ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลายสัปดาห์ก่อนโน้น มีข่าวว่ารัฐบาลรับข้อเสนอแนวคิดของภาคเอกชน เพื่อฟื้นระบบ "ผู้ว่าฯซีอีโอ" ขึ้นมาเป็นรอบที่ 3 ภาคเอกชนนั้นคือ “หอการค้าไทย”ต้องการเห็น ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามามีบทบาทในการผลักดัน และอบรมหลักสูตรเชิงการค้าของประเทศ ในยุคปลายๆรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนวคิด คืออยากให้ “ผู้ว่าฯซีอีโอ”เข้ามาเป็นเจ้าภาพในเชิง“รุก” คอยผสมผสานปัญหาให้กลมกลืนระหว่างหน่วยงาน อยากให้“ผู้ว่าฯ เป็นผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี อยู่ในจังหวัด”
ประกอบกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังจะมี“นโยบายแนวทางการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ”โดยรัฐบาลจะจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี (เงินกู้) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 100,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับกลุ่มจังหวัด เนื่องจากจังหวัด/กลุ่มจังหวัด จะได้รับงบประมาณจำนวนมากจาก 300-500 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มประมาณ 10 เท่า
แนวคิดผู้ว่าฯซีอีโอ เพื่อฝ่ายการเมืองจริงๆ เกิดมาในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ปี 2544 เป็นการนำคำสองคำที่ใช้เรียกผู้บริหารมารวมกัน เน้นบริหารราชการระดับจังหวัดรูปแบบใหม่ มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สมัยนั้น เป็นเจ้าภาพ
แม้ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะมีการบันทึกว่า แนวคิดที่ต้องการเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้ต่างกับแนวคิดซีอีโอ ของภาคเอกชน แต่ก็ต้องล้มไป เนื่องจากไม่ได้จัดทำโครงการทดลอง ต้องล้มเลิกไปในช่วงระยะเวลาอันสั้น
รัฐบาลไทยรักไทย นำคำว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ถือเป็น ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดในระบบราชการ ส่วน"ซีอีโอ" มาจาก "Chief Executive Officer" หรือหัวหน้าคณะผู้บริหาร ในระบบธุรกิจ มาผสมกัน
ขณะที่แกนนำพรรคไทยรักไทยช่วงนั้น เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในยุคที่ยังนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปูทาง“ผู้ว่าราชการแบบบูรณาการ”หรือ “ผู้ว่าฯซีอีโอ”ในระยะเริ่มแรก ต่อเนื่องมาจากความผิดพลาดของ “นโยบายกองทุนหมู่บ้าน” ที่ระบบราชการขาดระบบเจ้าภาพ รวมถึงผลจากการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่จังหวัดต่างๆ โดยหลักการคือ เน้นให้ชาวบ้านได้มีโอกาสร่วมตัดสินใจในตัวนโยบายและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ถึงขีดสุด แกนนำพรรคไทยรักไทยสมัยนั้น จึงนำมาคิดกันว่า ต้องสร้างความเป็นเจ้าภาพให้กับข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบในต่างจังหวัดเข้ามาบริหาร จะได้รับการสนับสนุนแผนจากรัฐบาล ทั้งทรัพยากร คน เงิน และอื่นๆ ที่จำเป็น
ปี 2544-2545 เป็นเวลา 1 ปี รัฐบาลชุดนั้นได้จัดทำโครงการทดลองนำแนวคิดซีอีโอไปปฏิบัติในพื้นที่ 5 จังหวัด และในจังหวัดเปรียบเทียบอีก 5 จังหวัด ต่อมาในปี 2546 รัฐบาลได้ประกาศเจตนาแน่วแน่ที่จะนำแนวคิดซีอีโอ มาปรับใช้กับการบริหารงานภาครัฐในระดับจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.46
ผู้ว่าซีอีโอ ทั้งหมด 75 จังหวัดสมัยนั้น มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในการบริหารงาน คน และเงิน มีการจัดสรรงบพิเศษ เรียกว่า "งบผู้ว่าซีอีโอ" ให้นำไปใช้จ่ายจำนวนหลายสิบล้านบาท ซึ่งในข้อเท็จจริงพบว่า มีการนำไปบริหารแบบปันส่วนกันกับบรรดา ส.ส.ในพื้นที่โดยมุ่งผลทางการเมืองเป็นสำคัญ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นงบประมาณในการหาเสียงของรัฐบาล ถูกนักวิชาการไปปรามาสว่าเป็น “ผู้รับจ้างเขียนวิสัยทัศน์”ให้รัฐบาล
ปลายรัฐบาลยุคนั้น ประมาณ พ.ศ.2548 ดร.สมคิด เป็น รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยมอบนโยบายแก่ผู้ว่าฯซีอีโอ ให้ร่วมมือกันประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วง “รัฐบาลรักษาการ”เช่น 1. การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบกลางที่รัฐบาลจัดสรรให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอ ทั่วประเทศวงเงิน 3-4 หมื่นล้านบาท (งบผู้ว่าฯซีอีโอ ปี 2548) 2. การจัดมหกรรมธงฟ้า เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศเดือนละครั้ง 3 .เร่งผลักดันโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป และ 4. กระตุ้นการท่องเที่ยวในโครงการไทยเที่ยวไทย เน้น “งบประมาณจำนวน 3-4 หมื่นล้านบาท” กระจายไปในพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้ามากขึ้น แต่ก็ล้มพับไปหลังรัฐบาลถูกรัฐประหาร
