กรุ๊ปลีส รุกสู่บริษัทดิจิตอลไฟแนนซ์ระดับโลก หลังขยายธุรกิจสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซีย ผนวกการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในศรีลังกา และเมียนมา ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คาดหวังผลจากการขยายธุรกิจควบคู่กับการควบรวมกิจการ (M&A) สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้บริษัทฯ จากผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในไทย ก้าวสู่ฐานะเป็นบริษัท Digital Finance ใหญ่ระดับโลก หวังให้บริการเงินกู้ และบริการด้านการเงินอื่นๆ แก่กลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับรากหญ้า จำนวนทั้งสิ้น 2,500 ล้านคนในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ
นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ผู้นำธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ในอาเซียน กล่าวชี้แจงกว่า ไฮไลต์ส่วนหนึ่งของการพุ่งทะยานครั้งใหญ่นี้จะส่งผลทำให้มาร์เกตแคปของ GL ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่งขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ไปอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนโยบายหลักในการเพิ่มจำนวนลูกค้าอย่างรวดเร็วจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ในระดับรากหญ้าของประเทศต่างๆ ที่ GL ได้รุกขยายเข้าไปให้บริการในขณะนี้ และจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในอนาคต “แนวนโยบายในการดำเนินธุรกิจของเราแตกต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ขณะที่สถาบันการเงินอื่นๆ ส่วนใหญ่สนใจให้บริการลูกค้าในเมืองใหญ่ หรือพื้นที่เขตเมือง เป้าหมายหลักของเราจะมุ่งเน้นให้บริการกับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร หรือระบบสินเชื่ออย่างเป็นทางการ โดยเรามุ่งเน้นให้บริการแก่คนส่วนใหญ่เหล่านี้ เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำเนินธุรกิจ หรือยกระดับคุณภาพชีวิต” นายทัตซึยะ กล่าว
การรุกขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดดจากนี้ไปจะถูกขับเคลื่อนโดยเครือข่ายเอเยนต์ และดีลเลอร์ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคนี้ ซึ่งหลักๆ ประกอบด้วยเครือข่ายกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นร้านค้าของชำประมาณ 22,000 แห่งในประเทศเมียนมา เครือข่ายเอเยนต์อีกประมาณ 22,000 รายในประเทศศรีลังกา ตัวแทนของ TRUE Money ประมาณ 5,000 ราย และเอเยนต์ของ GL เองอีกประมาณ 1,000 รายในกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจำหน่ายที่ประจำตาม PoS (Points of Sales) อีก 600 รายในประเทศไทย และตัวแทนจำหน่ายใน สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ประเทศละประมาณ 300 ราย
นายทัตซึยะ ชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์หลักของ GL คือ การใช้ดีลเลอร์เป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจ เนื่องจากดีลเลอร์สัมผัสโดยตรงกับลูกค้า โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิตอลไฟแนนซ์ของเรา ซึ่งทำให้เราสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น โดยเครือข่ายเอเยนต์ทั้งหมดกว่า 50,000 รายในขณะนี้ นับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเอเยนต์ และดีลเลอร์ ที่มีเพียง 1,000 รายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา และสิ่งที่มีนัยสำคัญยิ่งกว่านี้ คือ ศักยภาพในการรุกขยายจำนวนลูกค้าให้เพิ่มพูนแบบทวีคูณถึง 100 เท่า จากจำนวนประมาณ 200,000 รายเมื่อสิ้นปีที่แล้ว โดยสามารถเพิ่มขยายไปถึง 20 ล้านรายในปัจจุบัน
“เราเป็นบริษัทดิจิตอลไฟแนนซ์เพียงแห่งเดียว ซึ่งสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับเป็นบริษัทไอที แต่ในขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างผลกำไรอย่างมากจากธุรกิจเหมือนบริษัทไฟแนนซ์” นายทัตซึยะ กล่าว
การรุกทะยานครั้งใหญ่ช่วง 3 ปีข้างหน้าจากนี้ไป จะสอดรับกับการขยายธุรกิจที่ก้าวกระโดดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏชัดจากผลประกอบการที่โดดเด่นของ GL ที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับการยอมรับว่า เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในหมวดบริษัทเงินทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำไรสุทธิไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จำนวน 260.41 ล้านบาท นับเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 โดยทำให้กำไรสุทธิรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ พุ่งสูงขึ้นถึง 738 ล้านบาท โดยผู้บริหารของบริษัทฯ แสดงความมั่นใจว่า กำไรสุทธิของปี 2559 ทั้งปีจะบรรลุเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวจากกำไรสุทธิประมาณ 600 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว
นอกเหนือจากการเติบโตของธุรกิจเดิมของ GL (organic growth) ผลประกอบการในไตรมาส 4 นี้จะได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากการควบรวมกิจการในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มบันทึกส่วนแบ่งกำไรจากการเข้าถือหุ้น 29.99% ในบริษัท Commercial Credit & Finance Plc (CCF) ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนนซ์ที่มีกำไรดี และจดทะเบียนในตลาดหุ้นประเทศศรีลังกา โดยธุรกิจเดิม ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่กับอานิสงส์จากการควบรวมกิจการเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้บริหาร GL คาดการณ์ว่า ผลกำไรในปี 2560 มีโอกาสทะยานขึ้นต่ออีกเท่าตัวเป็นไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งนายทัตซึยะ ชี้แจงว่า การเข้าถือหุ้น 29.99% ใน CCF จะเป็นแหล่งใหม่ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเป็นที่คาดการณ์ว่า CCF จะสามารถทำกำไรประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า หรือเพิ่มจากคาดการณ์กำไรประมาณ 22 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ โดย GL จะสามารถบันทึกส่วนแบ่งกำไรเต็มทั้งปีประมาณ 1 ใน 3 จากผลกำไรของ CCF ในปี 2560
สำหรับการรุกขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศเมียนมา คาดว่าจะสามารถสร้างผลกำไรให้กับกลุ่ม GL อย่างเป็นกอบเป็นกำตั้งแต่ปีหน้าเช่นกัน เนื่องจากตลาดเมียนมา กำลังบูมสุดขีด และมีความต้องการสินเชื่อประเภทต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ GL ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา ชื่อ บริษัท BGMM และนอกจากนั้น ยังได้ทำข้อตกลงพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับนักธุรกิจชั้นนำชาวเมียนมา คือ นาย Aung Moe Kyaw และหุ้นส่วนรายอื่น (AMK consortium) เพื่อรุกขยายการให้บริการสินเชื่อด้านอื่นๆ นอกเหนือจากไมโครไฟแนนซ์
สำหรับนาย Aung Moe Kyaw นั้น เป็นเจ้าของบริษัท Century Finance ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางเมียนมา และเป็นประธานบริษัท Myanmar Distillery ซึ่งเป็นบริษัทสุรา และเครื่องดื่มชั้นนำของเมียนมา โดยความร่วมมือกับ AMK consortium ครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรุกขยายธุรกิจสินเชื่อประเภทต่างๆ ครอบคลุมทั่วเมียนมา โดยอาศัยเครือข่ายการจัดจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มผ่านร้านค้าของชำประมาณ 22,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง GL ตั้งเป้าว่าเจ้าของร้านค้าของชำเหล่านี้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นดีลเลอร์ของ GL สามารถเป็นลูกค้าของ GL โดยตรง และยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ GL ในการขายบริการสินเชื่อรูปแบบต่างๆ ด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัท GL Finance Indonesia (GLFI) ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้โชว์ประสิทธิภาพ และศักยภาพการขยายธุรกิจในอินโดนีเซียอย่างชัดเจน โดยสามารถทำกำไรได้ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา นายทัตซึยะ กล่าวชี้แจงว่า นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ GLFI สามารถทำกำไรได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแตกต่างจากบริษัทไฟแนนซ์โดยทั่วไปที่ต้องใช้เวลาหลายปี ก่อนที่จะเริ่มทำกำไรได้ เนื่องจากตลาดอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มหึมา โดยมีประชากรกว่า 250 ล้านคน ผู้บริหาร GL ตั้งความคาดหวังว่า กำไรจากอินโดนีเซียจะสามารถแซงหน้ากำไรจากประเทศไทย และกัมพูชา รวมกันในปี 2561
สำหรับสาเหตุหลักที่ GLFI สามารถทำกำไรได้ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิตอลไฟแนนซ์ที่กลุ่ม GL พัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นในแง่ประสิทธิภาพ และความฉับไวในการให้บริการขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่การประเมินคำขอเงินกู้ของลูกค้าไปจนถึงการจ่ายค่างวด หรือการโอนเงินของลูกค้า
ทั้งนี้ ยอดกำไร 260.41 ล้านบาทในไตรมาส 3 ประกอบด้วย ผลประกอบการจากประเทศไทย 100 ล้านบาท จากกัมพูชา 130 ล้านบาท ขณะที่บริษัทย่อยในประเทศไทย คือ ธนบรรณ และบริษัทย่อยใน สปป.ลาว สามารถสร้างผลกำไรได้แห่งละ 15 ล้านบาท นายทัตซึยะ กล่าวชี้แจงว่า ธุรกิจในประเทศไทยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าการขยายตัวที่รวดเร็วในตลาดต่างประเทศทุกแห่ง ดังนั้น ส่วนแบ่งกำไรของประเทศไทยจากกำไรทั้งหมดของบริษัทฯ จะลดลงจากประมาณ 40% ในปีนี้ เหลือ 20% ในปีหน้า และลดต่ำลงอีกหลังจากนั้น
โดยล่าสุด คณะกรรมการของ GL ได้มีมติให้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่ารวมทั้งสิ้น 70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็น 50 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในประเทศอินโดนีเซีย หรือ JTrust Asia (JTA) และอีก 20 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับพันธมิตรอีกรายหนึ่งในศรีลังกา คือ บริษัท Creation Investments Sri Lanka (Creation SL) ทั้งนี้ เพื่อเตรียมเงินทุนก้อนใหม่สำหรับสนับสนุนการรุกขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหุ้นกู้แปลงรุ่นใหม่นี้มีอายุ 3 ปี และได้กำหนดราคาแปลงสภาพที่ 70 บาทต่อ 1 หุ้น โดยก่อนหน้านั้น GL ได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่าทั้งสิ้น 130 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ JTA ซึ่งหุ้นกู้ชุดดังกล่าวมีราคาแปลงสภาพที่ 40 บาทต่อหุ้น