ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โดนเข้าจนได้และโดนหนักเสียด้วย เมื่อ “ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย (ฟ็อกซ์)” ยื่นเรื่องต่อศาล ที่ฮ่องกงและไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตีสำหรับค่าลิขสิทธิ์การออกอากาศรายการของฟ็อกซ์ แทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (GRAMMY) และบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) (CTH) สองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจทีวี
“ฟ็อกซ์ มีความผูกพันอย่างยาวนานต่ออุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอรายการบันเทิง และรายการกีฬาระดับคุณภาพแก่ผู้ชมชาวไทย เรื่องนี้ทำให้เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทยผิดสัญญาในการจ่ายแบงก์การันตี ซึ่งการผิดสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง”
นายซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป ประจำภูมิภาพเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง กล่าวหลังยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
กรณีดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเดียวกับบริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล ที่ได้หยุดดำเนินกิจการทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวี และช่องโลก้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพต้องเจอคดีความฟ้องร้องจากสาเหตุในเรื่อง “แบงก์การันตี” เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ฟ็อกซ์ได้ทำสัญญาให้สิทธิ์ในการออกอากาศรายการต่างๆ แก่แกรมมี่ และซีทีเอช ตั้งแต่ปี 2556 โดยทั้งสองบริษัทได้ค้างชำระค่าสิทธิ์การออกอากาศดังกล่าวเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท และต้องชำระดอกเบี้ยกรณีจ่ายล่าช้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีเพื่อค้ำประกันการชำระเงิน ให้กับแกรมมี่ และซีทีเอช และตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกรุงเทพ ไม่ได้ทำตามสัญญาเพื่อจ่ายแบงก์การันตีแทน 2 บริษัทดังกล่าวเลย
เป็นแกรมมี่ที่มี “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นซีทีเอชที่มี “เสี่ยวิชัย ทองแตง” เป็นเจ้าของและได้ประกาศปิดให้บริการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาด้วยความเจ็บช้ำระกำใจเนื่องด้วยเป็นการผิดพลาดในการทำธุรกิจครั้งสำคัญ
เป็นแกรมมี่และซีทีเอชซึ่งครั้งหนึ่งเคยผนึกกำลังกันในการทำธุรกิจ “เพย์ทีวี”
อย่างไรก็ดี นายคณิต สีห์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันซีทีเอช ให้ ไว้กับฟ็อกซ์จริง โดยมีเงื่อนไขว่าหากซีทีเอชผิดสัญญาที่ซีทีเอชทำไว้กับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพจึงจะจ่ายเงินให้ฟ็อกซ์ ซึ่งสัญญาที่ซีทีเอชทำกับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพมิได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพจึงไม่ใช่คู่สัญญากับ ฟ็อกซ์โดยตรง ฟ็อกซ์เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ ธนาคารกรุงเทพทำให้ไว้ ทั้งนี้ ซีทีเอชได้ยืนยันกับธนาคารกรุงเทพว่า ฟ็อกซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้ ฟ็อกซ์ได้ยื่นฟ้องซีทีเอช และธนาคารกรุงเทพต่อศาลชั้นต้นที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพจึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลและเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง
ส่วนกรณีที่ฟ็อกซ์ฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘จีเอ็มเอ็ม’ และธนาคารกรุงเทพในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าต่างประเทศกลาง ข้อเท็จจริงก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของซีทีเอช
กล่าวสำหรับซีทีเอชนั้น กระโจนเข้าสู่ธุรกิจเพย์ทีวีด้วยการทุ่มเงินมหาศาลซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล “พรีเมียร์ลีก” อังกฤษ 3 ฤดูกาล (2013-2016) ถึง 12,000 ล้านบาท พร้อมผนึกกำลังกับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง “ไทยรัฐ” ท่ามกลางความไม่พร้อมของโครงข่าย แต่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะใช้พรีเมียร์ลีกอังกฤษดึงฐานสมาชิก
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ไม่มี “คอนเทนต์” อยู่ในมือ ทำให้ซีทีเอชต้องไปพึ่งบริการจาก “ฟ็อกซ์” ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างๆ มาออกอากาศทางช่องของตนเอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557 ซีทีเอชกับแกรมมี่ก็มาผนึกกำลังกัน โดยนายวิชัยในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) และนายไพบูลย์ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด ร่วมลงนามในสัญญาข้อตกลงรวมบริษัท ซีทีเอช แอลซีโอ จำกัด กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยซีทีเอช แอลซีโอ จะเข้ามาถือหุ้นใน จีเอ็มเอ็ม บี 100% ขณะที่บริษัท แซท เทรดดิ้ง ในเครือแกรมมี่ จะเข้ามาถือหุ้นใน ซีทีเอช 10% ส่งผลให้ซีทีเอชจะกลายมาเป็นบริษัทแม่ ในการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวีของทั้งซีทีเอช แอลซีโอ และจีเอ็มเอ็ม บี
การลงนามสัญญาข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้ซีทีเอชเข้ามาดูแลด้านการตลาดในธุรกิจเพย์ทีวีของจีเอ็มเอ็ม แซท ทั้งหมด
เป็นการผนึกกำลังหลังจากที่ทั้งสองค่ายต้องเจ็บหนักจากการทำการตลาดที่ไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะซีทีเอช” ยิ่งสาหัสหนัก เพราะช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี ประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ 3 ฤดูกาลล่าสุด ปี 2013-2016 สูงถึง 10,000 ล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้ในปีแรกเข้ามาเพียง 730.70 ล้านบาท แถมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 4,420.07 ล้านบาท เจอปัญหายอดสมาชิกต่ำกว่าเป้าหมาย การติดตั้งล่าช้า บุคลากรไม่เพียงพอ เบ็ดเสร็จแบกหนี้มากกว่า 12,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ทั้งสองค่ายก็มีปัญหาต่อกัน เมื่อต่อมาบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน)ได้มายื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางเพิกถอนคำสั่งที่ศาลอนุญาตให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด(ซึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขายหุ้นทั้งหมดของจีเอ็มเอ็ม บี ให้กับกลุ่มบริษัท ซีทีเอช จำกัด ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2557)นำเงินที่ได้จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด หรือกลุ่มบีอีซี ซึ่งเป็นผู้นำสัญญาณภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 (UEFA EURO 2016)ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559 จำนวน 7,000,000 เหรียญสหรัฐ ไปชำระให้แก่นายวิชัย ทองแตง โดยตรงในจำนวน 5,631,578.95 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากหากนำเงินในส่วนดังกล่าวไปชำระให้แก่นายวิชัย จะส่งผลให้จีเอ็มเอ็ม บี มีเงินอยู่เหลือเพียงจำนวน 1,368,421.05 เหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการชำระค่าลิขสิทธิ์งวดสุดท้ายจำนวน 6,000,000 เหรียญสหรัฐ ให้แก่ UEFA ได้ทันตามกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2559 และอาจกระทบต่อการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด UEFA EURO 2016 Qualifier และการแข่งขัน FIFA World Cup Qualifier 2018
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ จีเอ็มเอ็ม บี มีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอที่จะไปชำระให้ UEFA ตามสัญญา UEFA EURO 2016 ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 จีเอ็มเอ็ม บี จึงมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากนายวิชัย ทองแตง เป็นเงินจำนวน 5,631,578.95 เหรียญสหรัฐ โดยนายเมธินทร์ สมนึก กรรมการของ จีเอ็มเอ็ม บี และนายวิชัยได้เข้าเบิกความต่อศาลว่า จีเอ็มเอ็ม บี มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน เพราะหากจีเอ็มเอ็ม บี ได้สิทธิถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล UEFA EURO 2016 ในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2559 แล้ว จีเอ็มเอ็ม บี จะได้รับค่าตอบแทนกลุ่มบีอีซี จำนวน 7,000,000 เหรียญสหรัฐ
ทว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาซีทีเอชต้องเผชิญกับสารพัดมรสุม ทั้งการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ฐานสมาชิกที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กระทั่งต่อมาได้ยกเลิกความร่วมมือกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศที่นำแพลตฟอร์มซีทีเอชไปออกอากาศ ขณะเดียวกันได้ยกเลิกส่งสัญญาณระบบเติมเงินผ่านกล่องพีเอสไอและซันบ็อกซ์ของอาร์เอส รวมทั้งยกเลิกบริการซีทีเอช เอนิแวร์ แอปพลิเคชั่นรับชมช่องทีวีผ่านดีไวซ์ต่าง ๆ ด้วย
ขณะที่แกรมมี่เองก็เซซวนในธุรกิจนี้ไม่น้อยกับ “ช่องวัน” ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีผ่านดาวเทียมที่แกรมมี่ประมูลคลื่นมาได้จาก กสทช. โดยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) มีมติรับทราบกรณีวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้ประกอบการ“ช่อง ONE” มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดย GRAMMY จะเป็นผู้ถือหุ้นใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ 25.50% ของทุนจดทะเบียน ส่วนกลุ่มนายถกลเกียรติ จะเป็นผู้ถือหุ้น 24.50% ขณะที่บริษัทประนันท์ภรณ์ ซึ่งมี นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 99.98% จะเป็นผู้ถือหุ้น 50% ของทุนจดทะเบียน
สำหรับคดีความที่เกิดขึ้น บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ชี้แจงว่า FOX เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา และ FOX ได้รับแจ้งจาก “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” แล้วว่า “จีเอ็มเอ็ม บี” ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เพื่อขอยกเลิกสัญญาอนุญาตช่วงสิทธิ เป็นเหตุให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับโจทก์ โดยให้มีผลในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 แล้ว
อย่างไรก็ดี แม้วันนี้ ซีทีเอชจะปิดตัวไปแล้ว และแกรมมี่ก็กำลังเผชิญซวนเซในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่มหากาพย์แห่งคดีนี้จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะคดีความที่เกิดขึ้น ทางธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในฐานะแบงก์การันตีก็คงจะต้องมาไล่เบี้ยคดีความคืนจากทั้ง 2 บริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้