทนภาครัฐ 2 คน คนกลาง 1 คน โดยคนกลางกรรมาธิการฯ อยากให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นอกจากนี้ มีการเพิ่มเติมการปิดบล็อกงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญหา เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์เดิม การละเมิดผ่านสื่อโซเชียลเมื่อไปฟ้องศาลทรัพย์สิน หากไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด จะไม่สามารถปิดบล็อกเว็บไซต์ที่ละเมิดได้ จึงกำหนดให้มีมาตรการให้มีการบังข้อมูลบางส่วนของเพจเพื่อไม่ให้ดูได้ ซึ่งไม่กระทบกับสิทธิใดๆ หากกระทำในส่วนนี้ได้จะเป็นส่วนดีที่จะยกระดับการยอมรับในการทำการค้า และการลงทุนของประเทศไทยได้
“ขั้นตอนปิดเว็บจึงมีมาตรการกลั่นกรอง 4 ชั้น คือ กรรมการกลั่นกรองรับเรื่องราว ส่งรัฐมนตรี ส่งศาล ถ้ามีคำสั่งแล้วไม่เห็นด้วย สามารถอุทธรณ์ที่ศาลปกครองได้ และสามารถส่งศาลอาญามีคำสั่งซ้ำว่า ผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ ถ้าดูจากขั้นตอนจะกินเวลา 2-3 เดือน ถ้าอุทธรณ์คำสั่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี โดยสรุปมาตรา 20/1 ไม่มีการใช้อำนาจเกินกว่าที่ศาลกำหนดเลย”
สำหรับความกังวลว่า พ.ร.บ.นี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หรือการตรวจสอบโครงการภาครัฐ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เจตจำนงของร่างตั้งแต่เกิดขึ้นในปี 2549 ไม่ต้องการเขียนกฎหมายฉบับนี้ให้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ดังนั้น การแสดงสิทธิเสรีภาพความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญตราบที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และข้อมูลถูกต้องเป็นประโยชน์ย่อมไม่ผิดตามกฎหมายนี้
ส่วนที่กังวลว่า มีกฎหมายนี้แล้วจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการของภาครัฐได้ ความเป็นจริง เป็นการปกป้องบริการภาครัฐกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เช่น รถไฟฟ้าจะระเบิด รถใต้ดินมีปัญหา แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง กฎหมายเดิมไม่สามารถครอบคลุมในส่วนนี้ จึงมีการเพิ่มถ้อยคำบริการสาธารณะให้ได้รับการคุ้มครอง ส่วนหากประชาชนจะแสดงความคิดเห็นต่อบริการภาครัฐสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามปกติ เพราะมีสิทธิโดยสุจริตที่สามารถทำได้
ที่ปรึกษากรรมาธิการกล่าวสรุปว่า หลักการทุกอย่างในกฎหมายนี้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสแปมเมล์ หรืออีเมลขยะ จะถือเป็นความผิด กฎหมายนี้จะช่วยลดปัญหาสแปม สำหรับผู้ให้บริการสื่อโซเชียลเดิมที่มีความกังวลว่า ถ้ามีคนไปเผยแพร่ข้อมูลที่มีความผิดผ่านสื่อของท่านจะไม่ถือเป็นความผิด เว้นแต่เป็นผู้เลือกข้อมูลนั้นใส่เข้าไปเอง สำหรับสิทธิที่ไม่เคยมีในกฎหมายอื่น เช่น เคยถูกกล่าวหาว่าทำความผิด แต่ศาลพิพากษาแล้วว่า ไม่ใช่ความผิดสามารถลบข้อมูลนั้นออกได้ โดยไม่ถือเป็นการไปลบเรื่องราวประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
*** กระทรวงดีอี นั่งยันไม่มีอะไรเกี่ยวกับซิงเกิลเกตเวย์
ด้านนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ทำการล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น กระทรวงดีอี ขอชี้แจงเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 โดยได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัย เหมาะสม กับเวลา และเทคโนโลยี และไม่ได้ริดรอนสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
แต่เน้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเฉพาะคนที่เคารพสิทธิของคนอื่น และมีการใช้สิทธิไม่เกินขอบเขต หรือไปทำให้ผู้อื่นเสียหาย เพื่อเป็นการป้องกัน และควบคุมความสงบเรียบร้อยในโลกไซเบอร์ให้เกิดความพอดี และเป็นการรักษาสมดุลระหว่างสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน กับความมั่นคงของประเทศ หรือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายเท่านั้น โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) ที่ไม่ได้มุ่งใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่จะใช้กับการหลอกลวง ฉ้อโกง การปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์ และมาตรา 14(2) ที่มุ่งคุ้มครองระบบความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ การบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันการรบกวนระบบ และข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นระบบ หรือข้อมูลส่วนบุคคล หรือของสาธารณะ ซึ่งหากเป็นการกระทำ หรือรบกวนต่อระบบ หรือข้อมูลสาธารณะ จะมีโทษหนักกว่ากฎหมายฉบับเดิม ส่วนการใช้อำนาจในการระงับ หรือลบข้อมูลยังต้องผ่านดุลยพินิจของศาลตามกระบวนการของกฎหมายฉบับเดิม ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล
สำหรับประเด็นที่มีข้อห่วงใยว่า จะมีการใช้อำนาจรัฐไปกระทบสิทธิของประชาชนนั้น ทาง สนช.ได้ปรับแก้ในหลายมาตราที่สำคัญ เช่น ม.14(1) พูดชัดเจนว่า ไม่ให้ความผิดฐานป้อนข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่มีเจตนาเอาผิดกับการหลอกลวง ฉ้อโกงทางออนไลน์นั้น ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้อีก กล่าวคือ ไม่ให้นำไปใช้กับเรื่องหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้น ในชั้นกรรมาธิการฯ ก็ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกหลายเรื่อง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต และฝ่ายบังคับใช้กฎหมายต้องนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อาจกระทบกับผู้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และภาคประชาสังคมที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น แนวโน้มการใช้มาตรานี้ที่ไม่ถูกต้องนั้นจะไม่มีอีกต่อไป และอีกกรณี หากจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระงับการเผยแพร่ หรือปิดเว็บไซต์ เดิมเคยมีการวิจารณ์กันมากว่า ควรให้มีกลไกการกลั่นกรองที่ดี มีความชัดเจน ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้ช่วยดูแลด้วยการเพิ่มภาคสังคมเข้าไป และยังคงต้องให้ผ่านทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และขออนุญาตต่อศาลก่อน ก็นับว่าเป็นกลไกที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น
“กระทรวงดีอี ขอย้ำว่า การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน และให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งเพื่อให้มีความสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีความเกี่ยวเนื่อง หรือไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับซิงเกิลเกตเวย์ แต่อย่างใด”