ASTVผู้จัดการ - คสช. ปัดฝุ่น “แลนด์มาร์กกรุงเทพฯ” ไฟเขียวโครงการก่อสร้างลานเฉลิมพระเกียรติฯ วงเงินเดิม 566 ล้านบาท หัวมุม ถ.ราชดำเนิน บริเวณกองสลากฯ เก่า จับตาเดินหน้าอีก 9 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.69 พันล้านบาท
วานนี้ (13 ส.ค. 57) ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุม คสช. เพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 10/2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธานในที่ประชุม โดยสรุปว่า คสช. ได้เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการจัดลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโครงการตามแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ ถ.ราชดำเนิน และบริเวณต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นลานกิจกรรม พื้นที่จัดนิทรรศการ ห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อนุญาตให้ใช้ที่ดินบริเวณสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม บริเวณ ถ.ราชดำเนิน เนื้อที่ 5 ไร่เป็นที่ก่อสร้าง โดย คสช. ได้เห็นชอบในหลักการและให้เริ่มดำเนินการในระยะแรกในการปรับพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ จากนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในระยะต่อไป
ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ ย้อนหลังกลับ ไปตรวจสอบข้อมูลพบว่า รายละเอียดของโครงการดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็น “โครงการตามแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ ถ.ราชดำเนิน และบริเวณต่อเนื่อง” ดูแลโดย คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน (กบพร.) ตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน หวังให้เป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ของกรุงเทพฯ ในฐานะแหล่งเสริมสร้างปัญญาและองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนของชาติ เป็นโครงการออกแบบก่อสร้างลานเฉลิมพระเกียรติฯ ในวงเงินเดิมของปีงบประมาณ 2553 วงเงิน 566 ล้านบาท มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นเลขาฯ มีการเปลี่ยนชื่อโครงการหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายใช้ชื่อว่า “โครงการศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะแนวทางการรักษา ฟื้นฟูและพัฒนา ย่านประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ถนนราชดำเนิน” (โครงการราชดำเนิน ชองป์เซลิเซ่)
ต่อมาในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554 มีการตัดสินการประกวดแบบลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พิจารณาผลการตัดสินประกวดแบบขั้นตอนที่ 2 ผลการตัดสิน โดยรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1,200,000 บาท ได้แก่ นายพัชระ วงศ์บุญสิน และ บริษัท ภูมิสถาปนิกกรุงเทพ จำกัด
ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการก่อสร้างและบริหารโครงการลานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งกำลังดำเนินการออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างลานเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่ดังกล่าว โดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานครเป็นผู้ของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการ
สำหรับลักษณะของแบบที่ชนะการประกวด แนวความคิดหลักจะสื่อถึงการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแสดงถึงความงาม ความมีเอกลักษณ์ และความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมผ่านแนวคิด “ลานธรรมชาติ...ที่ธรรมดา” โดยออกแบบให้สถาปัตยกรรมหลอมรวมกับภูมิสถาปัตยกรรมแบบประเพณีนิยมของวัด โดยใช้ลักษณะทรงหลังคาแบบหน้าจั่วแต่ลดทอนรายละเอียดลงให้เข้ากับยุคสมัย การออกแบบอาคารและพื้นที่เปิดโล่ง ลานกิจกรรม
สำหรับอาคารตั้งอยู่บริเวณสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มี 6 ชั้น เป็นอาคารเหนือดิน 2 ชั้น และอาคารใต้ดิน 4 ชั้น เชื่อมต่อโดยตรงกับทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้มในอนาคต เป็นอาคารทรงสามเหลี่ยมแยกกัน 3 อาคาร และมีลานกิจกรรมขนาดใหญ่บริเวณหัวถนนราชดำเนินกลาง รวมถึงมีทางเดินเท้าจากระดับถนนลงไปใต้ดินทุกชั้น พื้นที่ใช้สอยในอาคารประมาณ 18,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยหลัก 9 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่สวนและลานกิจกรรมภายนอก ส่วนนิทรรศการ ห้องสมุด พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่บริหารจัดการและจัดการโครงการ พื้นที่โถงกลางและบริการ พื้นที่จัดเตรียมและเก็บของ ห้องเครื่องและงานระบบ และพื้นที่ลานจอดรถ