ต่อมาปี 2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดร่างพ.ร.ฎ. ว่าด้วยการบริหารจัดทำงบประมาณแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด พ.ศ. 2551 ขึ้น สกัด “งบผู้ว่าฯซีอีโอ”และสกัดเงินเข้ามือ ส.ส.ในพื้นที่จนชะงัก
จนมาถึงยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน ยังมีความพยายามปลุกผู้ว่าฯซีอีโอ ขึ้นมาใหม่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยนั้น ที่มอบหมายให้ ก.พ.ร.ไปจัดทำแผนงานใหม่ทั้งหมด
รัฐบาลพรรคพลังประชาชน จึงมีแนวคิดตั้งงบประมาณที่จังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด ให้ก.พ.ร. กำหนดแผนวิเคราะห์ วิธีการตั้งงบประมาณให้เป็นระบบและเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณ ทางก.พ.ร.และกระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้ง “สำนักบริหารยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 10 กลุ่ม”กระจายทั่วประเทศ
ส่วนงบประมาณที่สนับสนุนจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในรัฐบาลชุดนั้นไม่มีการกล่าวถึงเพราะรัฐบาลอายุสั้น แต่มีการคาดว่างบประมาณใหม่ที่ให้กับผู้ว่าฯ ซีอีโอทั้งกลุ่มจังหวัด และจังหวัด จะได้ถึง 50,000 ล้านบาท จากที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ให้งบประมาณเพียงจังหวัดละ 10 ล้านบาทเท่านั้น
ที่ว่า“ไม่มีผล เพราะรัฐบาลมีอายุสั้น" เมื่อการเมืองเปลี่ยน ทั้งคำ ความหมาย และบทบาทของ "ผู้ว่าฯซีอีโอ" ก็จางหายไปตามขั้วอำนาจที่เปลี่ยนมือ ช่วงปี 2553 ยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ “นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี”ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) สมัยนั้น มีการการจัดตั้งคณะกรรมการ ก.น.จ.ขึ้นมา ส่งผลให้ “ผู้ว่าฯซีอีโอ”ตามกรอบนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่ได้อยู่ในกรอบการทำงานของคณะกรรมการ ก.น.จ. ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการ “ยกเลิกระบบผู้ว่าซีอีโอ”อย่างเป็นทางการ ขณะที่ งบประมาณที่จัดสรรให้จังหวัด ได้มีการกลั่นกรองมากขึ้น ก.น.จ. ถูกตั้งมาเพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด และการจัดทำคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและ กลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551
"จุดที่น่าสนใจของคณะกรรมการ ก.น.จ.ชุดนี้ จะอยู่ที่การลดบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งกรรมการ ก.น.จ. เนื่องจากจะให้ อบจ.-อบต. เข้ามามีบทบาทมากในการขอประมาณจังหวัดแทนที่จะเป็น ผู้ว่าฯซีอีโอ ตัดสินใจ หรือได้เงินประมาณโดยตรงจากรัฐบาล โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานในจังหวัดตามแนวคิดเดิมจากรัฐบาลไทยรักไทย"
แม้จะมีนโยบายนี้ แต่ในอดีต จากหลายเหตุผลที่มักเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อย จนไม่เกิดความต่อเนื่อง เรื่องผู้ว่าฯซีอีโอ จนมาถึงยุคปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว และจีน ต่างก็มีผู้ว่าฯซีอีโอ เพื่อวางนโยบายแต่ละจังหวัดและมณฑล โดยประเทศจีนมีผู้ว่าการมณฑล ขณะที่ประเทศลาวมีเจ้าแขวง ส่วนเวียดนาม ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการตัดสินใจเรื่องการลงทุน
ย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. พูดหลายเวทีว่า “รัฐบาลทำธุรกิจไม่ได้ ขณะที่เอกชนก็บริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ เพราะความรู้ความชำนาญไม่เหมือนกัน”
ที่ผ่านมา หอการค้าไทย มีโครงการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ มาเข้าอบรมหลักสูตรการบริหารงานเหมือนภาคเอกชนระยะสั้น รวมถึงมอบรางวัล “สำเภาทอง”ประจำปีให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าฯ ได้เห็นภาพอีกมิติ และนำนโยบายรัฐต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ให้ตรงจุดมากขึ้น เช่น แนวคิดการใช้เงินในโครงการกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาทในหลายๆรอบด้าน เป็นต้น
ประกอบกับ กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ กับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันหาแนวทางในอันที่จะนำการลงทุนมาสู่ระดับภูมิภาค สนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้เกื้อหนุนภาคสังคม ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์โอทอป เพื่อใช้ประสบการณ์ในการบริหาร แปลงวิชาการสู่การปฏิบัติ
ส่วนแนวคิด “ผู้ว่าฯซีอีโอ ในยุคที่ 3 ”จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ผลักดันให้เกิดเป็นจริงเป็นจังได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอดู .