ปตท.ลั่นการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยแยกธุรกิจน้ำมันมาบริษัท PTTOR ก่อนนำเข้าตลาดหุ้นจะไม่กระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมัน ยันยึดรูปแบบโมเดลการทำธุรกิจเหมือนเดิม เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1ไว้ ส่วนการขายน้ำมันให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเพื่อความมั่นคงนั้นยังเป็นหน้าที่ของ ปตท.เหมือนเดิม ยืนยันไม่โอนทรัพย์สินให้บริษัทใหม่ในส่วนที่มาจากนโยบายรัฐและใช้อำนาจมหาชน อาทิ คลังส่วนขยายแอลพีจีที่เขาบ่อยา
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯวันนี้ (18 พ.ย.) เห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ( PTTOR) โดย PTTOR เป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ล่าสุดของกลุ่มปตท.ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก โดยบอร์ดฯ อนุมัติในหลักการให้ PTTOR เสนอขายหุ้นสามัญเบื้องต้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ปตท.จะถือหุ้นใน PTTOR 45-50% เพื่อไม่ให้บริษัทใหม่นี้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ
การตัดสินใจแยกธุรกิจน้ำมันออกมาเป็นบริษัทใหม่ครั้งนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนโปร่งใส เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจน้ำมันมีการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อแยกเป็นบริษัทเอกชนทำให้มีความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เองก็ระบุว่า รัฐวิสาหกิจไม่ควรเข้าไปดำเนินกิจการแข่งขันกับประชาชน
พร้อมกับยืนยันว่าการแยกกิจการน้ำมันเป็นบริษัทใหม่นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมัน เพราะบริษัทฯ ยังยึดโมเดลธุรกิจเหมือนเดิมที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งดีลเลอร์ พันธมิตรร้านค้ารายย่อยทั้งเอสเอ็มอี และโอทอป เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 เอาไว้ โดยปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปตท.มีส่วนแบ่ง 40% บริษัทน้ำมันเอกชนไทย 32% ที่เหลือเป็นสัดส่วนของบริษัทน้ำมันต่างชาติ
ทั้งนี้ ปตท.มีปั๊มน้ำมันกว่า 1.4 พันสาขาทั่วประเทศ เป็นของดีลเลอร์ 1.2 พันสาขา และร้านกาแฟอเมซอนที่มีอยู่ 1.5 พันสาขา ก็เป็นของแฟรนไชส์ถึง 1.4พันสาขา
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจำหน่ายน้ำมันให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเพื่อความมั่นคงนั้น ทาง ปตท.ยังเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่ว่าจะเป็นการขายน้ำมันให้ ขสมก. กองทัพ บขส. และการรถไฟ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีการจำหน่ายน้ำมันให้กับหน่วยงานรัฐคิดเป็น 2-3% ของยอดขายน้ำมันรวม
ส่วนสินทรัพย์ของธุรกิจน้ำมันที่ได้มาจากการรอนสิทธิ หรือการใช้อำนาจมหาชนและมาจากนโยบายรัฐนั้น จะไม่มีการโอนไปให้กับ PTTOR ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกับกรณีท่อก๊าซฯ อาทิ ส่วนขยายคลังก๊าซแอลพีจีเขาบ่อยา (คลังใหม่) เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคลังน้ำมัน หรือคลังก๊าซแอลพีจีภูมิภาคที่ ปตท.ลงทุนเองก็จะโอนทรัพย์สินไปยังบริษัทใหม่ดังกล่าว
ส่วนพนักงาน ปตท.ที่ทำงานในธุรกิจน้ำมันและนอนออยล์ ที่มีอยู่ 1,500 คน จากพนักงาน ปตท.ทั้งหมด 4,000 คน ก็เปิดทางเลือกโดยไม่มีการบังคับว่าจะต้องออกไปอยู่บริษัทใหม่ แต่หากพนักงานเลือกไปอยู่บริษัทใหม่จะมีแพกเกจและผลตอบแทนอย่างไร แต่หากเลือกอยู่ ปตท.ก็สามารถทำได้โดยจะโอนไปในส่วนอื่นๆ แทน
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันเพื่อแยกเป็นบริษัทเอกชนก่อนนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ถือเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องส่งเรื่องให้กับกระทรวงพลังงานเห็นชอบผ่านไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท.ด้วย หากได้รับการอนุมัติก็จะต้องใช้เวลาดำเนินการโอนทรัพย์สิน และยื่นเรื่องแบบเสนอขายหุ้นไอพีโอต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยบริษัทใหม่ต้องมีผลการดำเนินงานอย่างน้อย 1 ไตรมาส แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบก็ต้องยุติไป
ปัจจุบัน ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของ ปตท.มีสินทรัพย์ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2559 อยู่ท 8.64 หมื่นล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) 1.9 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ EBITDA เฉพาะงบเดี่ยว ปตท.อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท
“ปตท.เชื่อมั่นว่าการปรับยุทธศาสตร์ดำเนินธุรกิจน้ำมันจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเข้มแข็งและการเติบโตให้กลุ่ม ปตท.อย่างยั่งยืน”