ทั้งนี้ ลานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสนองพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และแสดงความจงรักภักดีของประชาชนทั้งประเทศ เป็นจุดหมายแรกในการท่องเที่ยวกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุดตั้งต้นก่อนจะไปสถานที่ต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อผ่าน คสช. แล้วเชื่อว่า กรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินการจัดสร้างในปลายปี 2557 นี้ ตามงบประมาณที่สภาพัฒน์ ได้รับจัดสรร
หากย้อนกลับไปอีกประมาณปี 2548-2553 จะพบว่า นอกจากโครงการจัดลานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว ยังคงมีโครงการต่อเนื่อง อย่างปี 2548 มีความพยายามโยงไปให้กระทรวงวัฒนธรรมดูแล รวมถึงจัดตั้งองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชการดำเนิน (องค์การมหาชน) แต่ถูกชะลอไว้ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 โดยมีการเจรจาให้ปรับลดงบประมาณโครงการออกแบบก่อสร้าง ที่ตั้งไว้ เนื่องจากเป็นวงเงินที่สูงเกินไป โครงการเปลี่ยนมือจากนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาอยู่ในกำกับของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น แต่ถูกระงับยาวมาจนถึง คสช. นำโครงการแรกมาปัดฝุ่น
โดยแผนการพัฒนาถนนราชดำเนินระยะแรกปี 2551-2555 มี 9 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.69 พันล้านบาท ได้แก่
1. โครงการออกแบบก่อสร้างลานเฉลิมพระเกียรติฯ วงเงิน 566 ล้านบาท
2. การพัฒนาพื้นที่บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ดำเนินการโดย กทม. วงเงิน 6.5 ล้านบาท
3. โครงการอุโมงค์ทางเดินลอดถนนราชดำเนินบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดย กทม. วงเงิน 107 ล้านบาท
4. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมถนนราชดำเนินกลางและบริเวณโดยรอบ โดย กทม. วงเงิน 387 ล้านบาท
5. โครงการปรับปรุงอาคารริมถนนราชดำเนินกลาง โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกรุงเทพฯ วงเงิน 431 ล้านบาท
6. โครงการปรับปรุงอาคารโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ กทม. วงเงิน 48.5 ล้านบาท
7. โครงการอุโมงค์ทางลอดใต้ดินบริเวณลานเฉลิมพระเกียรติฯ-สนามหลวง โดย กทม. วงเงิน 28 ล้านบาท
8. โครงการพัฒนาพื้นที่ถนนข้าวสาร โดย กทม. วงเงิน 81 ล้านบาท
9. โครงการพัฒนาพื้นที่หลังอาคารราชดำเนิน โดย สำนักงานทรัพย์สินฯ วงเงิน 62.4 ล้านบาท
ขณะที่ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างตามแผน ได้จัดทำแผนการดำเนินการ 10 แผน 43 โครงการ โดยรับผิดชอบปรับปรุงถนนราชดำเนิน การจัดการจราจร การจัดบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยหารือร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการตั้งงบลงทุน ไว้ประมาณ 14,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงอาคารริมถนนราชดำเนินกลางทั้งสองฝั่ง โครงการก่อสร้างทางเดินเท้าลอดใต้ถนนราชดำเนินกลาง เตรียมการต่อเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดินในอนาคต มีที่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพลับพลา แยกรัตนโกสินทร์ และโครงการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ในแนวคลองหลอดเหนือและใต้
แผนงานทั้ง 10 แผนนั้นจะใช้เวลา 1-10 ปี ประกอบด้วย แผนงานการปรับปรุงพื้นที่ถนนราชดำเนินและบริเวณต่อเนื่อง ระยะเวลา 1-10 ปี งบประมาณ 10,171.3 ล้านบาท เช่น ปรับปรุงพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางที่เป็นระยะเร่งด่วน วงเงิน 6,518 ล้านบาท ปรับปรุงถนนราชดำเนินในและถนนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว 114 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ถนนราชดำเนินนอก 142 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวรอบพระบรมมหาราชวัง และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 167 ล้านบาท ศูนย์กลางการเดินทางและท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ 2,610 ล้านบาท ปรับปรุงภูมิทัศน์และส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวบริเวณวัดสระเกศ 587.5 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่พระบรมรูปทรงม้า 32.8 ล้านบาท
ล่าสุด สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ต้องการปรับปรุงถนนราชดำเนินให้เป็นถนนแห่งการเรียนรู้ ถนนประวัติศาสตร์ ถนนท่องเที่ยว โดยต้องย้ายหน่วยงานราชการและกระทรวงต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ “กระทรวงคมนาคม”
สำหรับมติของ คสช. วานนี้ ถือว่า คสช. ได้เริ่มเข้ามาสานต่อ “โครงการสร้างแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ” ซึ่งมีการวางแผนกันต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล ทว่า กลับยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมเสียที!