xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดอก “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ซีอีโอ ปตท. “แยกธุรกิจน้ำมันสร้างความเท่าเทียม กระจายหุ้น PTTOR ให้คนไทยทั่วถึง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตามที่คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)เห็นชอบการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจใหม่โดยให้แยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมาอยู่ภายใต้ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRB) และจะทำการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) ก่อนที่จะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการน้ำมันและค้าปลีกครั้งใหญ่ในไทย ถือเป็นการปรับกระบวนทัพของ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายจับตามอง

“ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(PTT) เพื่อรับทราบแนวคิดและนโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ทิศทางการเติบโตของ ปตท.ในอนาคต รวมทั้งผู้บริโภคและประเทศชาติจะได้อะไรจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้

ที่มาการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันปตท.
ธุรกิจค้าปลีกและขายน้ำมันของปตท. เริ่มมาจากภารกิจเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในยุคนั้นมีแต่บริษัทน้ำมันต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจขายน้ำมัน ส่วนบริษัทไทยก็มีเพียงบริษัท สามทหาร แต่พอ เจอ วิกฤตน้ำมันขาดแคลน วันนั้นไม่มีบริษัทน้ำมันไทยที่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดหาน้ำมันจากต่างประเทศหรือเปิดให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนมาก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือปตท.ในปัจจุบัน เพื่อดำเนินภารกิจการขายน้ำมันให้เกิดการ แข่งขันอย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดหาน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการ

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี วันนี้ภารกิจปตท.ถือว่าทำได้สมบูรณ์ มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกไม่ถึง 20%และมีผู้ค้าน้ำมันไม่เกิน 5 ราย แต่ปัจจุบันมีผู้ค้าน้ำมันมากกว่า 20 รายและมีส่วนแบ่งการตลาดที่เป็นบริษัทน้ำมันไทยมากกว่า 70% ดังนั้นถือว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน มีการแข่งขันเต็มที่และมีผู้ประกอบการไทยมากเพียงพอที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ทำไมปตท.ต้องแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมา
ปตท.ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยธุรกิจที่มีการแข่งขันไปอยู่กับบริษัทลูกหมดแล้ว อาทิ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก็อยู่กับ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ. ) ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี ก็อยู่กับบมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ส่วนธุรกิจไฟฟ้าก็มี บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คงเหลือแต่ธุรกิจน้ำมันที่มีการแข่งขันสูงแต่ยังอยู่ในป ตท. ไมได้แยกธุรกิจออกไป

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนในบทบาท ปตท.ในฐานะดูแลด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้ถูกมองว่าธุรกิจน้ำมันป ตท.อาศัยความได้เปรียบของการเป็นรัฐวิสาหกิจในการทำธุรกิจ ซึ่งแนวคิดที่จะแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมาเป็นบริษัทเอกชนคิดมาตลอด 2 ปี โดยพิจารณาว่าธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกที่ต้องแข่งขันกับภาคเอกชน ก็ควรอยู่ภายใต้การแข่งขัน ที่เสมอภาคกัน ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งการแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมาเป็น บริษัท PTTOR เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและโปร่งใส ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านพลังงาน การจัดหาเชื้อเพลิงให้หน่วยงานรัฐให้เพียงพอและแข่งขันไม่มากก็ให้อยู่กับปตท. ต่อไป

หลังจากบอร์ดบริษัทอนุมัติโครงสร้างธุรกิจใหม่ ขั้นตอนต่อไป
ปตท.จะต้องเสนอเรื่องให้กับกระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นชอบและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อฝั่งรัฐบาลเห็นชอบแล้วก็จะทำรายละเอียดต่างๆให้มีความชัดเจนขึ้นก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นปตท. เพื่ออนุมัติต่อไป เมื่อที่ประชุมฯเห็นชอบก็จะดำเนินการแยกกิจการออกมาเป็นบริษัทที่ปตท.ยังถืออยู่ 100% หลังจากนั้นจะนำบริษัท PTTOR ยื่นไฟลิ่งเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะต้องมีผลการดำเนินงานระยะหนึ่งจึงจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป(IPO) ส่วนจะใช้เวลาสักเท่าใด ขอยังไม่บอกในช่วงนี้

ปตท.จะถือหุ้นในบริษัท PTTOR เท่าไร
เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานและไม่ต้องการใช้บริษัท PTTORอยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจ เพื่อจะไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่เอื้อให้แข่งขันกับภาคเอกชนได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อกำกับ ตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ การใช้จ่ายเงินต้องรัดกุม แต่จากสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการบริหารงานในรูปแบบเอกชนจะคล่องตัวกล่าวขึ้น ดังนั้น ปตท. จะถือหุ้นในบริษัท PTTOR ประมาณ 45-49% สำหรับสัดส่วนหุ้นที่เหลือจะมีการดึงพันธมิตรมาถือหุ้นหรือไม่ ยังไม่ได้มีการพูดคุย

แต่จากการหารือร่วมกัน มีความเห็นพ้องกันว่าในการกระจายหุ้น PTTOR นั้นจะไม่ให้เกิดความไม่สบายใจเหมือนกับการกระจายหุ้นปตท.ที่หุ้นกระจายไปไม่ทั่วถึง ดังนั้น การขายหุ้นครั้งนี้จะเน้นกระจายหุ้นให้ทั่วถึงโดยเฉพาะคนไทย แต่จะได้คนละกี่หุ้นยังไม่ได้กำหนด แต่จะยึดหลักความเป็นธรรม เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้กำหนดว่าจะถือหุ้นเกินเท่าไรไม่ได้สำหรับคนไทย ดังนั้น ปตท.จะกำหนดตอนจัดสรรหุ้น IPO ให้รายย่อยและสถาบันไทยได้รับการจัดสรรไม่เกินเท่าใดแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าใครได้หุ้นมากจนเกินไป ส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติจะมีการกำหนดสัดส่วนแต่ละรายจะถือหุ้นไม่เกินเท่าไร รวมแล้วต่างชาติถือหุ้นเท่าใดซึ่งเป็นหลักการที่บริษัทในตลาดหุ้นก็ทำกันอยู่แล้ว

การโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทใหม่
สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ประกอบในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกจะโอนมายังบริษัทใหม่ เว้นแต่ทรัพย์สินที่ต้องเก็บไว้ในฐานะภารกิจเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งปตท.ก็ยังเป็นห่วงเรื่องทรัพย์สินที่โอนมาตั้งแต่ช่วงแปรรูปตท. ดังนั้นจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะมีทรัพย์สินใดบ้างที่จะโอน/ไม่โอน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ปตท.คาดว่าทรัพย์สินที่จะโอนให้กับบริษัท PTTOR จะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี ซึ่งส่วนต่างตรงนี้จะต้องเสียภาษี ทำให้รัฐมีรายได้จากการปรับโครงสร้างครั้งนี้นี้ส่วนหนึ่ง



อยากให้ยืนยันว่าเมื่อแยกธุรกิจน้ำมันแล้ว ผู้บริโภคได้รับผลกระทบหรือไม่
ที่ผ่านมา นโยบายการดำเนินธุรกิจของปตท.ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่เป็นสินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภค ก็ไม่ได้มุ่งหวังทำกำไรมากมาย ขอแค่พออยู่รอดได้ และคู่แข่งก็ต้องอยู่ได้เช่นเดียวกัน หากนโยบายปตท.ทำให้ผู้ค้าน้ำมันรายอื่นต้องอยู่ไม่ได้ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศเท่ากับเป็นการผูกขาด อีกทั้งภาครัฐเองก็มีการกำกับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงกล่าวได้ว่าค่าการตลาดน้ำมันของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้

วันนี้ธุรกิจน้ำมันสามารถสร้างกำไรได้ไม่มาก เพราะค่าการตลาดต่ำประมาณ 1.50 บาท/ลิตร ทำให้ไม่เห็นสถานีบริการน้ำมันที่ขายแต่น้ำมันสำเร็จรูปแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมาร์จิน ไม่ คุ้มค่าเช่าที่ดิน ดังนั้น จะเห็นสถานีบริการน้ำมันที่มีร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟและร้านอาหาร เข้ามาเสริมซึ่งมีมาร์จินที่สูงกว่าการขายน้ำมัน แต่ในแง่ตัวเลขรายได้ไม่สูงเท่าการขายน้ำมันก็ตาม

เมื่อ ปตท.มีการแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมาเป็นบริษัท PTTOR ก็จะยังยึดนโยบายดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป้าหมายการเติบโตของ PTTOR ไม่ใช่มาจากการเพิ่มมาร์จิน (กำไร)ในการขายน้ำมัน แต่จะมาจากการขยายกิจการสาขามากขึ้น และเพิ่มจำนวน ร้านค้าให้มีความหลากหลายภายในสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งขยายสาขาสถานีบริการเพิ่มขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นความตั้งใจสำหรับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ดังนั้นผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และ PTTOR มีความคล่องตัวมากขึ้นในการนำสินค้ามา จำหน่าย ผู้บริโภคมีทางเหลือมากขึ้นทั้งสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นสิ่งปตท.คาดหวังจะได้เห็น

ประเทศชาติได้ประโยชน์อะไรบ้าง
เมื่อ ปตท. มีการแยกธุรกิจออกมาเป็นบริษัทเอกชนเพิ่มความคล่องตัวในการแข่งขัน ทำให้บริษัทคู่แข่งเองก็มีการปรับตัวมากขึ้นเพื่อเพิ่มการบริการและสินค้า ดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ผู้บริโภคได้ประโยชน์ สำหรับประเทศชาติแล้ว เมื่อกิจการเอกชนเติบโตดี รัฐบาลก็มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเงินปันผลจากปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย อีกทั้งยังเป็นการสร้างแบรนด์ไทยไปรุกตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากการขยายกิจการสถานีบริการน้ำมันปตท.ในอาเซียนไม่ได้ไปแค่ปตท.และร้านกาแฟอเมซอนเท่านั้น แต่ยังนำร้านค้าต่างๆของคู่ค้าไปขยายสาในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านเย็นตาโฟ ร้านซาลาเปา ร้านปึงหงี่เชียง และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นต้น

ปตท.ได้มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจน้ำมันเป็นแบบ PTT Life Station ซึ่งเป็นสถานีบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่มีร้านค้าและอื่นๆอำนวยความสะดวก นับว่าเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในไทยและจะนำโมเดลนี้ไปขยายยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา กำลังขยายไปเมียนมา วันนี้ ปตท. มีสาขาอยู่แล้ว 200 แห่ง คาดว่าใน 4-5 ปีจะเพิ่มเป็น 500 แห่ง โดยจะมีแบรนด์ผู้ค้าของปตทไปขยายด้วย นับเป็นโมเดลที่ได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ทิศทางปตท.ในอนาคต หลังจากแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก
หลังจากแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกไปแล้ว ยังมีอีก 2 ธุรกิจที่ปตท.ดำเนินการอยู่ คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ดำเนินการบริหารท่อก๊าซฯ จัดหาและขายก๊าซฯ โรงแยกก๊าซฯ และธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งซื้อน้ำมันดิบส่งขายโรงกลั่นต่างๆแ ละการซื้อขายน้ำมันต่างประเทศ โดยยอมรับว่าทั้ง 2 ธุรกิจนี้ยังไม่มีบริษัทคนไทยทำอย่างจริงจัง แต่มีความสำคัญด้านความมั่นคง ดังนั้น ปตท.ยังคงดำเนินการต่อไป โดยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าอนาคตปตท.จะเป็นแค่บริษัทโฮลดิ้งอย่างเดียวหรือไม่ หรือยังบริหาร 2ธุรกิจนี้อยู่ คงต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าอยากให้ธุรกิจก๊าซฯและเทรดดิ้งนี้ยังอยู่ภายใต้ปตท.หรือไม่ หรืออยากให้แยกธุรกิจออกไปเป็นบริษัทเอกชน

ในความคิดเห็นส่วนตัว หากธุรกิจที่เอกชนไทยยังทำไม่ได้ แต่จะให้แยกออกไปเป็นบริษัทเอกชน ก็จะอาจจะสร้างความไม่สบายใจว่าใครจะดูแลด้านความมั่นคงอีก ดังนั้นวันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะแยกธุรกิจอื่นที่เลือกออกไป อีกทั้งผมมีเวลาเหลืออีกไม่ถึง 2ปีในฐานะซีอีโอ คิดว่าช่วงเวลาคงไปไม่ถึงตรงนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของผู้นำคนต่อไป เช่นเดียวกับประเด็นการควบรวมกิจการบริษัทแกนนำ(Flagship)ทั้ง 3 บริษัท คือไทยออยล์ พีทีที โกลบอล เคมิคอลและไออาร์พีซี ก็คงต้องให้เป็นหน้าที่ของซีอีโอ ปตท. คนต่อไป
........


กำลังโหลดความคิดเห็น