xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ต่ออายุ 10 ปี “แหล่งมะลิวัลย์-เชฟรอน” ผลประโยชน์น้อยกว่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้อะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเกี่ยวกับพลังงาน 2 วาระสำคัญ เรื่องแรก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) แปลงสำรวจในอ่าวไทย บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี หมายเลข B8/32 ออกไปอีก 10 ปี ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นับตั้งแต่ 1 ส.ค. 2563 - 31 ก.ค. 2573 จากอายุสัมปทานเดิมจะครบกำหนด 20 ปี ในปี 2563 ซึ่งการต่ออายุจะเป็นการต่อ 1 ครั้ง 10 ปี ตามข้อผูกพันเดิม

ทั้งนี้ การต่ออายุสัมปทานไทยจะได้สัดส่วนผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 71% เชฟรอน 29% จากเดิมที่ไทยได้ 63% ต่อ 37% โดยรายได้ที่บริษัท เชฟรอน จะได้หากมีการต่ออายุออกไป 10 ปี คำนวณจากปริมาณก๊าซและปิโตรเลียมที่จะขุดเจอได้เป็นมูลค่าประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี
 
“จากผลประโยชน์ที่เชฟรอนจะได้ มีคำถามว่าถ้าได้แค่ 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำเพื่ออะไร ก็ต้องบอกว่าขณะนี้เรื่องการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วโลกทำได้ยากจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน การที่จะต่ออายุสัมปทานแม้จะมีกำไรน้อยบริษัทก็ต้องดำเนินการ ขณะเดียวกัน ไทยจะได้การจัดสรรรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เชฟรอนได้ขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมรวมแล้วประมาณ 64 ล้านบาร์เรล หากมีการต่ออายุอีก 10 ปี บริษัทจะขุดเจาะได้อีก 80 ล้านบาร์เรล รวมแล้วเมื่อขุดเจาะถึงปี 2573 จะได้ปิโตรเลียมปริมาณ 148 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัท เชฟรอน ได้ตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ3 เรื่อง คือ

1. โบนัสการลงนาม บริษัทตกลงจ่ายเงินจำนวน 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่กระทรวงพลังงานเพื่อใช้ส่งเสริมและพัฒนาด้านการพลังงาน

2. ค่าตอบแทนการผลิตตลอดระยะเวลาการผลิตเป็นรายได้แผ่นดินจากปริมาณการขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียมสะสมที่ผลิตได้ในช่วงเวลาสัมปทานโดยจะจ่าย 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในวันที่ 1 ส.ค. 2563 และจะจ่ายอีก 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 30 วัน สำหรับทุกๆ ปริมาณการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมสะสมเทียบเท่าน้ำมันดิบถึง 10 ล้านบาร์เรล ที่เกินจากปริมาณการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมสะสมเท่าน้ำมันดิบ 40 ล้านบาร์เรล

3. ทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น บริษัทตกลงจะจ่ายเงินปีละ 1 แสนเหรียญสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2561 - 2570 เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
 
สำหรับผู้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม ยอมรับว่า แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหลือ 10 ปี ผลิตน้ำมันขึ้นมาได้ 26,000 บาร์เรลล์ต่อวัน และผลิตก๊าซธรรมชาติจำนวน 180 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่ปัจจุบันทั้งประเทศมีความต้องการใช้น้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยมาก อีกทั้งผลประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว อายุสัมปทานเดิม ภาครัฐได้ประโยชน์ 63% เชฟรอนได้รับ 37% เมื่อต่ออายุสัมปทาน 10 ภาครัฐได้รับประโยชน์ 71% เชฟรอนได้รับประโยชน์ 29% หรือประมาณ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลยื่นข้อเสนอรับผลประโยชน์ หรือเป็นโบนัสพิเศษเพิ่มเติม 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจ้องชำระภายใน 30 นับจากวันลงนาม, โบนัสจากการผลิตปิโตรเลียม 1% ของมูลค่าปิโตรเลียม โดยไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโบนัสสำหรับช่วยเหลือทางสังคม 0.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี เริ่มจ่ายในปี 2561

สำหรับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข B8/32 มีชื่อโครงการว่า “โครงการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ผลิตมะลิวัลย์ ระยะที่ 2 “ซึ่ง คชก. เห็นชอบเมื่อ พ.ย. 2551 เป็นประเภทโครงการ สำรวจผลิตปิโตรเลียม มีบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนต์ จำกัด เป็น นิติบุคคลผู้ทำรายงาน บริษัท เชฟรอนออฟซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็น เจ้าของโครงการ

ทั้งนี้ มีชื่อ “บริษัท เชฟรอน บล็อก บี8 32 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้บริหารโครงการ จดทะเบียนดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1995 ทุนจดทะเบียน 150,000,000 บาท

ปัจจุบันบริษัท เชฟรอน ดำเนินธุรกิจในไทย มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม 35 แหล่ง ได้แก่ เอราวัณ, บรรพต, บรรพตใต้, สตูล, ปลาทอง, ปลาทองตะวันตกเฉียงใต้, ปลาทองใต้, กะพง, ปลาแดง, ฟูนาน, โกมินทร์, โกมินทร์ใต้, จามจุรีเหนือ, จักรวาล, สุราษฎร์, ปลาหมึก, ตราด, ตราดใต้, สุรินทร์, ยะลา, ไพลิน, ไพลินเหนือ, ทานตะวัน, เบญจมาศ, เบญจมาศเหนือ, มะลิวัลย์, ราชพฤกษ์, ลันตา, ชบา, ดารา, กุ้งเหนือ, ยูงทอง, ปะการัง, ปะการังใต้ และ มรกต นอกจากนี้ ยังถือหุ้นในแปลงอาทิตย์ 16% แปลงหมายเลข 14A, 15A, 16A รวมกำลังการผลิตปัจจุบัน แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 1.84 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 6.2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 7.2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ เชฟรอน ยังมีแท่นโครงสร้าง 308 แท่น แบ่งเป็น แท่นหลุมผลิต 275 แท่น, แท่นผลิตคู่ 4 แท่น, แท่นผลิตกลางก๊าซ 6 แท่น, แท่นผลิตกลางน้ำมัน 3 แท่น, แท่นที่อยู่อาศัย 8 แท่น, แท่นเผาก๊าซ 9 แท่น, แท่นกำจัดสารปรอท 1 แท่น, แท่นผลิตกลางก๊าซและแท่นที่อยู่อาศัย 1 แท่น และแท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ 1 แท่น

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งได้รับนโยบายมาจากบริษัทแม่ ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยการปลดพนักงาน 20% หรือประมาณ 800 คน ออกจากงานจากพนักงานที่มีอยู่มี 2.2 พันคน และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาคนไทยที่มีอยู่ประมาณ 1.7 พันคน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา

รวมถึงกำลังทยอยลดการลงทุนในประเทศแถบภูมิภาคนี้ลง ซึ่งจะเห็นได้จากการประกาศขายหุ้นในแหล่งอาทิตย์ให้กับพันธมิตรทางพลังงานรายหนึ่งหากจะจำกันได้ เมื่อปี 2549 สตง. เคยทำหนังสือด่วนมาก ถึง รมว.พลังงาน ในขณะนั้น เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง กรณีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของสัญญาสัมปทานล่วงหน้า ก่อนหมดอายุสัญญาถึง 5 ปี

สำหรับสัญญาการต่ออายุ - ของปี 2549 กระทรวงพลังงาน ได้ออกให้กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2550 โดยผู้สัมปทานจ่ายโบนัสการลงนาม 11,654,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกระทรวงพลังงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันลงนามเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต 349,608,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่กระทรวงพลังงานเพื่อนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยแบ่งชำระเป็นรายรอบ ระยะเวลาสามเดือนปฏิทิน คราวละเท่าๆ กัน 40 งวด โดยงวดแรกชำระในวันที่ 1 ก.ค. 2555 และงวดสุดท้ายวันที่ 1 เม.ย. 2565
 
ขณะที่โครงการนี้เคยเป็น 1 ใน สัมปทาน 26 โครงการขุดเจาะสำรวจผลิตปิโตรเลียมของ 4 บริษัท เมื่อปี 2553 เคยถูกยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์ส่งเสริมท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะพะงัน สมาคมสปาเกาะสมุย และ มูลนิธิเกาะสีเขียว พร้อมด้วย ชาวบ้านรวม 309 คน ได้ยื่นฟ้องกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รมว.กระทรวงพลังงาน คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการขุดเจาะสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียม ในพื้นที่อ่าวไทยรวม 26 โครงการ ของ 4 บริษัท รวมทั้งให้สั่งเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา และขอให้ศาลสั่งให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้พื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 120 ไมล์ทะเล เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 43 และ 44

อนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ที่ได้สัมปทานปิโตรเลียม ที่ดำเนินการขุดเจาะสำรวจและผลิตของไทย มีจำนวน 27 ราย เช่น บริษัท เชฟรอน, ปตท.สผ., บริษัท อพิโก แอลแอลซี, บริษัท เอ็กซอนโมบิล, บริษัท มิตซุยออยล์, บริษัท พลังโสภณ, บริษัท โททาล อี แอนด์ พีไทยแลนด์ และ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นต้น

ส่วนมติ ครม. อีกเรื่องเป็นการเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. รายได้ปิโตรเลียม กำหนดให้ผู้รับสัมปทาน จ่ายธรรมเนียมรายปีรองรับการรื้อถอนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร จนกว่าครบกำหนดสัญญาสัมปทาน เพราะหากภาคเอกชนผู้รับสัมปทานไม่ยอมรื้อถอน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี เมื่อครบสัญญาสัมปทาน สามารถเบิกเงินดังกล่าวไปใช้รื้อถอนได้ และนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงการลงทุนด้านปิโตรเลียม

โดยร่างฉบับนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกาศใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น